ไหล่ติด ติดไหล่ (ตอนที่ 2)

ไหล่ติด ติดไหล่-2

ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder / Adhesive capsulitis) เป็นลักษณะที่เนื้อเยื่อรอบข้อไหล่มีการอักเสบ ทำให้ข้อไหล่แข็งและมีอาการปวด ประชากรร้อยละ 2 มักมีปัญหาข้อไหล่ติด โดยจะมีอาการนาน 1.5-2 ปี หรือบางรายอาจจะนานถึง 5 ปี อาการจะค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อยๆ แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะปวด (Freezing stage) – เป็นระยะที่มีอาการปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหวของไหล่ โดยไหล่จะเริ่มติด เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 6 สัปดาห์ ถึง 9 เดือน โดยอาการปวดมักเป็นมากในช่วงกลางคืนและตอนนอนทับไหล่ข้างที่เจ็บ
  • ระยะข้อติด (Frozen stage) – เป็นระยะที่ปวดน้อยลง แต่ข้อจะติดมากขึ้น ใช้งานได้น้อยลง ระยะนี้ทั่วไปนาน 4-12 เดือน
  • ระยะฟื้นตัว (Thawing stage) – เป็นระยะที่การเคลื่อนไหวของไหล่เริ่มดีขึ้น กลับสู่สภาพปกติซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 2 ปี

แพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไมอาการข้อไหล่ติดจึงเกิดขึ้นในบางคน แต่ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง ได้แก่

  • อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • เพศหญิง
  • ไม่มีการเคลื่อนไหวข้อไหล่มาเป็นเวลานานหรือมีการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ที่น้อยลงอันเนื่องมาจาก
  • ได้รับบาดเจ็บที่เส้นเอ็นข้อไหล่ (Rotator cuff injury)
  • แขนหัก
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • อยู่ระหว่างการฟื้นตัวหลังการผ่าตัด
  • เป็นโรคบางชนิด (Systemic diseases) เช่น
  • โรคเบาหวาน (Diabetes) โดยร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอาการข้อไหล่ติด
  • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
  • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroidism)
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease)
  • วัณโรค (Tuberculosis)
  • โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease)

ส่วนใหญ่การรักษาข้อไหลติดจะเป็นไปเพื่อการลดอาการปวดและพยายามทำให้ไหล่สามารถเคลื่อนไหวได้มากที่สุด ด้วยการ

  • ให้ยาลดปวด เช่น ยา Aspirin และยา Ibuprofen
  • การออกกำลังกายหรือทำกายภาพบำบัดด้วยการยืด (Stretching exercises) การนวด (Massage) การรักษาด้วยความร้อนและเย็น (Thermotherapy)
  • วิธีอื่นๆ เช่น
    • การฉีดสเตียรอยด์ (Steroid injections) ที่ข้อไหล่เพื่อลดอาการปวดและทำให้เคลื่อนไหวได้มากขึ้น
    • การทำให้ข้อขยาย (Joint distension) ด้วยการฉีดน้ำ (Sterile water) เพื่อให้ข้อเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น
    • การดัดข้อไหล่ภายใต้การดมยาสลบ (Shoulder manipulation)
    • การผ่าตัด ซึ่งใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ซึ่งมักจะเป็นการผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic surgery)
    • การรักษาทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม (Acupuncture) การใช้กระแสไฟฟ้าในการบําบัดรักษาโรค (Transcutaneous electrical nerve stimulation = TENS)

แหล่งข้อมูล:

  1. Frozen shoulder. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/frozen-shoulder/basics/definition/con-20022510 [2017, May 14].
  2. Frozen Shoulder. http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00071 [2017, May 14].
  3. Frozen shoulder. http://www.nhs.uk/Conditions/Frozen-shoulder/Pages/Introduction.aspx [2017, May 14].