ไส้ติ่งอักเสบ (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ไส้ติ่งอักเสบ

ตำแหน่งที่เป็นไส้ติ่งอักเสบอาจแตกต่างกันไป ขึ้นกับอายุและตำแหน่งของไส้ติ่ง เช่น หญิงมีครรภ์จะปวดบริเวณช่องท้องด้านบน เพราะขณะตั้งครรภ์ไส้ติ่งจะเคลื่อนไปอยู่บริเวณนั้น

ไส้ติ่งอักเสบสามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่

  • ไส้ติ่งแตก (Ruptured appendix) ทำให้เชื้อโรคกระจายไปทั่วท้อง ทำให้เกิดภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ต้องเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อตัดไส้ติ่งออกและล้างช่องท้อง

    มีบางกรณีที่ไส้ติ่งแตก มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง แพทย์จะวางท่อบริเวณแผลผ่าตัดและเย็บปิดแผลเฉพาะชั้นกล้ามเนื้อเปิดชั้นไขมันและผิวหนังไว้ เพื่อล้างแผลทุกวัน ประมาณ 3–5 วัน จนกว่าแผลจะสะอาด และไม่มีหนองแล้วจึงจะเย็บปิดแผล

  • มีฝีหนอง (Abscess) อยู่ในช่องท้อง โดยส่วนใหญ่ศัลยแพทย์จะดูดหนองออกด้วยการใส่ท่อทางช่องท้องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อ เมื่อเชื้อถูกทำลายแล้ว จึงทำการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก หรือบางกรณีจะทำการดูดหนองออกแล้วผ่าตัดทันที

การวินิจฉัยโรคอาจทำได้ด้วยการ

  • ตรวจร่างกายเพื่อประเมินความเจ็บปวด ด้วยการกดเบาๆ บริเวณที่ปวด หรืออาจตรวจทางทวารหนัก
  • การตรวจเลือด เพื่อดูปริมาณเม็ดเลือดขาวที่แสดงถึงการติดเชื้อ
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อให้แน่ใจว่าอาการปวดไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  • การตรวจด้วยภาพ (Imaging tests) เช่น การเอ็กซเรย์ การทำอัลตราซาวด์ การทำซีทีสแกน บริเวณช่องท้อง เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด

ทั้งนี้ หลังการผ่าตัดและพักรักษาตัว ควรปฏิบัติตนดังนี้

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงมาก
  • คอยระวังช่องท้องระหว่างที่ไอ ด้วยการใช้หมอนกดลงบนช่องท้องเบาๆ ขณะกำลังไอ หัวเราะ หรือเพื่อลดอาการปวด
  • หากกินยาแก้ปวดแล้วไม่หายให้ไปพบแพทย์ เพราะอาการปวดจะทำให้เกิดแรงกดเพิ่มขึ้นบนร่างกายและทำให้หายช้าลง
  • ค่อยๆ ลุกขึ้นและเคลื่อนไหวทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเดินระยะสั้นๆ
  • นอนหลับเมื่อรู้สึกเพลีย เพื่อให้ร่างกายได้พักรักษาตัวเอง

เรายังไม่สามารถป้องกันการเกิดไส้ติ่งอักเสบได้ อย่างไรก็ดีเรามักพบว่าผู้ที่กินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผักและผลไม้สด มักไม่ค่อยเป็นไส้ติ่งอักเสบ

แหล่งข้อมูล

  1. Appendicitis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/appendicitis/basics/definition/con-20023582 [2016, May 18].
  2. Appendicitis. http://www.webmd.com/digestive-disorders/digestive-diseases-appendicitis [2016, May 18].