ไรฟามัยซิน (Rifamycin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ไรฟามัยซิน (Rifamycin) คือ กลุ่มยาปฏิชีวนะที่นักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์จากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Amycolatopsis rifamycinica,  ไรฟามัยซินสามารถนำมาต่อต้านเชื้อแบคทีเรียจำพวก Mycobacteria (Mycobacterium spp./species) เช่น เชื้อวัณโรคและโรคเรื้อน นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้รักษาอาการของโรคอีกหลายชนิดซึ่งรวมถึงผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เป็นวัณโรค ด้วยกลไกการออกฤทธิ์หลักของยาไรฟามัยซินจะเป็นลักษณะยับยั้งการสร้างหรือการจำลองสารพันธุกรรมในตัวแบคทีเรีย ส่งผลต่อการเจริญพันธุ์และหยุดการเจริญเติบโต

ยาไรฟามัยซินยังแบ่งออกเป็นตัวอนุพันธุ์ย่อยได้อีกดังนี้

  1. Rifampin หรือ Rifampicin: ออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวกเป็นส่วนใหญ่และ เชื้อแกรมลบบางกลุ่ม รวมถึงใช้ต่อต้านโรคที่เกิดจากเชื้อ Mycobacterium spp. ยา Rifampin ไม่เหมาะจะใช้รักษาแบบเป็นยาเดี่ยวด้วยเชื้อแบคทีเรียสามารถพัฒนาและต่อต้านยานี้ได้ค่อนข้างเร็วจึง มักใช้ร่วมกับยาอื่นเช่น
  • Rifampin + Dapsone ใช้รักษาโรคเรื้อน
  • Rifampin + Azithromycin ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคลีเจียนแนร์    
  • Rifampin + Vancomycin ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อหุ้มสมอง/เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ทั้งนี้ยา Rifampin ดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 90 - 95% มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นชนิดรับประทานและชนิดฉีด

  1. Rifabutin: ออกฤทธิ์รักษาการติดเชื้อวัณโรคในผู้ป่วยโรคเอดส์และผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคเพียงอย่างเดียวได้ดีเท่ากับ Rifampin แต่จะใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย M.avium (Mycobacterium avium, แบคทีเรียที่มักก่อการติดเชื้อในผู้ป่วยเอชไอวี) ได้ดีกว่า Rifampin ตัวยา Rifabutin ดูดซึมจากทาง เดินอาหารได้ประมาณ 85% ซึ่งต่ำกว่า Rifampin เล็กน้อย มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันจะเป็นยาชนิดรับประทาน
  2. Rifapentine: ใช้รักษาการติดเชื้อวัณโรคของผู้ป่วยโรคเอดส์รวมถึงรักษาวัณโรคในระยะแฝง (Latent tuberculosis) มักใช้ร่วมกับยา Isonizid เพื่อรักษาวัณโรค Rifapentine มีการดูดซึมจากทางเดินอาหารประมาณ 70% และมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันจะเป็นยาชนิดรับประทาน
  3. Rifaximin: เป็นยาในกลุ่มไรฟามัยซินที่มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารต่ำมากๆเพียง 0.4% และถูกขับออกทางอุจจาระถึง 97% ทางคลินิกจึงใช้ยานี้รักษาอาการท้องเสียโดยเฉพาะท้องเสียในระหว่างการเดินทางและที่มีสาเหตุจากเชื้อ E.coli รูปแบบยาแผนปัจจุบันจะเป็นยาชนิดรับประทาน

อนึ่งยา Rifampin เป็นยาเพียงตัวเดียวของกลุ่มยาไรฟามัยซินที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย การเลือกใช้ยาตัวใดเพื่อรักษาอาการโรคนั้นผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจร่างกายและมีคำสั่งยืนยันการจ่ายยาจากแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว ห้ามซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ด ขาด เพราะไม่เพียงแค่เสี่ยงกับการใช้ยาไม่ถูกต้องแต่อาจกระตุ้นให้อาการโรคลุกลามมากขึ้นจนถึง ขั้นรุนแรงและเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเอง

ไรฟามัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไรฟามัยซิน

 กลุ่มยาไรฟามัยซินมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:  เช่น

  • รักษาการติดเชื้อวัณโรครวมถึงการติดเชื้อวัณโรคของผู้ป่วยโรคเอดส์
  • ใช้เป็นยาป้องกันการติดเชื้อวัณโรค
  • รักษาอาการโรคเรื้อน (Leprosy)
  • รักษาอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)
  • ใช้ป้องกันการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง/เยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิด Meningococcal meningitis
  • รักษาเยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis)
  • ใช้ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus influenza แบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงในเด็กเล็ก
  • รักษาอาการโรคลีเจียนแนร์

ใช้รักษาการติดเชื้อจากแมวข่วนหรือกัด/โรคไข้แมวข่วน (Bartonellosis)

ไรฟามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลุ่มยาไรฟามัยซิน มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งกระบวนการทำงานด้านพันธุกรรมของแบคทีเรียที่มีชื่อว่า DNA-dependent RNA synthesis ส่งผลให้แบคทีเรียไม่สามารถสร้างสารพันธุกรรมของตัวเองได้ทำให้หยุดการเจริญเติบโต หยุดการกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด

ไรฟามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

กลุ่มยาไรฟามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทานขนาด 300 และ 450 มิลลิกรัม/แคปซูล (Rifampin)
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 300 และ 600 มิลลิกรัม/เม็ด (Rifampin)
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 150 มิลลิกรัม/เม็ด (Rifapentine)
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทานขนาด 150 มิลลิกรัม/แคปซูล (Rifabutin)
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 200 มิลลิกรัม/เม็ด (Rifaximin)
  • และยังมียาไรฟามัยซินที่ผสมร่วมกับยาอื่นที่ไม่ได้ระบุในบทความนี้

ไรฟามัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

กลุ่มยาไรฟามัยซิน มีขนาดรับประทานที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของโรค ความรุนแรงของโรค อีกทั้งอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยา และการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารของยาแต่ละตัวมีความแตกต่างกัน รวมถึงอายุและสถานะทางร่างกายของผู้ป่วย การเลือกใช้ยาและขนาดยาจึงขึ้นอยู่กับคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงกลุ่มยาไรฟามัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะกลุ่มยาไรฟามัยซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยากลุ่มไรฟามัยซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไรฟามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มไรฟามัยซินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) โดยแบ่งตามรายการยา เช่น

ก.      Rifapentine: เช่น ปัสสาวะถี่/บ่อยและมีโปรตีนปนมากับปัสสาวะ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง การตรวจปัสสาวะ) มีผื่นคัน เกิดสิว เบื่ออาหาร โลหิตจาง ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ตับอักเสบ ลมพิษ ตัวบวม อ่อนแรง เกลือ โพแทสเซียมในเลือดสูง   ท้องผูก   กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ

ข.      Rifabutin: เช่น ท้องเสีย มีไข้ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ผื่นคัน ปวดกล้ามเนื้อ อุจจาระมีสีคล้ำ หนาวสั่น ไอ ปวดตา ปวดข้อ การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน กล้ามเนื้ออักเสบ ผิวซีด ปัสสาวะขัด หายใจขัด/หายใจลำบาก มีแผลในปาก อ่อนเพลีย เจ็บคอ อาเจียน การรับรสชาติเปลี่ยนไป ปวดท้อง ท้องอืด ปวดหัว ปัสสาวะ น้ำลายและน้ำตามีสีส้ม แดงหรือน้ำตาลจากสารเคมีของตัวยา

ค.    Rifampin: เช่น เกิดอาการผื่นคัน รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง ตับอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง  กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่   

ง.     Rifaximin: เช่น วิงเวียน ปวดหัว  รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ และมีไข้

