“ไวรัสเวสต์ไนล์” อาศัย “ยุงรำคาญ” (ตอนที่ 1)

นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึง กรณีข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสเวสต์ไนส์ ที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา จนทางการสหรัฐอเมริกาต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังมีผู้เสียชีวิตแล้ว 9 คน ว่า โรคจากไวรัสดังกล่าวเป็นโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ

ไวรัสเวสต์ไนส์ (West Nile virus : WNV) พบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2480 ในยูกันดา ทางตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ระหว่างที่มีการศึกษาวิจัยในเรื่องไวรัสไข้เหลือง (Yellow fever virus) และปรากฎครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2542 หลังจากนั้นประเทศไทยก็ได้เฝ้าระวังมาโดยตลอด

นพ. พรเทพ กล่าวว่า ไวรัสเวสต์ไนส์ เป็นไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสไข้สมองอักเสบ ไวรัสไข้เลือดออก ผู้ติดเชื้อจะมีอาการมีไข้ ปวดหัว ปวดร่างกาย ตามกล้ามเนื้อ อาจจะมีผื่น หรือไม่มีก็ได้ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่อาจจะมีอาการรุนแรง คือ คอแข็ง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สั่น ชัก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และ เสียชีวิต

ส่วนยุงที่เป็นพาหะคือ “ยุงรำคาญ” (Culex) ซึ่งพบว่ามีในประเทศไทยด้วย ดังนั้น เชื้อไวรัสดังกล่าวจึงอาจมาถึงไทยได้เช่นกัน เช่น อาจมากับสัตว์ที่ป่วย หรือคนที่ป่วยแล้ว เดินทางเข้ามาในประเทศไทย

เชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile Virus : WNV) อยู่ในกลุ่ม Flaviviridae พบได้ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนชื้น พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2480 ทางตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ประเทศยูกันดา เชื้อไวรัสนี้จะติดต่อในนกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีที่ติดต่อในคน ม้า สุนัข แมว ค้างคาว กระแต กระรอก กระต่าย และจระเข้

ส่วนใหญ่เชื้อนี้จะแพร่กระจายและติดต่อมาสู่คนโดยมียุงรำคาญ (Culex) เป็นพาหะนำโรค โดยยุงรำคาญไปกัดนกที่ติดเชื้อแล้วมากัดคนหรือสัตว์อื่น วงจรของไวรัสเริ่มจากยุงกัดสัตว์ที่ติดเชื้อ จากนั้นภายใน 2 - 3 วัน ยุงมากัดคนหรือสัตว์ต่อ ไวรัสจะมีระยะฟักตัว 3 - 15 วัน จากนั้นจะสามารถแพร่ระบาดในลักษณะเดียวกัน

ไวรัสเวสต์ไนล์สามารถแพร่กระจายผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะหรือการถ่ายเลือด มีหลักฐานบางอย่างที่สงสัยว่าเชื้อนี้อาจแพร่จากแม่ไปสู่ลูกในระหว่างการตั้งครรภ์ หรือระหว่างการให้นมได้ แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้เป็นที่ชัดเจน เชื้อไวรัสเวสต์ไนล์อาจก่อให้เกิดอาการในคนที่แตกต่างกันไป 3 ลักษณะ

ลักษณะแรกคือ เป็นการติดเชื้อที่ไม่ปรากฏอาการ (Asymptomatic infection) ซึ่งมีประมาณร้อยละ 80 ลักษณะที่สองคือ มีอาการอย่างอ่อนๆ จนคนไม่ทันสังเกตว่าตัวเองติดเชื้อไวรัส และลักษณะที่สามคือ แบบรุนแรงมีการติดเชื้อไปยังประสาท ทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส (Encephalitis) ไขสันหลังอักเสบ (Myelitis) หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ทั้งนี้ สัดส่วนของการติดเชื้อทั้ง 3 แบบ จะเท่ากับ 110:30:1

คนที่โดนยุงกัดอาจได้รับเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะสามารถฟื้นตัวจากเชื้อนี้ได้ แต่ก็มีปัญหาที่ยังคงอยู่ถาวรที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การชัก (Seizures) การสูญเสียความจำ และ การที่สมองถูกทำลาย โดยเฉพาะในเด็กและคนแก่ ยิ่งสูงอายุเท่าไรยิ่งมีโอกาสที่เกิดภาวะสมองอักเสบ หรือปัญหารุนแรงอื่นๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ได้ โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 70 ปี มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากเชื้อนี้ได้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี มีน้อยกรณีที่เชื้อไวรัสเวสต์ไนล์จะทำให้เสียชีวิต

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.ยันยังไม่พบไวรัส “เวสต์ไนล์” ในไทย-แนะไปสหรัฐพกยาทากันยุง http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/401601.html [2012, August 24].
  2. West Nile virus. http://en.wikipedia.org/wiki/West_Nile_virus [2012, August 24].
  3. What is West Nile virus? http://www.webmd.com/a-to-z-guides/west-nile-virus-topic-overview [2012, August 24].