ไอดีบีโนน (Idebenone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไอดีบีโนน (Idebenone) เป็นสารประกอบประเภทควิโนน (Quinone) ที่สังเคราะห์ขึ้นโดยมีโครงสร้างเลียนแบบ Coenzyme Q10/CoQ10 ยานี้ถูกพัฒนาโดยบริษัทยา Takeda pharmaceutical company ประเทศญี่ปุ่น เพื่อบำบัดอาการของโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) และโรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานแบบเฟรดริก (Friedreich’s ataxia, โรคทางพันธุกรรมที่มีความผิดปกติในการทำงานของระบบประสาทที่ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ จัดเป็นโรคพบยาก)

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไอดีบีโนนเป็นยาชนิดรับประทานที่มีการดูดซึมเร็วจากระบบทางเดินอาหาร ยาไอดีบีโนนในกระแสเลือดจะกระจายตัวเข้าสู่อวัยวะสำคัญๆของร่างกาย เช่น ตับ ไต สมอง จากการศึกษาพบว่าตัวยาชนิดนี้จะเข้าไปถึงระดับหน่วยการทำงานย่อยภายในเซลล์ซึ่งทำหน้าที่สร้างพลังงานที่เรียกกันว่า ไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) ยาไอดีบีโนนจะช่วยทำให้ไมโตคอนเดรียผลิตสารพลังงาน (ATP, Adenosine triphosphate)ให้กับเซลล์ของร่างกาย นอกจากนี้ตัวยาไอดีบีโนนยังมีคุณสม บัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆอีกด้วย จากคุณสมบัติดังกล่าวนักวิทยาศาสตร์จึงชื่อมโยงประโยชน์ของยานี้ที่มีต่อระบบประสาทของร่างกาย ทั้งในด้านความทรงจำและการควบคุมประสาทสั่งการเคลื่อนไหวของร่างกาย

สำหรับผู้ป่วยโรคตับ และโรคไต ไม่เหมาะที่จะใช้ยาไอดีบีโนน ปัจจุบันทางคลินิกมีข้อมูลสนับสนุนการใช้ยาไอดีบีโนนไม่ควรเกิน 6 เดือน โดยขนาดรับประทานต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์

*กรณีได้รับยาไอดีบีโนนเกินขนาด แพทย์จะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น(การรักษาประคับประคองตามอาการ)ด้วยยังไม่มียาตัวใดที่ใช้ต้านพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)/ ของยาไอดีบีโนนได้อย่างจำเพาะเจาะจง(Antidotes)

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยการใช้ยาไอดีบีโนนให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

ไอดีบีโนนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไอดีบีโนน

ยาไอดีบีโนนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการโรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานแบบเฟรดริก (Friedreich’s ataxia)
  • ใช้เป็นยานูโทรปิก(Nootropic drug)เพื่อบำรุงสมอง โดยนำมาใช้กับผู้ป่วย อัลไซเมอร์ (Alzheimer)
  • ในวงการเครื่องสำอาง ใช้ยา/ผลิตภัณฑ์ไอดีบีโนน เป็นผลิตภัณฑ์ช่วยลดรอยเหี่ยวย่นของผิวหนัง

*หมายเหตุ: จากสรรพคุณที่กล่าวมาทั้งหมด ยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นสากลทีเดียวนัก เราจึงพบเห็นการใช้ยาไอดีบีโนนเพียงในบางประเทศเท่านั้น

ไอดีบีโนนกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไอดีบีโนนจะออกฤทธิ์ที่หน่วยการทำงานย่อย/เล็กๆในเซลล์ที่เรียกว่า ไมโทคอนเดรีย โดยตัวยาจะช่วยทำให้การขนส่งอิเล็กตรอน(Electron)ในไมโทคอนเดรียเป็นไปได้ง่ายขึ้น ด้วยกระบวนการที่ซับซ้อนนี้ทำให้ไมโทรคอนเดรียสามารถผลิตสารที่ให้พลังงานแก่เซลล์หรือที่เรียกว่า ATP ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของอวัยวะต่างๆของร่างกาย นอกจากนี้ไอดีบีโนนยังสามารถยับยั้งกระบวนการทำลายไขมันที่บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ (Inhibits lipoperoxide formation) ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ของร่างกาย จากกลไกดังกล่าว จึงส่งผลให้เป็นที่มาของสรรพคุณการรักษา

ไอดีบีโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไอดีบีโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Idebenone ขนาด 150 มิลลิกรัม/เม็ด

ไอดีบีโนนมีขนาดการรับประทานอย่างไร?

ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะกรณีขนาดยาไอดีบีโนนสำหรับบำบัดอาการโรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานแบบเฟดราย(Friedreich’s ataxia) เช่น

  • ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 45 กิโลกรัมลงมา: รับประทานยาครั้งละ 150 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
  • ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 45 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพ ขนาดยา และความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • ระยะเวลาของการใช้ยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • ไขมันที่อยู่ในอาหารจะช่วยทำให้ยาไอดีบีโนนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น จึงไม่ควรรับประทานยานี้ขณะท้องว่าง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอดีบีโนน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอดีบีโนนอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาไอดีบีโนน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องได้รับยาไอดีบีโนนต่อเนื่องตามแพทย์สั่งเท่านั้น จึงจะเกิดประสิทธิผลของการรักษา

ไอดีบีโนนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไอดีบีโนนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น คอหอยอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ มีอาการไอ

มีข้อควรระวังการใช้ไอดีบีโนนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอดีบีโนน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • กรณีของเครื่องสำอาง เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ไอดีบีโนนแล้วมีอาการแพ้ ต้องหยุดใช้ผลิตภัณฑ์นี้ทันที
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองหรือใช้ยานี้ยาวนานกว่าคำสั่งแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไอดีบีโนนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไอดีบีโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบันการใช้ยาไอดีบีโนนร่วมกับยาชนิดอื่นๆยังต้องอาศัยข้อมูลทางคลินิกอีกมากมายมาประกอบ จึงยังไม่มีข้อสรุปด้านข้อมูลยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์พบว่า การใช้ยาไอดีบีโนนร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ บางชนิดในร่างกายที่เรียกว่า ยา Enzyme inhibitor อย่างเช่นยับยั้งเอนไซม์ CYP2C19 , CYP1A2 , และ CYP3A4 จะส่งผลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึม(Metabolism)ของยาไอดีบีโนนในร่างกายได้มากขึ้น

ควรเก็บรักษาไอดีบีโนนอย่างไร?

ควรเก็บยาไอดีบีโนน ภายใต้อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไอดีบีโนนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอดีบีโนน มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Amizal (อะมิซอล)Atral
Cerestabon (เซเรสทาบอน)Lusomedicamenta
Geniceral (เจนิเซอรอล)Casasco
Lucebanol (ลูเซบานอล)Ivax
Pavertrin (พาเวอร์ทริน)Duncan
Catena (คาทีนา)Santhera Pharmaceuticals
Raxone (แร็กโซน)Santhera Pharmaceuticals

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugbank.ca/drugs/DB09081 [2018,April28]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Idebenone [2018,April28]
  3. https://www.scottishmedicines.org.uk/files/advice/idebenone_Raxone_FINAL_April_2017_for_website. [2018,April28]
  4. http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/EPAR_-_Product_Information/human/003834/WC500193836.pdf [2018,April28]
  5. http://www.mims.com/philippines/drug/info/idebenone?mtype=generic [2018,April28]
  6. https://nootriment.com/idebenone-nootropic-effects/ [2018,April28]
  7. https://www.khanacademy.org/test-prep/mcat/biomolecules/krebs-citric-acid-cycle-and-oxidative-phosphorylation/v/calculating-atp-produced-in-cellular-respiration [2018,April28]