ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :
ตับอาการที่เกี่ยวข้อง :
อ่อนเพลีย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตัวตาเหลือง คลื่นไส้อาเจียน โรคติดเชื้อตับอักเสบ ดี (Hepatitis D) หรือ ไวรัสตับอักเสบ ดี (Viral Hepatitis D) หรืออีกชื่อคือ Delta hepatitis เป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ ไวรัสตับอักเสบ ดี (Hepatitis D virus เรียกย่อว่า HDV) ซึ่งเป็นไวรัสคนละชนิดกับที่ทำให้เกิดโรคไวรัสตับอักเสบ เอ, ไวรัสตับอักเสบ บี, ไวรัสตับอักเสบ ซี และไวรัสตับอักเสบ อี
ไวรัสตับอักเสบ ดี เป็นโรคติดต่อโดยการสัมผัสเลือดและจากเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตัวนี้ เป็นโรคพบเกิดได้ในทุกเพศและทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบในผู้ใหญ่สูงกว่าในเด็ก ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน
ธรรมชาติของโรคไวรัสตับอักเสบ ดี จะเช่นเดียวกับโรคไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ (ไวรัสตับอักเสบ เอ, บี, ซี หรือ อี) กล่าวคือ เมื่อมีการติดเชื้อและมีอาการอย่างเฉียบพลันจะมีอาการชัดเจนและสามารถรักษาได้หายภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือนเรียกว่าเป็น “ไวรัสตับอักเสบ ดี เฉียบพลัน” แต่ถ้าเมื่อติดเชื้อแล้วอาการมีไม่มากไม่ชัดเจน แต่โรคจะก่อให้เกิดการอักเสบบาด เจ็บของเซลล์ตับไปเรื่อยๆตลอดเวลาโดยมีการติดเชื้อเรื้อรังนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งตรวจพบโรคได้จากการตรวจเลือดเรียกว่าเป็น ”ไวรัสตับอักเสบ ดี เรื้อรัง”
ไวรัสตับอักเสบ ดี เป็นโรคพบได้ทั่วโลก มีรายงานพบโรคนี้ได้ประมาณ 15 ล้านคนทั่วโลก เป็นโรคประจำถิ่นในแถบแอฟริกากลาง ลุ่มน้ำอะเมซอน แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตะวัน ออกกลาง และประเทศจีน
โรคไวรัสตับอักเสบ ดี เกิดจากการติดเขื้อไวรัสชื่อ ไวรัสตับอักเสบ ดี โรคนี้เป็นโรคติดต่อ โดยมีวิธีในการติดต่อหรือติดโรคเช่นเดียวกับในโรคไวรัสตับอักเสบ บี โดยผู้ป่วยได้รับเชื้อผ่านทางการสัมผัสเลือดของคนที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่เช่น จากการให้เลือดหรือให้สารต่างๆที่เป็นส่วนประกอบของเลือด (เช่น เกล็ดเลือดหรือเม็ดเลือดขาว) จากการมีแผลและแผลสัมผัสเลือดผู้มีเชื้อนี้ จากการใช้เข็มฉีดยาหรือเครื่องใช้อื่นๆที่อาจสัมผัสเลือดผู้มีเชื้อนี้ร่วมกัน (เช่น กรรไกรตัดเล็บ เข็มที่ใช้ในการเจาะหู หรือในการสักลายตามร่างกาย) และจากเลือดของมารดาในขณะคลอดเมื่อมารดามีเชื้อนี้อยู่
นอกจากนั้นคือการติดต่อทางเพศสัมพันธ์เนื่องจากจะมีเชื้อพบในน้ำอสุจิหรือน้ำช่องคลอดได้ แต่การติดต่อด้วยวิธีนี้พบได้น้อยกว่าจากไวรัสตับอักเสบ บี มาก
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าสู่ตับและก่อให้เกิดการอักเสบบาดเจ็บของเซลล์ตับ ซึ่งสามารถทำให้เซลล์ตับเกิดการอักเสบได้ทั้งชนิดเฉียบพลัน (ไวรัสตับอักเสบ ดี เฉียบพลัน) และชนิดเรื้อรัง (ไวรัสตับอักเสบ ดี เรื้อรัง) ทั้งนี้ขึ้นกับมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ร่วมอยู่ด้วยในลักษณะใด และอาจขึ้นกับแต่ละสายพันธุ์ย่อยของไวรัสนี้ (ไวรัสชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์ย่อย)
ไวรัสตับอักเสบ ดี เป็นไวรัสที่ไม่สามารถขยายพันธุ์ก่อโรคได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องอาศัยสารบางชนิดจากไวรัสตับอักเสบ บี ช่วยในการขยายพันธุ์ ดังนั้นไวรัสตับอักเสบ ดี จะก่อโรคได้ต่อเมื่อคนคนนั้นต้องติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ด้วย
ถ้ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ดี พร้อมๆกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เพราะดังได้กล่าวแล้วว่า ไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้มีการติดเชื้อได้ด้วยวิธีการเดียวกันเรียกการติดเชื้อลักษณะนี้ว่า “Co-infection” ซึ่งการติดเชื้อลักษณะนี้มักพบในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เฉียบพลัน และติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ดี ไปพร้อมกัน แต่ถ้าผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี อยู่ก่อนแล้วและต่อมาเกิดติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ดี ตามมาทีหลังเรียกการติดเชื้อลักษณะนี้ว่า “Super-infection” ซึ่งการติดเชื้อลักษณะนี้มักพบเป็นการติดเชื้อในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง
