ไวรัสลงกระเพาะ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

อาการเหล่านี้ดูเหมือนไม่ร้ายแรงอะไร แต่อาการท้องเสียและอาเจียนสามารถทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydrate) โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังทำให้ขาดสารอาหารได้ด้วยเช่นกัน

มีบางคน (เป็นสัดส่วนที่น้อย) ซึ่งติดเชื้อโนโวไวรัสแล้วไม่แสดงอาการอะไร ซึ่งเชื่อว่าอาจจะเป็นเพราะมีภูมิคุ้มกันไวรัสตามธรรมชาติก็เป็นได้

การรักษาการติดเชื้อโนโรไวรัสก็เหมือนการรักษาไวรัสชนิดอื่น กล่าวคือ จะไม่ตอบสนองกับยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ซึ่งใช้เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มียาต้านไวรัสใดที่สามารถรักษาโนโรไวรัส แต่ในคนที่มีสุขภาพดีอาการเจ็บป่วยมักหายไปใน 1-3 วัน และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีปัญหากับเชื้อไวรัสนี้นานนัก

ดังนั้น เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ควรดื่มน้ำให้มาก โดยเฉพาะน้ำเปล่าและน้ำผลไม้ ให้เด็กกินน้ำเกลือแร่ (Rehydration solution) เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ (Electrolytes) ที่สูญเสียไป หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวาน แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนซึ่งจะทำให้อาการท้องเสียแย่ลงและขาดน้ำมากขึ้นไปอีก

อาการของการขาดน้ำที่ปรากฏ ได้แก่ เวียนศีรษะขณะกำลังลุกขึ้นยืน ปากแห้ง และปัสสาวะน้อย หากมีอาการขาดน้ำรุนแรงให้ไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์มักจะฉีดน้ำเกลือให้

ส่วนเด็กที่มีภาวะขาดน้ำ อาจจะร้องไห้โดยมีน้ำตาเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีน้ำตาเลย และนอนไม่ปกติหรือจู้จี้จุกจิกวุ่นวาย

เชื้อโนโรไวรัสมักจะตายด้วยความร้อนที่พอเหมาะหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของคลอรีน (Chlorine-based disinfectants) แต่จะได้ผลน้อยกว่าในกรณีที่ใช้แอลกอฮอล์และผงซักฟอก ทั้งนี้เพราะเชื้อนี้ไม่มีเปลือกไขมันรอบตัวไวรัส (Lipid envelope)

การป้องกันการติดเชื้อทำได้โดย การมีสุขอนามัยที่ดี โดยเฉพาะเมื่อต้องสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ร่วมกับผู้อื่น เช่น

  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 15 วินาที หลังการเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และก่อนทำอาหารหรือกินอาหาร (อาจใช้เจลล้างมือที่เรียกว่า Alcohol-based hand sanitizer ได้ แต่แนะนำให้ล้างมือด้วยสบู่จะดีกว่า)
  • ระวังในการทิ้งสิ่งของที่ติดเชื้อ เช่น ผ้าอ้อมที่สกปรก
  • ล้างผัก ผลไม้สด ให้สะอาด ทำหอยนางรมหรือหอยชนิดอื่นให้สุกก่อนกิน
  • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคพื้นผิวด้วยน้ำยาทำความสะอาดและคลอรีนหลังที่พบว่ามีผู้ป่วย
  • ใส่ถุงมือยางหรือถุงมือใช้แล้วทิ้งเมื่อต้องสัมผัสกับสิ่งสกปรก หลังจากนั้นให้ล้างมือ
  • หากติดเชื้อเอง ห้ามทำอาหารอย่างน้อย 2-3 วันหลังจากที่อาการดีขึ้น และพยายามอย่ากินอาหารที่คนป่วยทำ

แหล่งข้อมูล:

  1. Norovirus. http://en.wikipedia.org/wiki/Norovirus [2013, December 12].
  2. Norovirus. http://www.cdc.gov/norovirus/about/overview.html [2013, December 12].
  3. Norovirus. http://children.webmd.com/norovirus-symptoms-and-treatment [2013, December 12].