ไอโลพรอส (Iloprost)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไอโลพรอส(Iloprost) เป็นยาในกลุ่มโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ (Prostacyclin analogues) ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทยาที่มีชื่อว่า Schering AG ทางคลินิกนำยานี้มาใช้รักษาอาการโรคดังต่อไปนี้ คือ ลดความดันโลหิตในปอดสูง (Pulmonary arterial hypertension), อาการหลอดเลือดนิ้วมือตีบ(Raynaud's phenomenon), และหลอดเลือดอักเสบชนิดที่เรียกว่า Buerger’s disease รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ เป็นประเภทยาสูดพ่นเข้าทางลมหายใจ(Inhalation)และยาฉีด กรณีใช้ยาไอโลพรอสชนิดสูดพ่นเพื่อบรรเทาภาวะความดันโลหิตในปอดสูงจะต้องสูดพ่นยา6 – 9 ครั้ง/วัน ด้วยยาไอโลพรอสเป็นยาที่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์ในร่างกายประมาณ 30 – 60 นาทีต่อการสูดพ่น 1 ครั้ง และต้องเว้นระยะห่าง 2 ชั่วโมงขึ้นไปเป็นอย่างต่ำ กรณีใช้ยาชนิดฉีด จะต้องทำหัตถการ/ให้ยานี้ในสถานพยาบาล โดยหยดเข้าหลอดเลือดดำเป็นเวลา 6 ชั่วโมง/วัน และมีระยะเวลาการใช้ยานี้อยู่หลายวันหรือเป็นสัปดาห์ขึ้นไป

หลังจากได้รับยานี้ ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการวิงเวียนหรือเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือเป็นลม หากพบอาการดังกล่าว ควรต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับการใช้ยาให้เหมาะสม

ข้อจำกัดการใช้ยาไอโลพรอสบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของปอด เช่น โรคปอดเรื้อรังชนิดChronic respiratory acidosis
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่มีเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ ผู้ป่วยด้วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงสูงจากการใช้ยาไอโลพรอส

นอกจากนั้น มีบางโรคที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากเมื่อจะใช้ยาไอโลพรอส เช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตต่ำ หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือด จึงถือเป็นข้อพึงปฏิบัติที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบเสมอว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง

อนึ่ง ก่อนการใช้ยาไอโลพรอสชนิดสูดพ่น ควรต้องเรียนรู้วิธีการใช้ยานี้อย่างถูกต้องเสียก่อนจากแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร ทั่วไป แพทย์ พยาบาลหรือเภสัชกรจะเป็นผู้แนะนำวิธีการใช้ยานี้ได้เป็นอย่างดี ร่วมกับการเรียนรู้จากขั้นตอนปฏิบัติในเอกสารกำกับยา

ยาไอโลพรอสชนิดสูดพ่น เป็นยาที่ต้องสูดพ่นจนเข้าถึงปอด ห้ามมิให้ยา เข้าตา หรือสัมผัสกับผิวหนัง รวมถึงห้ามกลืนยานี้

ยาไอโลพรอสถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น และหากผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาไอโลพรอสเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป

ไอโลพรอสมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไอโลพรอส

ยาไอโลพรอสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ลดความดันโลหิตสูงภายในปอด
  • บำบัดอาการป่วยด้วยภาวะ Raynaud's phenomenon และ Buerger’s disease

ไอโลพรอสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไอโลพรอสคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว รวมถึงยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือดที่จะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด จึงทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก และเพิ่มปริมาตรการไหลเวียนของเลือดที่ออกจากหัวใจ จากกลไกดังกล่าว จะส่งผลลดความดันโลหิตภายในปอดได้ตามสรรพคุณ

ไอโลพรอสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไอโลพรอสมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • เป็นสารละลายที่ใช้สูดพ่นทางลมหายใจ ขนาด 10 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีดที่หยดเข้าทางหลอดเลือดดำ ขนาด 20 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร

ไอโลพรอสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาไอโลพรอส ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ชนิดของโรค ความรุนแรงของอาการ ยาอื่นๆที่ผู้ป่วยใช้อยู่ ดังนั้น ขนาดยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป บทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดยานี้เฉพาะกรณีเป็นยาพ่นสำหรับลดความดันโลหิภายในปอดสูง ดังนี้ เช่น

  • ผู้ใหญ่: พ่นยาครั้งละ 2.5 ไมโครกรัม 6 – 9 ครั้ง/วัน
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอโลพรอส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตต่ำ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอโลพรอส อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?

หากลืมสูดพ่นยาไอโลพรอส สามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดการใช้ยาเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรใช้ยาไอโลพรอส ตรงตามเวลา การไม่ได้รับยานี้อาจทำให้อาการของโรคกำเริบมากขึ้น

ไอโลพรอสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไอโลพรอสสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว มือเท้าบวม หน้าแดง ชีพจรเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือด เช่น Gamma-glutamyltranspeptidase และ Alkaline phosphatase เพิ่มสูงขึ้น
  • ผลต่อไต: เช่น ไตวาย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เป็นตะคริว ปวดหลัง เจ็บลิ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ปอดบวม ไอ หลอดลมหดเกร็งตัว/ตีบ/หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน

*อนึ่ง ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด จะมีอาการ ความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ซึ่งหากเกิดอาการดังกล่าวหลังใช้ยานี้ ควรต้องรีบมาโรงพยาบาลโดยด่วน

มีข้อควรระวังการใช้ไอโลพรอสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอโลพรอส เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดต่างๆอย่างเช่น มีหัวใจล้มเหลวภายใน 6 เดือน ที่ผ่านมา มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ/โรคลิ้นหัวใจ เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้ที่อายุต่ำกว่า18 ปี
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น มีตะกอนปนเปื้อน สีเปลี่ยนไป เป็นต้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยโรคตับวาย ผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดด้วยจะทำให้มีฤทธิ์ เสริมกันจนทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดบาดแผลและนำมาด้วยอาการเลือดออก
  • หากพบอาการวิงเวียน ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด เพื่อแพทย์ตรวจดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไอโลพรอสด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไอโลพรอสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไอโลพรอสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ ไอโลพรอส ร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูงด้วยจะก่อให้เกิด ความดันโลหิตต่ำตามมา
  • การใช้ยาไอโลพรอส ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่นยา Edoxaban, Fondaparinux, Tinzaparin) และ ยาTipranavir, เพราะจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไอโลพรอส ร่วมกับยา Phenylephrine อาจทำให้ประสิทธิผลในการรักษาของยาไอโลพรอส ด้อยตามลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาไอโลพรอสอย่างไร?

ควรเก็บยาไอโลพรอสในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไอโลพรอสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอโลพรอสที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบรืษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ilomedin 20 (ไอโลเมดิน)Bayer HealthCare Pharma
Ventavis (เวนทาวิส)Bayer HealthCare Pharma

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/ventavis/?type=brief [2016,Dec10]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/ilomedin%2020/?type=brief [2016,Dec10]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/iloprost/?type=brief&mtype=generic [2016,Dec10]
  4. https://www.drugs.com/cdi/iloprost.html [2016,Dec10]