เชื้อไวรัสตับอักเสบ ดี ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีชื่อ Mario Rizzetto ในปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) โดยมีคนเป็นแหล่งรังโรค แต่สามารถพบในลิงซิมแปนซีและในหนูยักษ์ (Woodchuck) ได้บ้าง แต่ไม่สามารถติดต่อมายังคนได้ ทั้งนี้เมื่อได้รับเชื้อจะก่อให้เกิดอาการประมาณ 2 - 8 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ (ระยะฟักตัวของโรค)
วิธีฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบ ดี ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่โดยทั่วไปไวรัสตับอักเสบจะถูกฆ่าด้วย
เชื้อไวรัสชนิดนี้ถ้าอยู่ในเลือดหรือในส่วนประกอบของเลือดเชื้อสามารถอยู่ได้นานตลอดไป แต่ถ้าอยู่นอกร่างกายในที่แห้งอาจอยู่ได้นานประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ในที่เปียกชื้นเชื้ออาจอยู่ได้นานกว่านี้
โรคไวรัสตับอักเสบ ดี เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนเช่นเดียวกับในโรคไวรัสตับอักเสบ บี โดยการสัมผัสเลือดและ/หรือส่วนประกอบของเลือดของผู้ป่วยโรคนี้เช่น จากแผล จากการให้เลือดหรือให้สารประกอบของเลือด จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน จากของใช้ที่สัมผัสเลือดผู้ป่วย เช่น กรรไกรตัดเล็บ เข็มสักผิวหนัง การเจาะหู เป็นต้น นอกจากนั้นที่มีโอกาสติดเชื้อได้แต่พบได้น้อยคือ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และการติดเชื้อจากมารดาสู่ลูกในขณะคลอด (มีโอกาสติดเชื้อได้น้อยกว่าวิธีอื่นๆ)
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ดี คือ
อาการจากไวรัสตับอักเสบ ดี ทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรังจะเช่นเดียวกับในโรคไวรัส ตับอักเสบทุกชนิดทั้งนี้เพราะเป็นอาการที่เกิดจากมีการอักเสบของเซลล์ตับเช่นเดียวกัน
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ ดี เฉียบพลันจะเกิดขึ้นประมาณ 2 - 8 สัปดาห์หลังการได้รับเชื้อ (ระยะฟักตัวของโรค) และมักเกิดขึ้นพร้อมๆกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งอาการต่างๆจะเช่นเดียวกับอาการของไวรัสตับอักเสบ บี คือ อาจมีไข้ได้ทั้งไข้สูง (พบได้น้อยกว่า) หรือไข้ต่ำ (พบได้บ่อยกว่า) มีอาการคล้ายอาการโรคหวัดเช่น ปวดเมื่อยตัว ไม่มีแรง อ่อนเพลีย แต่จะอ่อนเพลียมากกว่าจากไข้หวัดมาก อาจมีท้องเสียแต่ไม่รุนแรง เจ็บใต้ชายโครงขวา/เจ็บตับ ทั้งนี้อาการต่างๆจะเป็นอยู่ประมาณ 3 - 7 วัน ต่อจากนั้นจะเริ่มมีตัว ตาเหลือง (โรคดีซ่าน) ปัสสาวะสีเหลืองเข็ม และอุจจาระอาจมีสีซีดได้ หลังจากนั้นอาการต่างๆจะค่อยๆดีขึ้นช้าๆ ระยะเวลาที่จะกลับมาปกติหรือใกล้ปกติประมาณ 3 - 4 สัปดาห์นับจากเริ่มมีอาการ แต่ในบางคนอาการอ่อนเพลียยังมีอยู่ต่อเนื่องอีกเป็นเดือนหรือหลายเดือนเพราะการทำงานของตับจะกลับปกติได้ในระยะเวลาประมาณ 16 สัปดาห์
แต่ในรายที่เป็นการติดเชื้อลักษณะที่เกิดซ้อนตามหลังผู้ป่วยที่เป็นไวรสตับอักเสบ บี เรื้อรัง (Super-infection) ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงมากจนถึงขั้นตับวายและเสียชีวิต (ตาย) ได้
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ ดี เรื้อรังจะเช่นเดียวกับในไวรัสตับอักเสบ ดี เฉียบพลัน แต่อาการจะน้อยกว่ามาก ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ แต่ประมาณ 60 - 80% ของผู้ป่วยโรคจะค่อยๆเลวลงไปเรื่อยๆช้าๆจนกลายเป็นโรคตับแข็งในระยะเวลาประมาณ 5 - 10 ปี และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติมากอาจถึงเป็น 100 เท่า ซึ่งในที่สุดผู้ป่วยทั้งจากโรคตับแข็งหรือจากโรคมะเร็งตับจะเสียชีวิตจากตับวายในที่สุด
แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ ดี ได้จากประวัติอาการ ประวัติการมีปัจจัยเสี่ยงดัง กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทาน/แอนติบอดี (Antibody) เพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ดี อาจตรวจหาสารทางพันธุกรรมของไวรัสตับอัก เสบ ดี (ตรวจได้เฉพาะห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ที่นำสมัย) และในผู้ป่วยบางคนอาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อจากตับเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
แนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ดี เฉียบพลันคือ การรักษาประคับประคองตามอาการ ทั้งนี้ไม่มีประโยชน์จากการให้ยาปฏิชีวนะเนื่องจากยาปฏิชีวนะฆ่าได้เฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ และการรักษาไม่ได้ผลจากการใช้ยาต้านไวรัส
การรักษาประคับประคองตามอาการที่สำคัญคือ เพื่อลดการทำงานของตับโดยพักผ่อนให้เต็มที่ หยุดงาน หยุดเรียน เคลื่อนไหวร่างกายแต่พอควร ร่วมกับลดการกินอาหารโปรตีนและอาหารไขมัน แต่กินผักและผลไม้เพิ่มให้มากขึ้นเพื่อช่วยลดการทำงานของตับเช่นกัน ดื่มน้ำให้ได้มากๆเมื่อแพทย์ไม่ได้แนะนำให้จำกัดน้ำดื่ม ร่วมกับระมัดระวังในการกินยาต่างๆรวมทั้งสมุนไพร โดยการกินยาต่างๆควรได้รับการแนะนำจากแพทย์พยาบาลหรือเภสัชกรเพื่อลดการทำงานของตับและลดผลข้างเคียงของยาต่อตับ เพราะตับจะเป็นอวัยวะที่ใช้กำจัดยาส่วนเกิน
ส่วนการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ดี เรื้อรังคือ การให้ยาต้านไวรัสเช่น ยา Interferon เพื่อช่วยชะลอการเกิดโรคตับแข็งซึ่งอาจจำเป็นต้องฉีดยาต่อเนื่องตลอดไป
โรคไวรัสตับอักเสบ ดี เฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อชนิดเกิดพร้อมๆกับการติดเชื้อไวรัส ตับอักเสบ บี (Co- infection) โรคมักไม่รุนแรงมักรักษาหายได้ มีประมาณ 2 - 5% ที่จะเปลี่ยนไปเป็นไวรัสตับอักเสบ ดี เรื้อรัง อย่างไรก็ตามประมาณ 5% ของผู้ป่วยโรคจะรุนแรงถึงขั้นตับวายและเสียชีวิต (ตาย) ในที่สุด
แต่ไวรัสตับอักเสบ ดี ที่ติดเชื้อแบบตามหลังการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (Super-infect ion) โรคค่อนข้างรุนแรงกล่าวคือ 60 - 70% ของผู้ป่วยจะเกิดตับอักเสบเฉียบพลันรุนแรง และในกลุ่มอาการเฉียบพลันรุนแรงนี้ประมาณ 80 - 90% จะกลายเป็นการติดเชื้อแบบเรื้อรัง และประมาณ 5% จะเกิดตับวายและเสียชีวิตในที่สุด
ส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนของโรคไวรัสตับอักเสบ ดี คือ การเกิดโรคตับแข็งและการเกิดโรคมะเร็งตับซึ่งพบได้ประมาณ 2 - 10% ของผู้ป่วยโดยเกิดได้ตั้งแต่ช่วงระยะเวลาประมาณ 2 - 50 ปีหลังการติดเชื้อแต่ส่วนใหญ่จะประมาณ 20 ปีขึ้นไป
การดูแลตนเองที่สำคัญคือ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรรีบพบแพทย์ /ไปโรงพยาบาลเสมอเพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุเพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม
เมื่อได้พบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ ดี การดูแลตนเองคือ
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับโรคไวรัสตับอักเสบ ดี แต่การฉีดวัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบ บี ก็สามารถช่วยลดโอกาสเกิดโรคไวรัสตับอักเสบ ดี ได้เพราะดังกล่าวแล้วว่าไวรัสตับอักเสบ ดี ต้องอาศัยไวรัสตับอักเสบ บี ในการก่อโรคเสมอ
ส่วนการป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ดี ด้วยวิธีอื่นๆที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ซึ่งจะครอบคลุมทั้งในเรื่องของการไม่เสพสิ่งเสพติด การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และการไม่สำส่อนทางเพศ
นอกจากนั้นคือการระมัดระวังในการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งของผู้อื่นเช่น จากการเจาะหู การสัก การใช้กรรไกรตัดเล็บ ใบมีดโกน ที่โกนหนวด รวมไปถึงแปรงสีฟันเพราะน้ำลายก็เป็นหนึ่งในสารคัดหลั่งที่อาจมีเชื้อไวรัสนี้ได้