ไมโตแซนโทรน (Mitoxantrone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไมโตแซนโทรน (Mitoxantrone หรือ Mitozantrone หรือ Mitoxantrone hydrochloride หรือ Mitoxantrone HCl) อยู่ในกลุ่มยาเคมีบำบัด (Cytotoxic chemotherapy) ทางการแพทย์นำมาใช้รักษาโรคมะเร็งหลายชนิด อย่างเช่น มะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจาย(Metastatic breast cancer), มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล(Acute myeloid leukemia), มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin lymphoma) นอกจากนี้ ยาไมโตแซนโทรนยังได้รับการยืนยันว่า สามารถชะลอการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล(Acute lymphoblastic leukemia)ในเด็กได้อีกด้วย หรือการใช้ร่วมกับยา Prednisone ก็ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)มีการตอบสนองต่อการรักษาในแนวทางที่ดีขึ้น ยาไมโตแซนโทรนยังใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(Multiple sclerosis)อย่างได้ผล

เภสัชภัณฑ์ของยาไมโตแซนโทรน เป็นแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ตัวยาในกระแสเลือดจะถูกทำลายโดยตับ และจะอยู่ในร่างกายได้ยาวนานประมาณ 75 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ ตัวยาไมโตแซนโทรนจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยในกระบวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรม(DNA)ของเซลล์มะเร็ง ทำให้ชะลอการเจริญเติบโตและหยุดการแพร่ กระจายของเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดนี้เป็นเวลาแรมเดือน-ปีก็อาจเกิดความเสี่ยงมีภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นได้ ระหว่างทำการรักษาด้วยไมโตแซนโทรนแพทย์จึงต้องตรวจสอบสภาพการทำงานของหัวใจของผู้ป่วย ตลอดจนการทำงานของตับ และความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(CBC/ซีบีซี)ควบคู่กันไป

อาจสรุปข้อควรระวัง/ข้อห้ามเกี่ยวกับยาไมโตแซนโทรนได้ดังนี้ เช่น

  • ก่อนการใช้ยาไมโตแซนโทรน ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ถึงสภาพการทำงานของหัวใจ พร้อมกับซักถามประวัติการเคยเป็นโรคหัวใจมาก่อนหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ผู้ป่วยที่มีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ ก็ไม่สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้ ด้วยยาไมโตแซนโทรนสามารถกดการทำงานของไขกระดูก/กดไขกระดูก และส่งผลลดการผลิตเม็ดเลือดชนิดต่างๆของร่างกาย/ของไขกระดูกโดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวได้เช่นเดียวกัน
  • ยาไมโตแซนโทรนเป็นยาต้านมะเร็งก็จริง แต่ตัวยาเองก็อาจจะกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งบางประเภทตามมา เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Acute myeloid leukemia ดังนั้น การใช้ยานี้อย่างปลอดภัย ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์ และเฝ้าติดตามผลการรักษาตามแพทย์แนะนำ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งดังกล่าว
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ด้วยตัวยาไมโตแซนโทรนสามารถทำให้ทารกในครรภ์พิการ และผู้ป่วยที่เป็นสตรีที่จำเป็นต้องใช้ยานี้ จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์(การคุมกำเนิด)เช่นกัน ด้วยการตั้งครรภ์จะเกิดผลกระทบต่อร่างกายและต่อการรักษาโรคมะเร็ง หรือสตรีในภาวะให้นมบุตรที่ต้องรับการรักษาด้วยยานี้ก็ต้องหยุดให้นมบุตร แล้วใช้นมดัดแปลงเลี้ยงบุตรแทน
  • ขณะได้รับยาไมโตแซนโทรนอาจเกิดภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดบาดแผลตามร่างกาย หรือการแปรงฟัน แพทย์จะแนะนำให้ใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม เพื่อป้องกันการขัดถูที่อาจก่อให้เกิดเลือดออกตามเหงือกของผู้ป่วย
  • ขณะที่ใช้ยานี้ ห้ามฉีดวัคซีนป้องกันโรคใดๆ เพราะนอกจากจะไม่สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานให้ร่างกายได้แล้ว ยังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อจากวัคซีนดังกล่าว
  • ตัวยาไมโตแซนโทรน มีผลข้างเคียงทำให้ภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำลงจนเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เช่น ทอนซิลอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อไวรัสต่างๆ ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีประชาชนแออัด เช่น ศูนย์การค้า
  • สำหรับผู้สูงอายุ จะมีความเสี่ยงต่อการแพ้ยานี้ หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา ไมโตแซนโทรนนี้ มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาไมโตแซนโทรน ปัสสาวะจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้าอมเขียว ซึ่งเป็นผลจากตัวยาที่ถูกขับทิ้งมากับปัสสาวะ ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลหรือแก้ไขแต่อย่างใด เพราะอาการเหล่านี้จะกลับมาเป็นปกติหลังจากได้รับยาไปแล้ว 24 ชั่วโมง
  • อาจเกิดภาวะม่านตามีสีฟ้าจางๆ ซึ่งเป็นผลของยาไมโตแซนโทรนเช่นกัน ผู้ป่วยไม่ต้องวิตกกังวล อาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อหมดฤทธิ์ของยานี้
  • กรณีเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)อย่างรุนแรง เช่น ถ่ายเหลว/ท้องเสียเป็นปริมาณมาก ปวดหลัง อ่อนเพลีย มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด/โรคหวัด/ไข้หวัดใหญ่หรือผมร่วง ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อแพทย์พิจารณษปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสม
  • หลังได้รับยานี้ แล้วอาการป่วยมะเร็งไม่ดีขึ้นตามความคาดหมาย ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยห้ามหยุดการรักษาไปเฉยๆ เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • การจะรับประทานยาอื่นใดร่วมด้วยขณะที่ได้รับยาไมโตแซนโทรน จะต้องได้รับการยืนยันจากแพทย์ก่อนทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • มาโรงพยาบาลเพื่อ รับการตรวจร่างกาย รับการให้ยา ตรวจสอบการทำงานของหัวใจ เข้ารับการตรวจเลือด เช่น ซีบีซี และ การทำงานของตับ ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

