การศึกษาวิจัยครั้งใหญ่ ไม่พบสารก่อมะเร็งจากโทรศัพท์มือถือ

British Medical Journal ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ รายงานการศึกษาวิจัยครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการใช้โทรศัพท์มือถือระยะยาวกับความเสี่ยงที่สูงต่อการเกิดเนื้องอกสมอง นักวิจัยชาวเดนมาร์กไม่พบหลักฐานของความเสี่ยงที่สูงขึ้นในบรรดาผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 350,000 คน ซึ่งได้รับการเฝ้าติดตามเรื่องสุขภาพตลอด 18 ปีที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ การศึกษาวิจัยความเชื่อมโยงดังกล่าว ไม่สามารถสรุปผล เนื่องจากปราศจากข้อมูลที่ยาวนานพอ ดังนั้น ในเดือนมิถุนายน [ศกนี้] สำนักงานนานาชาติเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer; IARC) ขององค์การอนามัยโลก ได้ระบุว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้าของคลื่นความถี่วิทยุ (Radio-frequency electromagnetic fields) ที่แพร่กระจายโดยโทรศัพท์มือถือ อาจเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogenic) ในตัวคน

การศึกษาวิจัยครั้งใหม่นี้ เป็นการติดตามผลจากการศึกษาวิจัยครั้งที่แล้ว ซึ่งเปรียบเทียบความเสี่ยงของโรคมะเร็งที่ผู้ใช้โทรศัพท์ในเดนมาร์กทั้งหมดต้องเผชิญอยู่ (ประมาณ 420,000 คน) กับประชากรส่วนที่เหลือเฉพาะที่เป็นผู้ใหญ่ Patrizia Frei นักวิจัยหลังจบปริญญาเอก ณ สโมสรโรคมะเร็งแห่งเดนมาร์ก (Danish Cancer Society) และคณะ ได้ตรวจสองแฟ้มประวัติสุขภาพของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 358,403 ราย ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ถึง พ.ศ. 2550

ในภาพรวม เนื้องอกของระบบประสาทส่วนกลาง จำนวน 10,729 ชิ้น ได้รับการตรวจวิเคราะห์ แต่ผลปรากฏว่า อัตราการเกิดโรคมะเร็งในบรรดาผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลายาวนาน (13 ปี หรือมากกว่า) เกือบจะพอๆ กับผู้ที่มิได้ใช้โทรศัพท์มือถือ การศึกษาวิจัยสรุปได้ว่า “การขยาย [ระยะเวลา] เพื่อติดตามผล ทำให้เราสามารถค้นหาผลกระทบต่อผู้คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือมายาวนาน 10 ปีหรือมากกว่า ว่ามิได้มีส่วนสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากโรคมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม ผลจาการศึกษาวิจัยดังกล่าว มิได้พิสูจน์ความเป็นไปได้ว่า “ความเสี่ยงที่สูงขึ้นตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง” ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยๆ หรือใช้มายาวนานกว่า 15 ปี ทีมนักวิจัยกล่าวว่า “โอกาสแยกแยะผิดประเภทความเสี่ยงและความลำเอียงของการคัดเลือก [ตัวอย่าง] ในการศึกษาวิจัย จะลดลงด้วยการศึกษาจากจำนวนประชากรขนาดใหญ่ขึ้น”

Anders Ahlbom และ Maria Feychting จากสถาบันในสวีเดนที่ชื่อ Karolinska วิจารณ์ว่า หลักฐานใหม่เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้โทรศัพท์ แต่ก็เรียกร้องให้มีการเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่องในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ

ในปัจจุบัน มีผู้ใช้โทรศัพท์ประมาณ 5 พันล้านคนทั่วโลกตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังคงสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา พร้อมๆกับตัวเลขที่สูงขึ้นของเวลาถัวเฉลี่ยที่ใช้ไปกับการโทรศัพท์ สำนักงาน IARC มิได้ประกาศการเสนอแนะอย่างเป็นทางการ แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้แนะในเดือนมิถุนายน [ศกนี้] ถึงจำนวนวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่เป็นไปได้ต่อผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ

เขากล่าวว่า เนื้อหาข้อความและการใช้เครื่องช่วยมิให้ต้องถือโทรศัพท์ขณะใช้ (Hand-free set) จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโอกาสอันตรายจากการแผ่รังสีลงได้อย่างน้อย 10 เท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับโทรศัพท์ที่ต้องแนบกับใบหูขณะใช้

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ อาจทำให้คนไทยเราที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นประจำสบายใจได้ระดับหนึ่ง หลังจากที่ “คาใจ” มาหลายปีตั้งแต่มีจำหน่ายในท้องตลาด แต่ก็ยังสรุปไม่ได้เต็มปากว่า การใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยๆ ไม่มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการทำให้เกิดโรคมะเร็ง คงต้องติดตามการศึกษาวิจัยครั้งต่อไป มิฉะนั้น อาจ “ตายผ่อนส่ง” ไม่รู้ตัว

แหล่งข้อมูล:

  1. No link to cancer in large-scale mobile phone study. http://news.yahoo.com/no-cancer-large-scale-mobile-phone-study-223814537.html [October 25, 2011].