ไวโนเรลบีน (Vinorelbine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไวโนเรลบีน (Vinorelbine หรือ Vinorelbin หรือ Vinorelbine tartrate ย่อว่า NVB)เป็นยาเคมีบำบัดสำหรับใช้รักษาโรคมะเร็งบางชนิด นักวิทยาศาสตร์ได้สังเคราะห์ยาไวโนเรลบีนจากสารอัลคาลอยด์(Alkaloid)ในพืชตระกูลแพงพวยฝรั่ง (Catharanthus roseus) เมื่อช่วงปี ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532)ที่ประเทศฝรั่งเศสได้ประกาศรับรองให้ไวโนเรลบีนเป็นยาสำหรับรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non small cell lung cancer) และอีก2ปีถัดมาทางคณะกรรมการอาหารและยาในต่างประเทศก็อนุมัติให้ใช้ไวโนเรลบีนรักษามะเร็งเต้านมในระยะแพร่ กระจาย

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของตัวยาไวโนเรลบีนมีทั้งแบบรับประทานและยาฉีด สูตรตำรับแบบรับประทานมีประสิทธิภาพในการรักษาคล้ายกับแบบยาฉีด แพทย์อาจใช้ยารับประทานเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากการฉีดยาผ่านหลอดเลือดดำ อีกทั้งง่ายและสะดวกต่อผู้ป่วย

ยาไวโนเรลบีนสามารถถูกดูดซึมผ่านระบบทางเดินอาหารเพียงประมาณ 40% ตัวยาในกระแสเลือดจะถูกทำลายโดยตับ และถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระเสียเป็นส่วนมาก ยาชนิดนี้สามารถสร้างผลข้างเคียงได้หลายประการกับผู้ป่วย เช่น ทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์ลดน้อยลง (Granulocytopenia)จนเสี่ยงต่อการติดเชื้อของร่างกายได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นก่อนใช้ยาไวโนเรลบีน แพทย์จำเป็นต้องขอตรวจเลือดCBC หากพบว่าปริมาณเม็ดเลือดขาวแกรนูโลไซต์มีระดับ 1,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตรขึ้นไป จึงสามารถใช้ยาชนิดนี้ได้

นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สามารถใช้ยาไวโนเรลบีนได้เลย เช่น

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้/ยาชนิดนี้
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรงภายใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
  • ผู้ที่มีระดับเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผู้ป่วยโรคตับในระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับการทำรังสีรักษา ที่จะเป็นผลให้การฉายรังสีผ่านไปถึงตับ
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ด้วยตัวยาสามารถก่อพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อ ทารกได้

แพทย์อาจใช้ยาไวโนเรลบีนในลักษณะแบบยาเดี่ยวเพื่อรักษามะเร็ง หรืออาจใช้ร่วมกับยาCisplatin โดยพิจารณาจากความเหมาะสมและที่เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย ซึ่งโดยทั่วไป หลังจากได้รับยานี้ไปแล้ว 7–10 วัน แพทย์จะเริ่มตรวจความสมบูรณ์ของเลือด(CBC)ซึ่งมักพบว่าเม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์และเม็ดเลือดแดงอาจลดต่ำลงชั่วคราว แต่เม็ดเลือดดังกล่าวจะค่อยๆเพิ่มปริมาณมากขึ้นหลังการใช้ยาไปแล้วประมาณ 14–21 วัน

ระหว่างได้รับยาไวโนเรลบีน ผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่พบเห็นได้บ่อย อาทิ คลื่นไส้อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือมีอาการท้องผูก ซึ่งแพทย์อาจสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยเพื่อบรรเทาผลข้างเคียงดังกล่าว และห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายาใดๆมารับประทานเองเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าวโดยเด็ดขาด

เราสามารถพบเห็นการใช้ยาไวโนเรลบีนในประเทศไทย และมีให้เลือกใช้ ทั้งชนิดฉีดและรับประทาน คณะกรรมการอาหารและยาได้กำหนดให้ยาไวโนเรลบีนเป็น ยาควบคุมพิเศษที่อันตราย และมีใช้แต่ในสถานพยาบาลที่รักษาโรคมะเร็งเท่านั้น

ไวโนเรลบีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไวโนเรลบีน

ยาไวโนเรลบีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non small cell lung cancer)
  • รักษามะเร็งเต้านม
  • บางสถานพยาบาลอาจใช้ยานี้เพื่อรักษา มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก โดยขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

ไวโนเรลบีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไวโนเรลบีนเป็นยากึ่งสังเคราะห์ที่เป็นอนุพันธ์ของยาVinblastine ตัวยาจะเข้ายับยั้งกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งในระยะที่เรียกว่าเมตะเฟส(Metaphase) ส่งผลให้เซลล์มะเร็งหยุดการขยายตัวและตายลงในที่สุด

ไวโนเรลบีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไวโนเรลบีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยา Vinorelbine tartrate ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และ 50 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาแคปซูลนิ่มชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Vinorelbine tartrate ขนาด 20 และ 30 มิลลิกรัม/แคปซูล

ไวโนเรลบีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไวโนเรลบีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา คือ

  • ผู้ใหญ่: ก่อนการรักษามะเร็งด้วยยาไวโนเรลบีน ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องรับการตรวจร่างกายเพื่อให้แพทย์ประเมินความเหมาะสม-ปลอดภัยว่า สมควรใช้ยาชนิดนี้รักษา ผู้ป่วยหรือไม่ การให้ยานี้กับผู้ป่วยต้องใช้พื้นที่ผิวของร่างกายของผู้ป่วยมาเป็นเกณฑ์ อ้างอิงเพื่อคำนวณขนาดยา ผู้ป่วยจะได้รับยาชนิดนี้สัปดาห์ละ 1 โดยแพทย์อาจใช้ยาเคมีบำบัดตัวอื่นร่วมด้วย เช่น Cisplatin ระยะเวลาของการให้ยานี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่แพทย์จะนำมาพิจารณา อาทิอาการของโรคมะเร็ง ผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ ระดับเม็ดเลือดชนิดต่างๆในร่างกายต่ำเกินไปหรือไม่ ผู้ป่วยควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการใช้ยาแผนปัจจุบันหรือยาสมุนไพรใดๆที่นอกเหนือจากคำสั่งจ่ายยาของแพทย์ และมารับการรักษา และการตรวจร่างกายตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดยานี้ในผู้ป่วยมะเร็งเด็ก

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไวโนเรลบีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไวโนเรลบีนอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ควรดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับยาไวโนเรลบีน?

ควรดูแลตนเองขณะได้รับยาไวโนเรลบีน ที่สำคัญ เช่น

  • ดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตร หรือตามแพทย์แนะนำ
  • ล้างมือบ่อยๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • อยู่ในที่ไม่มีผู้คนแออัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บเป็นแผลเลือดออก เพราะเลือดจะออกง่ายและหยุดยาก
  • เพื่อป้องกันเลือดออกบริเวณเหงือกและลดอาการปากเป็นแผลควรใช้แปรงสีฟันที่มีขนนิ่ม
  • กรณีมีอาการ คลื่นไส้ ท้องผูก ให้รับประทานยาบรรเทาอาการที่สั่งจ่ายโดย แพทย์ผู้ที่ทำการรักษาเท่านั้น ห้ามไปซื้อหายาใดๆมารับประทานเอง
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ
  • ในสตรีต้องป้องกันการตั้งครรภ์ขณะได้รับยาชนิดนี้ โดยใช้การป้องกันทางกายภาพ เช่นถุงยาอนามัยชาย
  • พักผ่อนอย่างพอเพียงและรับประทานอาหารตามที่ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกรแนะนำ

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาไวโนเรลบีน ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อ แพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องที่ทำการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อนัดหมายการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว

ไวโนเรลบีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไวโนเรลบีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์ต่ำ เกล็ดเลือดลดลง มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดเลือดดำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องผูกหรือท้องเสีย อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ประสาทส่วนปลายอักเสบ ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ปอดบวมน้ำ หรือปอดบวม
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผมร่วง เกิดผื่นคัน มีอาการพุพองที่ผิวหนัง เกิดลมพิษ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น แน่นหน้าอก มีภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ ใบหน้าแดง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกราม ปวดหลัง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง

