ไรฝุ่นเล็กๆ ก่อเหตุใหญ่ๆ (ตอนที่ 3)

ไรฝุ่นเล็กๆก่อเหตุใหญ่ๆ

สำหรับการทดสอบและวินิจฉัยโรค อาจทำโดย

  • การสอบถามถึงช่วงเวลาที่เกิดอาการบ่อยๆ เช่น ตอนเข้านอน ตอนทำความสะอาด เป็นต้น
  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy skin test) ด้วยการจิ้มสารก่อภูมิแพ้ลงบริเวณท้องแขน (Forearm) หรือหลังส่วนบน (Upper back) แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที เพื่อดูปฏิกิริยาของร่างกาย เช่น อาการคันและแดง ซึ่งมักจะหายไปภายใน 30 นาที
  • การตรวจเลือด เพื่อดูสารภูมิต้านทาน (Antibodies) ซึ่งเป็นสารจำพวกโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นในกระแสเลือด มีคุณสมบัติในการต่อต้านทำลายเชื้อโรคหรือแอนติเจนที่เข้ามาในร่างกาย แอนติบอดีแต่ละชนิดที่ร่างกายผลิตขึ้นมานั้นจะมีผลทำลายเชื้อโรคหรือแอนติเจนเฉพาะอย่าง

การรักษาภูมิแพ้ไรฝุ่นอย่างแรก ก็คือ การหลีกเลี่ยงจากไรฝุ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้อาการแพ้ลดลง นอกจากนี้อาจต้องอาศัยการกินยาเพื่อควบคุมอาการ ซึ่งได้แก่

  • ยาแก้แพ้กลุ่มแอนติฮิสตามีน (Antihistamines) เพื่อลดการผลิตสารเคมีที่ใช้ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ยาชนิดนี้จะช่วยลดอาการคัน จาม และน้ำมูกไหล ตัวอย่างของยากินในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยา Fexofenadine ยา Loratadine ยา Cetirizine และยาพ่นจมูก เช่น ยา Azelastine และ ยา Olopatadine เป็นต้น
  • ยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์ (Corticosteroid) ซึ่งอาจอยู่ในรูปยาพ่นจมูกหรือยากิน ใช้เพื่อลดอาการอักเสบและควบคุมอาการของโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Hay fever) ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยา Fluticasone propionate ยา Mometasone furoate ยา Triamcinolone ยา Ciclesonide เป็นต้น
  • ยาลดน้ำมูกหรือยาลดอาการบวมของเนื้อเยื่ออ่อน (Decongestants) ซึ่งช่วยหายใจสะดวกขึ้น ทั้งนี้มีข้อควรระวังสำหรับยาชนิดนี้ที่ใช้กิน ก็คือ ทำให้ความดันโลหิตสูง

ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้เป็นต้อหิน (Glaucoma) ผู้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) และในผู้ที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตซึ่งจะทำให้อาการแย่ลง ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

นอกจากนี้หากเป็นยาพ่นจมูกแล้วก็ไม่ควรใช้เกิน 3 วันติดต่อกัน เพราะจะทำให้อาการบวมของจมูกแย่ลง

  • ยา Cromolyn sodium ซึ่งใช้พ่นจมูกวันละหลายครั้ง ช่วยป้องกันการหลั่งสารเคมีของระบบภูมิคุ้มกัน สามารถใช้ได้ผลดีก่อนที่จะเกิดอาการมากขึ้น ทั้งยังไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง
  • ยา Leukotriene modifiers ใช้สกัดปฏิกริยาของสารภูมิคุ้มกัน เช่น ยา Montelukast ซึ่งยานี้มีผลข้างเคียงต่อการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (Upper respiratory infection) ปวดศีรษะ เป็นไข้ หรือทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น วิตกกังวลเกินกว่าเหตุ (Anxiousness) หรือซึมเศร้าหดหู่ (Depression)

แหล่งข้อมูล

  1. Dust mite allergy. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dust-mites/basics/definition/con-20028330 [2014, November 13].