ไอแนมไรโนน (Inamrinone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไอแนมไรโนน(Inamrinone หรือ Inamrinone lactate) หรือจะเรียกว่ายาแอมไรโนน(Amrinone) เป็นยาในกลุ่มฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ (Phosphodiesterase inhibitor) ทางคลินิกใช้ยานี้ในการรักษาโรคหัวใจล้มเหลวที่อาการอยู่ในระดับรุนแรง โดยแพทย์จะใช้ยาไอแนมไรโนนเพียงระยะเวาสั้นๆ ด้วยรายงานทางคลินิกพบว่าการใช้ยาชนิดนี้เป็นเวลานานๆเป็นเหตุให้เกิดการทำงานของหัวใจผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นเร็ว การไหลเวียนเลือดล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และอาจ กลับมาเกิดหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันจนถึงขั้นเสียชีวิต

ตัวยาไอแนมไรโนนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด การให้ยานี้กับผู้ป่วยในช่วงเริ่มต้น ต้องฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดดำโดยตรง เพื่อให้ยานี้ออกฤทธิ์เร็ว เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะหัวใจวาย/หัวใจล้มเหลวได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงเปลี่ยนมาให้ยานี้แบบหยดยาเข้าหลอดเลือดดำเพื่อคงระดับยานี้ในเลือดในการรักษา และไม่ควรใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกิน 48 ชั่วโมง

ข้อห้ามในการเตรียมยาไอแนมไรโนนก่อนฉีดให้ผู้ป่วยที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องระวังเป็นพิเศษคือ ห้ามผสมยานี้กับน้ำเกลือที่มีน้ำตาลกลูโคส(Glucose) หรือมียา Furosemide เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้เกิดการตกตะกอนของยาไอแนมไรโนน จนสูญเสียคุณสมบัติของการรักษาไป

ขณะที่ยาไอแนมไรโนนในกระแสเลือดเริ่มออกฤทธิ์ ตัวยานี้บางส่วนจะถูกตับทำลายและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมี ยาไอแนมไรโนนจะอยู่ในร่างกายได้นาน 5–8 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและตัวยาบางส่วนจะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระ

ยาไอแนมไรโนนจะออกฤทธิ์ทำให้หัวใจสูบฉีดปริมาณเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายได้มากขึ้น และยังช่วยลดความดันภายในหัวใจห้องล่างซ้ายเป็นผลให้การทำงานของหัวใจดียิ่งขึ้น การออกฤทธิ์ของตัวยานี้ไม่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจรวมถึงความดันโลหิตของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

สำหรับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยาไอแนมไรโนนที่โดดเด่น คือ ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โดยมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาที่ร่างกายได้รับการฉีดยาไอแนมไรโนน นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจได้รับอาการข้างเคียงจากยาไอแนมไรโนน อย่างเช่น มีภาวะคลื่นไส้ ท้องเสีย เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อตับ และเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยซึ่งมีโรคประจำตัวบางอย่างที่ไม่เหมาะต่อการให้ยาไอแนมไรโนน คือ ผู้ที่มีภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติค(ลิ้นหัวใจที่อยู่ระหว่างท่อหลอดเลือดแดงเอออร์ตากับหัวใจห้องล่างซ้าย)ตีบ หรือป่วยด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา (Hypertropic cardiomyopathy) รวมถึงผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้

ในต่างประเทศ เราจะพบเห็นการใช้ยาไอแนมไรโนนในสถานพยาบาลเท่านั้นและยานี้ถูกจัดจำหน่ายภายใต้ยาชื่อการค้าว่า “Inocor”

ไอแนมไรโนนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไอแนมไรโนน

ยาไอแนมไรโนนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาอาการหัวใจล้มเหลว

ไอแนมไรโนนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไอแนมไรโนนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในเนื้อเยื่อผนังหลอดเลือด ที่ชื่อ Phosphodiesterase เป็นผลให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว และทำให้ปริมาณสารประเภท Cyclic adenosine monophosphate (cAMP,สารที่เป็นตัวส่งสัญญาณการทำงานของเซลล์ต่างๆ)มีปริมาณมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของ cAMP นี่เองที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีแรงบีบตัวมากขึ้น จนทำให้มีปริมาณเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายเป็นปกติ

ไอแนมไรโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไอแนมไรโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่มีส่วนประกอบของตัวยา Inamrinone ขนาด 100 มิลลิกรัม/20 มิลลิลิตร

ไอแนมไรโนนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไอแนมไรโนน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 0.75 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยฉีดเข้าหลอดเลือดฯให้ผู้ป่วยอย่างช้าๆภายใน 2–3 นาที หากจำเป็นหลังจากผู้ป่วยได้รับยาครั้งแรกไปแล้ว 30 นาที แพทย์อาจให้ยาซ้ำอีกครั้ง สำหรับขนาดยาที่ให้ผู้ป่วยเพื่อคงระดับการรักษาให้หยดยาเข้าหลอดเลือดฯในอัตรา 0.005–0.010 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที โดยขนาดการใช้ยานี้สูงสุดต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็ก: ขนาดการใช้ยานี้ในเด็กจะขึ้นกับ อายุ และน้ำหนักตัวของเด็ก ซึ่งจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • การเตรียมยาไอแนมไรโนนเพื่อหยดเข้าหลอดเลือดฯ ให้เจือจางยากับสารละลายโซเดียมคลอไรด์(Sodium chloride solution)เข้มข้น 0.45 หรือ 0.90% โดยใช้สัดส่วนตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา
  • ห้ามผสมยานี้ลงในน้ำเกลือที่มีกลูโคส หรือเดร็กโทรส (Dextrose) หรือยาฟูโรซีไมด์ เป็นองค์ประกอบ ด้วยจะเกิดการรวมตัวของตัวยาต่างๆ และทำให้มีการตกตะกอนของยาต่างๆตามมา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา ไอแนมไรโนน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอแนมไรโนน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ไอแนมไรโนนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไอแนมไรโนนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่าย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวแห้ง เล็บมีสีเหลือง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว เจ็บหน้าอก

มีข้อควรระวังการใช้ไอแนมไรโนนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอแนมไรโนน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีเศษผงปนในตัวยา
  • ห้ามผสมตัวยาไอแนมไรโนนร่วมกับน้ำเกลือที่มีส่วนประกอบน้ำตาลกลูโคสหรือเดร็กโทส หรือตัวยา Furosemide
  • ไม่ควรใช้ยานี้นานต่อเนื่องมากกว่า 2 วัน
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไอแนมไรโนนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไอแนมไรโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไอแนมไรโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาไอแนมไรโนนร่วมกับยาTizanidine เพราะจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา
  • ห้ามใช้ยาไอแนมไรโนนร่วมกับยา Anagrelide ด้วยจะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตลดลง อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไอแนมไรโนนร่วมกับยา Diatrizoate(สารทึบแสง) อาจส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ และทำให้มีอาการอ่อนเพลีย กรณีต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไอแนมไรโนนร่วมกับยา Furazolidone ด้วยจะทำให้มีอาการ ปวดศีรษะ วิงเวียน และเป็นลมตามมา

ควรเก็บรักษาไอแนมไรโนนอย่างไร?

ควรเก็บยาไอแนมไรโนน ภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กละสัตว์เลี้ยง

ไอแนมไรโนนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอแนมไรโนน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Inocor (ไอโนคอร์)Samarth

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Cardiotone

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/monograph/inamrinone-lactate.html[2017,Sept23]
  2. https://www.drugs.com/drug-interactions/inamrinone-index.html?filter=2[2017,Sept23]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Amrinone[2017,Sept23]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/amrinone/?type=brief&mtype=generic[2017,Sept23]
  5. https://web.archive.org/web/20081003235147/http://www.usp.org/hqi/practitionerPrograms/newsletters/qualityReview/qr732000-03-01.html[2017,Sept23]
  6. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01427[2017,Sept23]
  7. http://www.express-buy.co/_-p-1131.html[2017,Sept23]