ไวรัสซิกา ปรปักษ์ของหญิงท้อง (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ไวรัสซิกาปรปักษ์ของหญิงท้อง

แพทย์อาจวินิจฉัยโรคด้วยการสอบถามประวัติการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในส่วนของหญิงมีครรภ์ที่ได้เดินทางไปยังสถานที่มีการแพร่กระจายของเชื้อ แม้จะไม่ปรากฏอาการก็ตาม แพทย์อาจให้ทำการเฝ้าระวังด้วยการทดสอบในระยะเวลา 2-12 สัปดาห์ หลังการเดินทางกลับมา ด้วยการตรวจ

  • อัลตราซาวด์เป็นระยะๆ เพื่อหาภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) หรือหาความผิดปกติของสมอง และดูพัฒนาการของทารกในครรภ์
  • เจาะน้ำคร่ำในมดลูก (Amniocentesis) เพื่อหาเชื้อไวรัสซิกา

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ การรักษาที่ทำอยู่เป็นการบรรเทาอาการด้วยการให้พักผ่อน ให้สารน้ำและยา เช่น ยา Acetaminophen และยา Ibuprofen เพื่อลดไข้และแก้ปวดข้อ

เช่นเดียวกัน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์กำลังอยู่ระหว่างการหาทางผลิตวัคซีนป้องกันโรคนี้อยู่

และเนื่องจากในปัจจุบันมีการพบว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาสามารถแพร่กระจายผ่านการให้เลือด (Blood transfusion) ได้ ดังนั้น องค์การอาหารและยา (FDA) จึงแนะนำว่า ควรงดการให้เลือดเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ หากท่าน

  • มีประวัติในการติดเชื้อไวรัสซิกา
  • มีการเดินทางหรืออยู่อาศัยในบริเวณที่มีการแพร่ของเชื้อ
  • มีอาการติดเชื้อภายใน 2 สัปดาห์หลังการเดินทางกลับจากบริเวณที่มีเชื้อ
  • มีเพศสัมพันธ์กับชายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสซิกา
  • มีเพศสัมพันธ์กับชายที่ได้เดินทางหรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่ของเชื้อในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา

สำหรับการป้องกันที่ทำได้ ก็คือ หญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังบริเวณที่มีการระบาดของโรค หรือหากมีสัมพันธ์กับเพศชายที่ต้องเดินทางไปยังบริเวณที่มีการระบาดของโรค ก็ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการตั้งครรภ์ หรือใช้ถุงยางอนามัยระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้ CDC ได้ประกาศให้หญิงมีครรภ์หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อมากกว่า 50 ประเทศ เช่น อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล โคลัมเบีย คิวบา เอกวาดอร์ ฮอนดูรัส จาไมก้า เม็กซิโก เปรู สิงคโปร์ เวเนซุเอลา เป็นต้น โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 1 หรือ ไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อค่อนข้างมาก

แต่หากมีการเดินทางไปในบริเวณที่มีการแพร่ของเชื้อและมีแผนการตั้งครรภ์ CDC ได้แนะนำให้ผู้หญิงรออีกเป็นระยะเวลา 2 เดือน และควรกินอาหารเสริมกรดโฟลิค (Folic acid supplements) เป็นเวลา 28 วัน ก่อนการตั้งครรภ์ ในขณะที่ผู้ชายควรรออีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยจากการติดเชื้อ

และหากต้องอาศัยหรือเดินทางไปยังเขตร้อนที่มีเชื้อไวรัสซิกา อาจลดความเสี่ยงจากการโดนยุงกัดได้ดังนี้

  • อยู่ในห้องปรับอากาศหรือห้องที่มีมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงกัด
  • สวมเสื้อผ้าที่ป้องกันยุงได้ อย่างเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงเท้า และรองเท้า
  • ใช้ยากันยุง (แต่ไม่ควรใช้ในทารกที่อายุน้อยกว่า 2 เดือน)
  • ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงรอบบ้านไม่ให้มีน้ำขัง เช่น ภาชนะใส่น้ำ จานอาหารสัตว์เลี้ยง กระถางต้นไม้ เป็นต้น

แหล่งข้อมูล

1. Zika virus disease. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/zika-virus/home/ovc-20189269 [2016, September 16].

2. Zika virus. http://www.nhs.uk/Conditions/zika-virus/Pages/Introduction.aspx [2016, September 16].

3. Zika Virus: What You Should Know. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/zika-virus-symptoms-prevention [2016, September 16].