ไอบูโพรเฟน (ตอนที่ 1)

ไอบูโพรเฟน

นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ โรคไข้เลือดออกในปี 2558 ถือว่ามีการระบาดอย่างหนัก โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์น่าจะเริ่มทุเลาลง แต่จากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกช้ากว่าปกติทำให้สถานการณ์ระบาดยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั่วประเทศพบผู้ป่วยใหม่ 5-6 พันรายในแต่ละสัปดาห์ ทั้งนี้ มีข้อควรระวังสำหรับผู้ปกครอง เมื่อพบเด็กป่วยในช่วงนี้ โดยเฉพาะมีไข้ นอกจากยาแอสไพรินที่ควรหลีกเลี่ยงแล้ว กลุ่มยาไอบูโพรเฟนซึ่งเป็นยาที่อยู่ในกลุ่มลดการอักเสบ (NSAIDs) ก็ควรหลีกเลี่ยงด้วย

เพราะแม้ยากลุ่มไอบูโพรเฟนจะช่วยลดไข้สูงได้ดี แต่ทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร เป็นแผลในกระเพาะได้ง่าย อาจทำให้เกิดเลือดออกได้ และยังทำให้เกล็ดเลือดไม่แข็งตัวซึ่งหากเป็นไข้เลือดออกจะทำให้อาการแย่ลงได้

นพ.นิพนธ์ ชี้แจงว่า ยากลุ่มไอบูโพรเฟนจะลดไข้ได้ดี หากเกิดจากไวรัสชนิดอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ แต่จะมีผลกระทบหากเป็นไวรัสเด็งกีหรือไข้เลือดออก เนื่องจากผลข้างเคียงของยา

ดังนั้น ในช่วงที่มีการระบาดสูง หากเด็กมีไข้สูงสามารถใช้ยากลุ่มพาราเซตามอลในการลดไข้ ร่วมกับการเช็ดตัวช่วยลดไข้ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงของยาไว้ก่อน ซึ่งการให้ยาพาราเซตตามอนก็ควรให้เฉพาะช่วงไข้สูง เพื่อไม่ให้กระทบต่อตับ

นพ.นิพนธ์ กล่าวแนะนำว่า ควรเฝ้าระวังอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการขาดน้ำ หากเด็กอาเจียน ไม่สามารถกิน หรือดื่มน้ำได้ กระหายน้ำตลอดเวลา ถือเป็นอาการที่ต้องระวังเพราะอาจทำให้เกิดอาการช็อกได้ ทำให้เด็กที่มีอาการขาดน้ำมักจะมีอาการของโรคที่รุนแรงมากกว่าด้วย โดยไข้เลือดออกถือเป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาและต้องรักษาตามอาการ

ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เป็นยาที่ใช้ในการลดอาการปวดจากหลายสาเหตุ เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อ หรือ โรคข้ออักเสบ (Arthritis)

นอกจากนี้ยังใช้ในการลดไข้และลดอาการปวดเมื่อยที่มีสาเหตุมาจากไข้หวัด และอาจใช้ในการรักษาโรคข้อสันหลังอักเสบชนิดยึดติด (Ankylosing spondylitis) โรคเกาต์ (Gouty arthritis) โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis)

ไอบูโพรเฟนเป็นยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs = NSAIDs) ออกฤทธ์ด้วยการหยุดยั้งการหลั่งสารบางชนิดของร่างกายที่ทำให้เกิดการอักเสบ ผลก็คือ ช่วยลดอาการบวม ปวด หรือเป็นไข้

การให้ยาไอบูโพรเฟนขึ้นอยู่กับอาการ ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปี ขึ้นไป มักให้กินทุก 4-6 ชั่วโมง เด็กเล็กและเด็กทารกควรให้ยาทุก 6-8 ชั่วโมง แต่ไม่ควรให้เกิน 4 ครั้งต่อวัน อาจให้ยาพร้อมอาหารหรือนมเพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร

แหล่งข้อมูล

  1. เตือนผู้ปกครองเลี่ยงใช้ยากลุ่ม “ไอบูโพรเฟน” ลดไข้ลูกช่วงไข้เลือดออกระบาด สกัดผลข้างเคียง. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000106317 [2015, October 3].
  2. Ibuprofen. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a682159.html [2015, October 3].
  3. ibuprofen. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-5166-9368/ibuprofen-oral/ibuprofen-oral/details [2015, October 3].