ไส้ติ่งอักเสบ (ตอนที่ 1)

ไส้ติ่งอักเสบ

ผบ.พล.ร.9 ค่ายสุรสีห์ ได้รับการประสานขอความช่วยเหลือจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้นำเฮลิคอปเตอร์บินไปรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี เพื่อรับตัวเด็กชายกะเหรี่ยงวัย 14 ปี ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งมีอาการปวดท้องข้างขวามาแล้ว 2 วัน และเมื่อช่วงเช้าวันถัดมา มีอาการปวดท้องรุนแรงมากขึ้น เริ่มมีไข้ ถ่ายเหลว และรับประทานอาหารไม่ได้

จากการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบอย่างรุนแรง จึงถือได้ว่าเป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายด้วยอากาศยานเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาเป็นเร่งด่วน เพราะเจ้าหน้าที่เกรงว่าอาจจะทำให้เด็กเสียชีวิต

เจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่-กู้ชีพฉุกเฉิน จึงรีบเดินทางไปในพื้นที่ดังกล่าว โดยใช้เวลาบินไปกลับประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนาที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่พร้อมกว่า ล่าสุดเด็กอยู่ในความดูแลของคณะแพทย์และอาการปลอดภัยแล้ว

ไส้ติ่ง (Appendix) คือ ส่วนของลำไส้ใหญ่ที่ยื่นออกมาเป็นติ่งอยู่ตรงบริเวณด้านขวาล่าง มีขนาดคล้ายตัวหนอนยาวประมาณ 3.5 นิ้ว เยื่อบุด้านในของไส้ติ่งจะผลิตเมือก (Mucus) ได้เล็กน้อย และไหลผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ซีคัม (Cecum) ผนังของไส้ติ่งจะประกอบด้วยเนื้อเยื่อน้ำเหลือง (Lymphatic tissue) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิต้านทาน นอกจากนี้ผนังของไส้ติ่งยังประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่ไม่ค่อยมีการเจริญเติบโตด้วย

ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) มีสาเหตุมาจากการที่ในไส้ติ่งมีการอุดตันเนื่องมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีการกระจายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ไส้ติ่งอักเสบ บวม ชุ่มไปด้วยหนอง หากไม่ทำการรักษาอาจทำให้ไส้ติ่งแตกได้

ไส้ติ่งอักเสบเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดท้องด้านขวาล่าง อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่จะเริ่มปวดที่บริเวณรอบๆ สะดือก่อนแล้วค่อยๆ เคลื่อนไปปวดท้องด้านขวาล่าง ไส้ติ่งอักเสบเกิดได้ในทุกคน แต่มักเกิดในผู้ที่อายุระหว่าง 10-30 ปี

อาการไส้ติ่งอักเสบมักมีอาการป่วยคล้ายโรคอื่นๆ เช่น นิ่วในถุงน้ำดี (Gallbladder problems) กระเพาะปัสสาวะ (Bladder problems) การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection) โรคโครห์น (Crohn's disease) กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) การติดเชื้อในลำไส้ (Intestinal infection) และปัญหาเรื่องรังไข่ของผู้หญิง (Ovary problems)

อาการของไส้ติ่งอักเสบ ได้แก่

  • เริ่มปวดตึ้อๆ (Dull pain) ที่บริเวณรอบๆ สะดือก่อนแล้วค่อยๆ เคลื่อนไปปวดท้องด้านขวาล่าง
  • อาการปวดจะแย่ลงหากมีการไอ การเดิน หรือเคลื่อนไหวแล้วกระเทือน
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • มีไข้ต่ำที่พร้อมจะสูงขึ้นเมื่ออาการแย่ลง
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • ท้องอืด (Abdominal bloating)
  • อาการกดเจ็บ (Abdominal tenderness)

แหล่งข้อมูล

  1. เกือบไม่รอด! ทบ. ส่ง ฮ. รับ ด.ช.กะเหรี่ยง ไส้ติ่งอักเสบส่งรักษาทัน. http://www.thairath.co.th/content/618371 [2016, May 17].
  2. Appendicitis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/appendicitis/basics/definition/con-20023582 [2016, May 17].
  3. Appendicitis. http://www.webmd.com/digestive-disorders/digestive-diseases-appendicitis [2016, May 17].
  4. Appendicitis. http://www.medicinenet.com/appendicitis/article.htm [2016, May 17].