“ไวรัสเวสต์ไนล์” อาศัย “ยุงรำคาญ” (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและยารักษาโรคไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile Virus : WNV) การรักษาเป็นการประคับประคองตามอาการ แต่ทั้งนี้ขอให้ประชาชนมั่นใจมาตรการเฝ้าระวังของไทยที่ดำเนินการอยู่ และย้ำว่ายังไม่พบเชื้อนี้ในประเทศไทย

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่จำเป็นต้องคัดกรองคนที่เดินทางเข้ามาจากรัฐเทกซัส เนื่องจากในสหรัฐอเมริกามีหลายรัฐและมีการเดินทางตลอดเวลา อีกทั้งไวรัสดังกล่าวยังมีในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศไทยเองก็ได้มีการเฝ้าระวังดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี คนไทยที่จะเดินทางไปเทกซัส แนะนำให้เตรียมยาทากันยุงไว้

เลือดที่ได้จากการบริจาคอาจมีการตรวจกรองการติดเชื้อไว้รัสเวสต์ไนล์ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Procleix เพื่อป้องกันผู้ที่รับเลือดไม่ให้ติดเชื้อไวรัส

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์โดยเฉพาะ เป็นการรักษาไปตามอาการ หากเป็นกรณีไม่ร้ายแรง อาจกลับไปพักฟื้นฟูที่บ้านได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่รุนแรง แพทย์อาจให้ยาทางหลอดเลือดดำ (IV : intravenous) ใช้เครื่องช่วยหายใจ และป้องกันอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคปอดอักเสบ (Pneumonia)

การติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์อาจทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส (Encephalitis) ไขสันหลังอักเสบ (Myelitis) หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ดังนี้ หากมีไข้หรือปวดศีรษะมากกว่า 2 - 3 วันในช่วงที่ไวรัสนี้ระบาด ควรไปพบแพทย์ทันที ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการติดเชื้ออย่างอ่อน ให้ดื่มน้ำและพักผ่อนให้มากๆ

ขณะนี้มีเพียงวัคซีนที่ใช้รักษาในม้าเท่านั้น เพราะอัตราการตายของม้าจากการติดเชื้อนี้มีมากกว่าคน อย่างไรก็ดีนักวิจัยกำลังคิดค้นหาวัคซีนเพื่อใช้ในคนอยู่ แต่เราอาจป้องกันการติดเชื้อนี้ได้โดย

  • พยายามอยู่ในบ้านในช่วงที่ยุงออกหากิน เช่น ตอนใกล้รุ่ง เวลาโพล้เพล้ เป็นต้น
  • ใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวถ้าต้องอยู่นอกบ้านในที่ที่มียุง
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม สบู่ ผลิตภัณฑ์ดูแลผม โลชั่น ที่มีกลิ่นดอกไม้ เพราะจะดึงดูดให้ยุงมากัดเราได้
  • อย่าปล่อยให้มีแอ่งน้ำขังในบริเวณบ้าน เพราะอาจเป็นที่เพาะพันธุ์ยุง
  • ใช้ยาป้องกันยุงเมื่ออยู่นอกบ้าน ยากันยุงที่มีประสิทธิภาพจะมี DEET (= N,N-diethyl-meta-toluamide ซึ่งเป็นสารเคมีที่นักวิทยาศาสตร์คิดขึ้นเพื่อใช้ฆ่ายุง) อยู่ประมาณร้อยละ 24 ทั้งนี้ ยากันยุงที่มี DEET มากกว่าร้อยละ 50 ไม่ได้ช่วยเพิ่มการป้องกันยุงแต่อย่างไร

ในสัดส่วนของ DEET ร้อยละ 30 ระยะเวลาที่ป้องกันได้จะอยู่ที่ประมาณ 6 ชั่วโมง ในสัดส่วนของ DEET ร้อยละ 15 ระยะเวลาที่ป้องกันได้จะอยู่ที่ประมาณ 5 ชั่วโมง ในสัดส่วนของ DEET ร้อยละ 10 ระยะเวลาที่ป้องกันได้จะอยู่ที่ประมาณ 3 ชั่วโมง และในสัดส่วนของ DEET ร้อยละ 5 ระยะเวลาที่ป้องกันได้จะอยู่ที่ประมาณ 2 ชั่วโมง

ทั้งนี้ วิตามินบีและอุปกรณ์กันยุง (ที่เรียกว่า Bug zapper) ซึ่งใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasonic) หรือใช้รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet : UV) ไม่ได้ป้องกันยุงกันแต่อย่างไร

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.ยันยังไม่พบไวรัส “เวสต์ไนล์” ในไทย-แนะไปสหรัฐพกยาทากันยุง http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/401601.html [2012, August 26].
  2. What is West Nile virus? http://www.webmd.com/a-to-z-guides/west-nile-virus-topic-overview [2012, August 26].
  3. Exams and Tests. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/west-nile-virus-exams-and-tests [2012, August 26].
  4. Home Treatment. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/west-nile-virus-home-treatment [2012, August 26].