มีข้อควรระวังการใช้ไวโนเรลบีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไวโนเรลบีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • เข้ารับการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด เช่น CBC ดูการทำงานของตับ ตามคำแนะนำของแพทย์
  • กรณีปวดบริเวณผิวหนังที่ได้รับการฉีดยา แพทย์อาจแนะนำให้ใช้การประคบอุ่นบริเวณที่ปวดเพื่อบรรเทาอาการ
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง ไม่ควรหยุดการรักษาไปเฉยๆโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไวโนเรลบีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อาการข้างเคียงลักษณะใดที่ต้องนำผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว?

กรณีพบอาการข้างเคียงดังต่อไปนี้หลังการใช้ยาไวโนเรลบีน ควรต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง เช่น

  • ท้องเสียตั้งแต่ 4-6 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง
  • คลื่นไส้ทุกครั้งที่รับประทานอาหารและยาที่แพทย์สั่งจ่ายมาเพื่อบรรเทาอาการใช้ไม่ได้ผล
  • อาเจียนวันละ 4–5 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  • มีเลือดออกตามร่างกายโดยไม่รู้สาเหตุ
  • อุจจาระมีสีคล้ำ/อุจจาระเป็นเลือด และ/หรือปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ท้องผูกอย่างรุนแรง
  • มีแผลรุนแรงเกิดขึ้นในช่องปาก

ไวโนเรลบีนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไวโนเรลบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาไวโนเรลบีนร่วมกับยาAdalimumab เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้อย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาไวโนเรลบีนร่วมกับยาClozapine เพราะจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ รุนแรงและมีการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆได้ง่ายมากตามมา
  • ห้ามใช้ยาไวโนเรลบีนร่วมกับVitamin E ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของ ยาไวโนเรลบีนลดต่ำลง
  • ห้ามใช้ยาไวโนเรลบีนร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคชนิดต่างๆ เช่น วัคซีนโรคฝีดาษ วัคซีนหัดเยอรมัน วัคซีนโรคหัด ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากวัคซีนที่ ได้รับเสียเอง ตลอดจนผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของวัคซีนดังกล่าวไม่เกิดประสิทธิผล
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไวโนเรลบีนร่วมกับยาบางกลุ่มที่จะทำให้ระดับยาไวโนเรลบีน ในเลือดสูงขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงอย่างมากมายจากยาไวโนเรลบีนตามมา ตัวอย่างยาเหล่านั้น เช่นยา Nelfinavir, Erythromycin, Posaconazole และ Itraconazole
  • ห้ามใช้ยาไวโนเรลบีนร่วมกับยาZidovudine ด้วยจะทำให้การทำงานของไขกระดูกผิดปกติและเกิดภาวะโลหิตจางตามมา
  • ห้ามใช้ยาไวโนเรลบีนร่วมกับยาSimvastatin ด้วยอาจก่อความเสียหายต่อเส้นประสาทของร่างกาย นอกจากนี้ยังอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาทั้ง 2 ชนิดมากยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษาไวโนเรลบีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาไวโนเรลบีน ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาฉีดและยารับประทานภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
  • เก็บยาทุกชนิดในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาฯในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาฯให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
  • ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพหรือยาที่หมดอายุแล้ว

ไวโนเรลบีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไวโนเรลบีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Navelbine (นาเวลบีน)Pierre Fabre Medicament

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Relbovin, Neoben, Vinbine, Vinelbine, Vinorelmil, Cevin

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Vinorelbine.aspx [2018,May19]
  2. https://www.fda.gov/ohrms/dockets/ac/04/briefing/4021B1_10_Vinorelbine%20label.pdf [2018,May19]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Vinorelbine [2018,May19]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/navelbine/?type=brief [2018,May19]
  5. https://www.drugs.com/sfx/vinorelbine-side-effects.html [2018,May19]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/vinorelbine-index.html?filter=3&generic_only= [2018,May19]