ไรวาสติกมีน (Rivastigmine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไรวาสติกมีน(Rivastigmine) เป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภท Carbamate ซึ่งเป็นกลุ่มยา AChEI หรือ Acetylcholinesterase inhibitor ทางคลินิกนำมาใช้รักษาภาวะความจำเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์(Dementia of the Alzheimer’s type) และจากโรคพาร์กินสัน (Dementia due to Parkinson’s disease) รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้มีทั้งยาชนิดรับประทาน และแบบแผ่นปิดผิวหนัง

ตัวยาไรวาสติกมีนสามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร และจากทางผิวหนัง เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 40% ตัวยานี้สามารถซึมผ่านสมองได้ จึงสามารถออกฤทธิ์บำบัดรักษาความจำเสื่อมที่อาจมีสาเหตุจากการขาดสมดุลของสารสื่อประสาท อย่างเช่น Acetylcholine ยาไรวาสติกมีนจะถูกทำลายโดยตับ และถูกกำจัดทิ้งไปกับปัสสาวะเสียเป็นส่วนใหญ่ และมีบางส่วนถูกกำจัดไปกับอุจจาระ

ยาไรวาสติกมีน มีข้อจำกัดการใช้ รวมถึงข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงและห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไรวาสติกมีน หรือแพ้ยากลุ่มอนุพันธ์ของ Carbamate
  • กรณีที่ผู้ป่วยมีการใช้ยา AChEI ตัวอื่นอยู่ ถือเป็นข้อห้ามนำมาใช้ร่วมกับไรวาสติกมีน ด้วยอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้น
  • มียาบางกลุ่มที่ห้ามใช้หรือควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาไรวาสติกมีน ด้วยอาจจะทำให้หัวใจของผู้ป่วยเต้นช้าลง เช่นยา Acebutolol, Atenolol, Betaxolol, Bisoprolol, Carvedilol, Esmolol, Labetalol, Metoprolol, Nadolol, Nebivolol, Penbutolol, Pindolol, Propranolol, Sotalol, Timolol
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีที่ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอว่า ตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เพราะการใช้ยาไรวาสติกมีนอาจส่งผลกระทบต่ออาการโรคประจำตัวเหล่านั้นให้รุนแรงขึ้น อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจชนิดต่างๆ ตับอ่อนอักเสบ โรคลมชัก โรคแผลในทางเดินอาหาร(เช่น แผลในกระเพาะอาหาร) มีภาวะหอบหืด หรือภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รวมถึงมีภาวะปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
  • ยานี้อาจไม่เหมาะสมที่จะใช้บำบัดภาวะความจำเสื่อมซึ่งไม่ได้มีสาเหตุจากโรคอัลไซเมอร์ หรือจากโรคพาร์กินสัน
  • ยาอื่นๆบางกลุ่มสามารถลดประสิทธิภาพการรักษาของยาไรวาสติกมีน หากนำมาใช้ร่วมกัน อย่างเช่น กลุ่มยา Anticholinergic agent

โดยทั่วไป การใช้ยาไรวาสติกมีน แบบรับประทาน แพทย์จะให้รับประทานยาวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น พร้อมอาหาร ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาตรงตามคำสั่งแพทย์และเป็นเวลาเดียวกันของแต่ละวัน จึงจะทำให้เกิดประสิทธิผลต่อการรักษาได้ดีที่สุด และ การใช้ยานี้ต้องอาศัยความต่อเนื่อง อาจต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนขึ้นไปจึงจะเห็นผลการรักษา นอกจากนั้น แพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยานี้เป็นระยะๆ ทั้งนี้ขึ้นกับ การตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยต่อยานี้

อนึ่ง ยาไรวาสติกมีนไม่ได้ถูกผลิตมาสำหรับใช้กับเด็ก จึงถือเป็นข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้

อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่พบได้บ่อยของการใช้ยาไรวาสติกมีน เช่น ท้องเสีย วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกและส่งผลดีต่อการรักษาภาวะความจำเสื่อม อาจต้องอาศัยความช่วยเหลือจากญาติของผู้ป่วยมาช่วยบริหารการใช้ยาด้วย และการจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยานี้ในรูปแบบรับประทาน หรือแผ่นปิดผิวหนัง แพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้คัดเลือกได้อย่างเหมาะสมที่สุด

สำหรับในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา จัดให้ยาไรวาสติกมีนเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลโดยต้องมีใบสั่งจ่ายยาจากแพทย์เท่านั้น

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาไรวาสติกมีน สามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

ไรวาสติกมีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไรวาสติกมีน

ยาไรวาสติกมีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาอาการความจำเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) หรือความจำเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน(Parkinson’s disease) ที่มีภาวะพร่องสารสื่อประสาทชนิด Acetylcholine

ไรวาสติกมีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไรวาสติกมีนมีกลไกการออกฤทธ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Acetylcholineterase ซึ่งจะเป็นตัวสลายสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Acetylcholine ส่งผลให้สาร Acetylcholine ในสมองมีปริมาณมากขึ้น และเกิดสมดุลของสารสื่อประสาทนี้ในสมอง จากกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ไรวาสติกมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไรวาสติกมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 1.5, 3, 4.5,และ 6 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • แผ่นปิดผิวหนัง (Dermal patch) ขนาด 4.6 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง, 9.5 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง และ 13.3 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง

ไรวาสติกมีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไรวาสติกมีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. ในการรักษาความจำเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์:

  • กรณีเป็นยารับประทาน: ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 1.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น พร้อมอาหาร หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 3 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง การปรับเพิ่มขนาดรับประทานครั้งต่อไปโดยแพทย์อาจเป็น 4.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง และ 6 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยเว้นระยะเวลาการใช้ยาแต่ละขนาดห่างกันประมาณ 2 สัปดาห์
  • กรณีใช้แผ่นปิดผิวหนัง: ผู้ใหญ่: ใช้ปิดผิวหนังบริเวณช่วงบนหรือช่วงล่างของหลังผู้ป่วย หรือปิดบริเวณใต้แขนด้านบน หรือที่หน้าอกก็ได้ หลีกเลี่ยงการปิดแผ่นยาในบริเวณที่มีขนหรือที่ผิวหนังมีความมัน การใช้ยานี้ให้เริ่มปิดแผ่นยาขนาด 4.6 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง วันละ 1 แผ่น เมื่อเวลาผ่านไปทุกๆ 4 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดการใช้ยาเป็น9.5 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง และ 13.3 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง ตามลำดับ

ข.รักษาความจำเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่18 ปีขึ้นไป: กรณีเป็นยารับประทาน, ขนาดรับประทานเหมือนกับการรักษาความจำเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ แต่แพทย์มีช่วงระยะเวลาการปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นทุกๆ 4 สัปดาห์
  • ส่วนการใช้ยาชนิดแผ่นปิดผิวหนัง มีวิธีใช้เหมือนกับการรักษาโรคอัลไซเมอร์

อนึ่ง:

  • ในผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ห้ามใช้ยานี้
  • หากจำเป็นต้องใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตที่ระดับความรุนแรงโรคปานกลางถึงรุนแรงมาก ควรเริ่มใช้ยานี้ที่ขนาดต่ำๆก่อน
  • กรณีใช้ยาไรวาสติกมีนชนิดแผ่นปิดผิวหนัง ต้องหลีกเลี่ยงการเปียกน้ำ การใช้วันละ1 ครั้งต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ก็สามารถทำให้อาการป่วยดีขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกับยารับประทานวันละ 2 ครั้ง

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไรวาสติกมีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหืด โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไรวาสติกมีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยา/ปิดผิวหนัง ควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาไรวาสติกมีนควรปฏิบัติดังนี้

ก. กรณีเป็นยาชนิดรับประทาน: หากลืมรับประทานยานี้ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ข. กรณีเป็นยาชนิดแผ่นปิดผิวหนัง: สามารถใช้ปิดผิวหนังเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มการใช้ยาเป็น 2 แผ่น

*อนึ่ง การลืมใช้ยานี้บ่อยครั้ง มักส่งผลให้การรักษาด้อยประสิทธิภาพลง

ไรวาสติกมีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไรวาสติกมีน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก มีผื่นคัน อาจพบภาวะ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นช้า กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย น้ำลายมาก ท้องอืด เกิดแผลในกระเพาะ-ลำไส้ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบติดเชื้อ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ตัวสั่น วิงเวียน ง่วงนอน การเคลื่อนไหวทำได้ช้าลง มีอาการชัก
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกสับสน ซึมเศร้า วิตกกังวล ประสาทหลอน กระสับกระส่าย ฝันร้าย
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร ร่างกายขาดน้ำ/ภาวะขาดน้ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ไรวาสติกมีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไรวาสติกมีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลำไส้อุดตัน หรือผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด อวัยวะในช่องทางเดินอาหาร
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไรวาสติกมีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไรวาสติกมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไรวาสติกมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไรวาสติกมีนร่วมกับยา Metoclopramide ด้วยจะเพิ่ม ความเสี่ยงทำให้สูญเสียการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไรวาสติกมีนร่วมกับยา Cholinergic agents, Cholinesterase inhibitors, ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาไรวาสติกมีนมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไรวาสติกมีนร่วมกับยา NSAIDs ด้วยจะเกิดความเสี่ยงทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้/เลือดออกในทางเดินอาหารง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไรวาสติกมีนร่วมกับยา Anticholinergic drug ด้วยอาจส่งผล ให้การออกฤทธิ์ของยา Anticholinergic drug ด้อยประสิทธิภาพลง

ควรเก็บรักษาไรวาสติกมีนอย่างไร?

ควรเก็บยาไรวาสติกมีนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไรวาสติกมีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไรวาสติกมีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Exelon Patch (เอ็กเซลอน แพช)Novartis
Exelon (เอ็กเซลอน)Novartis
Rivasta (ไรเวสตา)Siam Bheasach

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Rivadem, Rivasmine, Rivamer, Rivadem, Srivasmine, Zeemine

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/pro/rivastigmine.html [2016,Dec31]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Rivastigmine [2016,Dec31]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/rivastigmine/?type=brief&mtype=generic [2016,Dec31]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/rivasta/?type=brief [2016,Dec31]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/exelon%20patch/?type=brief [2016,Dec31]