ไอกรน ไอ 100 วัน (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ไอกรนไอ100วัน

ด้านการรักษา สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ควรพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพราะอาจเป็นอันตรายได้มากกว่าเด็กโตและผู้ใหญ่ และควรแยกผู้ป่วยออกจากคนอื่น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

โดยทั่วไปจะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียในผู้ป่วย ส่วนคนรอบข้างอาจจะทำการฉีดวัคซีนป้องกันด้วย การรักษาที่เร็วจะทำให้มีโอกาสหายจากโรคได้เร็วไปด้วยโดยเฉพาะการรักษาก่อนมีอาการไอครั้งแรก ส่วนการรักษาหลัง 3 สัปดาห์ อาจไม่ค่อยได้ผลเนื่องจากเชื้อได้กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว

ส่วนการดูแลตัวเองโดยทั่วไป ได้แก่

  • นอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่
  • ดื่มน้ำให้มาก ในเด็กควรระวังเรื่องภาวะขาดน้ำ ด้วยการสังเกตุจากการที่ริมฝีปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา หรือไม่ค่อยถ่ายปัสสาวะ
  • แบ่งการกินอาหารเป็นมื้อย่อยเล็กๆ บ่อยๆ เพื่อป้องกันการอาเจียนหลังการไอ
  • ให้อยู่ในบริเวณที่อากาศสะอาดถ่ายเทดี ไม่มีสิ่งกระตุ้นการไอ เช่น ควันบุหรี่ ควันจากการเผาไฟ สารเคมี
  • ป้องกันการแพร่เชื้อจากการไอ เช่น ใส่หน้ากาก ล้างมือให้สะอาด

สำหรับการป้องกันโรคไอกรนที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งแพทย์มักให้วัคซีนพร้อมกับโรคคอตีบ (Diphtheria) และโรคบาดทะยัก (Tetanus) หรือที่เรียกว่า วัคซีน DTaP (Diphtheria, tetanus and pertussis) ซึ่งประกอบด้วยการฉีด 5 ครั้ง สำหรับเด็กเล็กตามช่วงอายุดังต่อไปนี้

  • 2 เดือน
  • 4 เดือน
  • 6 เดือน
  • 15-18 เดือน
  • 4-6 ปี

ทั้งนี้ วัคซีนที่ฉีดมักจะทำให้เกิดผลข้างเคียงบ้าง เช่น เป็นไข้ หงุดหงิด (Crankiness) ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หรือปวดบริเวณที่ฉีด

และเนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคไอกรนจะลดลงเรื่อยๆ จนถึงอายุ 11 ปี แพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีน (TdaP) เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster shot)

ส่วนในผู้ใหญ่ที่มีการฉีดป้องกันโรคบาดทะยักและคอตีบทุก 10 ปี ก็มักจะรวมการฉีดไอกรน (TdaP) เข้าไปด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังลูกหลาน

สำหรับกรณีของหญิงมีครรภ์นั้น แนะนำให้ทำการฉีด TdaP ระหว่างสัปดาห์ที่ 27-36 ของการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของทารกในช่วง 1-2 เดือนแรก

แหล่งข้อมูล

1. Whooping cough. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/whooping-cough/basics/definition/con-20023295 [2016, September 10].

2. Pertussis (Whooping Cough). http://www.cdc.gov/pertussis/about/ [2016, September 10].