ยาไมโตแซนโทรนที่จำหน่ายอยู่ในประเทศไทย มี 2-3 ยาชื่อการค้า และจัดเป็นหนึ่งในรายการยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยระบุเงื่อนไขการใช้ยานี้ดังนี้

1. ใช้สำหรับมะเร็ง Acute myeloid leukemia และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

2. ใช้สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาฮอร์โมน

อนึ่ง ตามกฎหมายยาของไทย ได้กำหนดให้ยาไมโตแซนโทรนเป็นยาควบคุมพิเศษ การใช้ยานี้ต้องมีใบสั่งจากแพทย์ และจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถาน พยาบาลเท่านั้น

ไมโตแซนโทรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไมโตแซนโทรน

ยาไมโตแซนโทรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมถึงมะเร็งตับ
  • รักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ไมโตแซนโทรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไมโตแซนโทรน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อว่า Type II topoisomerase เอนไซม์นี้เป็นกลไกสำคัญในการสังเคราะห์และซ่อมแซมสารพันธุกรรม(DNA) ทั้งในเซลล์ปกติของร่างกายและรวมถึงเซลล์มะเร็งด้วย จากกลไกยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าวทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเจริญเติบโตและไม่สามารถแพร่กระจายต่อ ด้วยกระบวนการที่กล่าวมาทั้งหมดจึงก่อให้เกิดฤทธิ์รักษาโรคมะเร็งได้ตามสรรพคุณ

สำหรับโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ซึ่งมีสาเหตุจากเม็ดเลือดขาวเข้าเล่นงานระบบประสาท การใช้ยาไมโตแซนโทรนจะช่วยยับยั้งการทำงานของเม็ดเลือดขาวทั้งชนิด T cell , B cell, และ Macrophages ไม่ให้เข้าทำลายระบบประสาทของผู้ป่วย ด้วยกลไกนี้เองจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งตามมา

ไมโตแซนโทรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไมโตแซนโทรน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา Mitoxantrone HCl ขนาด 10 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร และขนาด 20 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร

ไมโตแซนโทรนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไมโตแซนโทรนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล (Acute myeloid leukaemia):

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยใช้เวลา 5–15 นาที และมีขนาดการใช้ยาที่ 12 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร/วัน ให้ใช้ยาติดต่อกันเป็น เวลา 5 วัน โดยวันที่ 1-3 ให้ใช้ร่วมกับยา Cytarabine (ยาเคมีบำบัดอีกชนิดหนึ่ง)

ข. สำหรับมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งตับ:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 14 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร กรณีที่ผู้ป่วยมีความอ่อนแอกว่าปกติ อาจลดขนาดยาลงเป็น 12 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร หรือใช้ร่วมรักษากับยารักษามะเร็งอื่น อาจลดขนาดการให้ยาไมโตแซนโทรนเป็น 10–12 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร และแพทย์จะนัดให้ผู้ป่วยมารับยาทุกๆ 3 สัปดาห์

ค. สำหรับโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง:

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยใช้เวลา 5–15 นาที โดยมีขนาดการใช้ยาที่ 12 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร ทุก 3 เดือน

อนึ่ง:

  • การให้ยานี้ ควรใช้ลักษณะหยดเข้าหลอดเลือดดำ ห้ามฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าไขสันหลังโดยเด็ดขาด
  • ระวังการเกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อหัวใจ ด้วยยานี้สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
  • การใช้ยานี้รักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง ในการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอลในระยะที่สองได้ (Secondary acute myeloid leukemia) ผู้ป่วยจึงควรมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัดหมายเป็นประจำ
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในการรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งในระยะกำลังมีการลุกลาม(Primary progressive multiple sclerosis)
  • หลังจากได้รับยานี้ ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะเป็นสีฟ้า-เขียว หรือเยื่อตาออกสีฟ้า อาการนี้จะอยู่นานประมาณ 24 ชั่วโมงแล้วจะค่อยๆจางหายไป
  • เด็ก: ขนาดการใช้ยานี้ในเด็ก จะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไมโตแซนโทรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไมโตแซนโทรน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาไมโตแซนโทรนตามแพทย์นัดได้ ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อ แพทย์ พยาบาล ผู้ที่ทำการดูแลรักษา เพื่อทำการนัดหมายมารับการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว

ไมโตแซนโทรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไมโตแซนโทรนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตา เช่น ม่านตามีสีฟ้า แต่อาการนี้สามารถหายได้เอง
  • ผลต่อการเกิดโรคมะเร็ง เช่น กรณีใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล แต่ก็พบได้น้อยมาก
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อ เช่น ปวดหลัง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ เช่น ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการซึม
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง
  • ผลต่อระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน อาจเกิดภาวะความรู้สึกสัมผัสเพี้ยนได้บ้าง
  • ผลต่อผิวหนัง เช่น เกิดภาวะผมร่วง แต่เส้นผมสามารถคืนสภาพและงอกใหม่ได้หลังหยุดยานี้ มีผื่นคัน ลมพิษ เล็บมีสีคล้ำหรือเกิดเล็บหลุด บริเวณที่ฉีดยาเกิดอาการหลอดเลือดดำอักเสบและมีสีคล้ำแต่อาการจะค่อยๆจางหายได้เอง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะมีสีฟ้าอมเขียว
  • ผลต่อระบบเลือด เช่น เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ กดไขกระดูก โลหิตจาง
  • ผลต่อตับ เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ระดับบิลิรูบินในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น น้ำตาลในเลือดสูง โปแตสเซียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อไต เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดสูง ระดับยูเรียในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ/ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน คออักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • ต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลงจนอาจเกิดการติดเชื้อต่างๆได้ง่าย เช่น ทอนซิลอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ติดเชื้อไวรัสง่าย เกิดเชื้อราที่ผิวหนัง

มีข้อควรระวังการใช้ไมโตแซนโทรนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไมโตแซนโทรน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ขณะฉีดยานี้ต้องระวังการแทงเข็มทะลุออกนอกหลอดเลือด ด้วยตัวยาสามารถก่อให้เกิดอันตราย/การอักเสบกับเนื้อเยื่อที่มีการสัมผัสกับตัวยานี้ได้
  • ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินควบคุมการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายจากแพทย์ตามแพทย์สั่งหลังได้รับยาไมโตแซนโทรน เช่น การทำงานของ หัวใจ ตับ และของระบบเลือด
  • กรณีมีอาการวิงเวียนหลังจากรับการฉีดยาไมโตแซนโทรน ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะทุกชนิด รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆ ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมารับการให้ยานี้/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไมโตแซนโทรนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไมโตแซนโทรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไมโตแซนโทรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาไมโตแซนโทรนร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ(Smallpox vaccine) วัคซีนป้องกันวัณโรค(BCG) เพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อฝีดาษ หรือเชื้อวัณโรค จากวัคซีนนั้นๆได้ จากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วยที่ได้รับยาไมโตแซนโทรนจะอยู่ในภาวะอ่อนแอ
  • ห้ามใช้ยาไมโตแซนโทรนร่วมกับยา Adalimumab (ยาMonoclonal antibody) เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้อย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาไมโตแซนโทรนร่วมกับยา Clozapine เพราะจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไมโตแซนโทรนร่วมกับยา Dolasetron เพราะจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติตามมา

ควรเก็บรักษาไมโตแซนโทรนอย่างไร?

ควรเก็บยาไมโตแซนโทรน ในช่วงอุณหภูมิ 15-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไมโตแซนโทรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไมโตแซนโทรน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Mitoxantrone Baxter (ไมโตแซนโทรน แบ็กซ์เตอร์) Baxter Healthcare
Mitoxantron Ebewe (ไมโตแซนโทรน เอบิว)EBEWE Pharma
NOVANTRONE (โนแวนโทรน)EMD Serono

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/mitoxantrone/?type=brief&mtype=generic [2017,Nov4]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/mitoxantrone%20baxter/?type=brief [2017,Nov4]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=Mitoxantrone [2017,Nov4]
  4. https://www.drugs.com/pro/mitoxantrone.html [2017,Nov4]
  5. https://www.drugs.com/cdi/mitoxantrone.html [2017,Nov4]
  6. https://www.drugs.com/dosage/mitoxantrone.html [2017,Nov4]
  7. https://www.drugs.com/sfx/mitoxantrone-side-effects.html [2017,Nov4]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/mitoxantrone-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Nov4]
  9. https://www.drugs.com/dosage/mitoxantrone.html#Usual_Adult_Dose_for_Prostate_Cancer [2017,Nov4]
  10. https://en.wikipedia.org/wiki/Mitoxantrone [2017,Nov4] https://www.old.health.gov.il/units/pharmacy/trufot/alonim/789.pdf [2017,Nov4]
  11. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/019297s030s031lbl.pdf [2017,Nov4]
  12. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/086/11.PDF [2017,Nov4]