มีข้อควรระวังการใช้ไรฟามัยซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มไรฟามัยซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่ม Rifamycin
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง                   
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ ระหว่างการใช้ยานี้ต้องคอยตรวจเลือดตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อตรวจสอบการทำงานของตับให้อยู่ในภาวะปกติเสมอ
  • ระวังการเกิดลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • อาจทำให้ปัสสาวะมีสีแดง เช่น จากยา Rifapentine
  • หากพบอาการคล้ายกับแพ้ยา เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หน้าบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ซึ่งถ้าพบอาการเหล่านี้ให้หยุดยานี้ทันทีแล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษา
  • ระหว่างการใช้ยา Rifabutin สามารถพบเกิดสีที่เปลี่ยนไปดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ผลไม่พึงประ สงค์ฯในสารคัดหลั่งของร่างกาย เช่น น้ำตา น้ำลาย เหงื่อ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใส่อุปกรณ์ทางทันตกรรมในช่องปากหรือผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ ควรถอดหรือเลี่ยงการสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว ด้วยสีที่ออกมากับสารคัดหลั่งสามารถจับกับอุปกรณ์ทางทันตกรรมหรือคอนแทคเลนส์ได้อย่างถาวร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไรฟามัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไรฟามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไรฟามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Rifapentine ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้ฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดด้อยลง ทำให้เสี่ยงกับการมีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือเกิดการตั้งครรภ์ตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยา Rifabutin ร่วมกับ ยาต้านเอชไอวีบางตัว เช่นยา Indinavir อาจเสริมฤทธิ์และก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง)ของยา Rifabutin เพิ่มมากขึ้น เช่น ปวดหัว คลื่นไส้-อาเจียน ปวดกระเพาะอาหาร/ปวดท้อง มีไข้   หนาวสั่น  ปวดตามร่างกาย หากมีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาหรือปรับขนาดการรับประทานยานี้ให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยา Rifampin ร่วมกับ ยาวัณโรคบางตัว สามารถส่งผลกระทบต่อตับจนอาจก่อให้มีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดข้อ บวมตามร่างกาย อ่อนเพลีย อาจพบอาการตกเลือด ผื่นคัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้-อาเจียน ตัวเหลือง หากพบอาการข้างต้นจำเป็นต้องรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดการรับประทาน ยาวัณโรคดังกล่าวเช่น Isoniazid, Pyrazinamide
  • การใช้ยา Rifaximin ร่วมกับ ยาต้านไวรัส Ledipasvir อาจทำให้ระดับยา Rifaximin และฤทธิ์การรักษาเพิ่มขึ้น หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาไรฟามัยซินอย่างไร?

 ควรเก็บยาไรฟามัยซิน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด  ความร้อน และ ความชื้น  
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไรฟามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไรฟามัยซิน  มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Manorifcin (มาโนริฟซิน) March Pharma
Ricin (ไรซิน) Atlantic Lab
Rifacin-A (ไรฟาซิน-เอ) Utopian
Rifadin (ไรฟาดิน) sanofi-aventis
Rifagen (ไรฟาเจน) General Drugs House
Rifam (ไรแฟม) Siam Bheasach
Rifamcin (ไรแฟมซิน) Pond’s Chemical
Rifam-P (ไรแฟม-พี) P P Lab
Rifampicin Acdhon (ไรแฟมพิซิน แอคฮอน) Acdhon
Rifampicin GPO (ไรแฟมพิซิน จีพีโอ) GPO
Rimaccin (ไรแมคซิน) Chinta
Rimecin (ไรเมซิน) Pharmasant Lab
Ripin (ไรพิน) Picco Pharma

 

บรรณานุกรม

1  https://www.merckmanuals.com/professional/infectious-diseases/bacteria-and-antibacterial-drugs/rifamycins  [2021,Dec11]

2   https://en.wikipedia.org/wiki/Rifapentine   [2021,Dec11]

3   https://www.drugs.com/drug-class/rifamycin-derivatives.html   [2021,Dec11]

4  http://dmsic.moph.go.th/dmsic/admin/files/userfiles/files/essential_book_56.pdf  [2021,Dec11]

5   https://www.mims.com/Hongkong/drug/info/Xifaxan/?type=brief  [2021,Dec11]

6   https://www.mims.com/Hongkong/drug/info/Xifaxan/   [2021,Dec11]

7   https://www.drugs.com/drug-interactions/harvoni-with-rifaximin-3567-16903-2014-0.html  [2021,Dec11]