ไอโอดีนเพื่อลูก (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ไอโอดีนเพื่อลูก-2

      

      ไอโอดีน (Iodine) เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการของสมองทารกในครรภ์และเด็กเล็ก ทารกไม่สามารถสร้างสารไอโอดีนขึ้นเองได้ จึงต้องได้รับสารไอโอดีนจากแม่ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องได้รับสารนี้เพิ่มขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารนี้อย่างพอเพียง

      โดย WHO และ UNICEF ได้แนะนำให้ทั่วโลกใช้เกลือเสริมไอโอดีน (Salt iodization) ในหญิงมีครรภ์และหญิงที่อยู่ระหว่างการให้นมบุตร

      ไอโอดีนเป็นส่วนประกอบสำคัญของไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid hormones) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ดูแลเกี่ยวกับการเผาผลาญอาหาร (Metabolic) การสนับสนุนการเจริญเติบโต และพัฒนาการของสมองในเด็ก

      ต่อมไทรอยด์จะทำงานมากขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะไทรอยด์ฮอร์โมนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ทั้งสมองและระบบประสาท (Nervous system) ซึ่งจะเริ่มมีการพัฒนาในเดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์

      ทั้งนี้ การขาดสารไอโอดีนแม้เล็กน้อยจนถึงระดับปานกลางก็สามารถกระทบต่อการเรียนรู้ การเจริญเติบโต การได้ยิน ของทารกในครรภ์และเด็กเล็ก ซึ่งจะทำให้เด็กโตช้าและมีพัฒนาการทางสติปัญญาช้า (Retardation) ด้วย

      นอกจากนี้ การขาดสารไอโอดีนยังทำให้เกิดโรคคอพอก (Goitre) เพราะต่อมไทรอยด์จะโตขึ้น เนื่องจากการพยายามสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน และในที่สุดจะทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (Hypothyroidism) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ไม่สามารถผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนได้มากเพียงพอ โดยทำให้เกิดอาการ ผิวแห้ง ผมร่วง อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า (Slowed reflexes) เป็นต้น

      ทั้งนี้ เราสามารถพบสารไอโอดีนได้ใน ผลิตภัณฑ์นม (Dairy products) อาหารทะเล สาหร่ายทะเล (Kelp) ไข่ ขนมปัง ผัก และเกลือเสริมไอโอดีน

      โดยปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (Recommended daily intake = RDI) ของไอโอดีนสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตรก็คือ ประมาณ 150 ไมโครกรัมต่อวัน ส่วนหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงอยู่ระหว่างการให้นมบุตรที่ต้องการสารไอโอดีนที่มากกว่าควรได้รับสารไอโอดีนที่ประมาณ 250 ไมโครกรัมต่อวัน ดังนั้นแพทย์จึงมักให้อาหารเสริมไอโอดีนแก่หญิงมีครรภ์ด้วย (เกลือเสริมไอโอดีนปริมาณ 1/4 ช้อนชา จะให้สารไอโอดีนได้ประมาณ 95 ไมโครกรัม)

      อย่างไรก็ดี การได้รับสารไอโอดีนที่มากเกินก็สามารถก่อให้เกินผลเสียต่อแม่และทารกด้วยเช่นกัน เพราะสามารถเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Overactive thyroid / Hyperthyroidism) เช่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย อ่อนแรง ผมร่วง เครียด เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. Iodine supplementation in pregnant and lactating women. http://www.who.int/elena/titles/iodine_pregnancy/en/ [2018, August 21].
  2. Iodine and pregnancy. http://www.foodstandards.gov.au/consumer/generalissues/pregnancy/Pages/iodineandpregnancy.aspx [2018, August 21].
  3. Iodine. https://www.health.govt.nz/our-work/preventative-health-wellness/nutrition/iodine [2018, August 21].
  4. Iodine. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/HealthyLiving/iodine [2018, August 21].
  5. Iodine supplementation for women before, during or after pregnancy. https://www.cochrane.org/CD011761/PREG_iodine-supplementation-women-during-or-after-pregnancy [2018, August 21].
  6. Iodine supplements in pregnancy. https://www.matermothers.org.au/mothers-news/mothers-blog/november-2017/iodine-supplements-in-pregnancy [2018, August 21].