ไมโซพรอสทอล (Misoprostol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาไมโซพรอสทอล (Misoprostol) คือ ยาที่อยู่ในกลุ่มโพรสตาแกลนดิน อี (Prostagladin E, สารที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวของหลอดเลือดและระบบประสาทอัตโนมัติ) ชนิดสังเคราะห์ และนำมาใช้รักษาและป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร, รักษาภาวะตกเลือดหลังคลอดและช่วยเร่งการคลอด, ผลข้างเคียงที่เห็นเด่นชัดของยานี้ได้แก่ เกิดอาการท้องเสีย, ปวดในช่องท้อง เป็นต้น

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่พบเห็นได้จะเป็นยารับประทาน, ยาเหน็บทวาร, และยาอมใต้ลิ้น

จากการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยาในร่างกายมนุษย์พบว่า หลังดูดซึมเข้ากระแสเลือดตัวยาจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 80 - 90% และถูกส่งไปเปลี่ยนแปลงโครง สร้างทางเคมีโดยตับอย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 20 - 40 นาทีเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ อนึ่ง เคยมีการแอบซื้อ – ขายยาไมโซพรอสทอลเพื่อนำไปใช้ทำแท้ง

ปัจจุบันกฎหมายไทยจัดให้ไมโซพรอสทอลเป็นยาควบคุมพิเศษ โดยจะมีใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ไมโซพรอสทอลเป็นยาจำเป็นขั้นพื้น ฐานที่สถานพยาบาลต้องมีสำรองจ่ายให้กับผู้ป่วยเป็นกรณีไป สำหรับประเทศไทยเราจะพบเห็นการจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Cytotec”

ไมโซพรอสทอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไมโซพรอสทอล

ยาไมโซพรอสทอลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ใช้ร่วมกับยาต้านการอักเสบกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เพื่อป้องกันการเกิดแผลในทางเดินอาหาร
  • ใช้เป็นยาร่วมระหว่างการผ่าตัด เพื่อยุติการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก
  • ใช้ยุติการตั้งครรภ์ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การใช้ยายุติการตั้งครรภ์) ในช่วงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 49 วัน
  • ใช้ในการเร่งคลอดกรณีที่ทารกเสียชีวิตในครรภ์มารดารักษาภาวะตกเลือดหลังคลอด

ไมโซพรอสทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ที่ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร - ลำไส้คือ ยาไมโซพรอสทอลจะออกฤทธิ์ต่อเซลล์ในผนังของกระเพาะอาหารที่มีชื่อว่าParietal cell จนเกิดกลไกยับยั้งการหลั่งกรดและส่งผลให้แผลในกระเพาะอาหาร - ลำไส้มีอาการดีขึ้นตามลำดับ

สำหรับกลไกการออกฤทธิ์เพื่อยุติการตั้งครรภ์ ยาไมโซพรอสทอลจะส่งผลให้มดลูกเกิดการบีบรัดและหดตัวจนเป็นผลให้เกิดการเร่งคลอดตามมา

ไมโซพรอสทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไมโซพรอสทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 200 ไมโครกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น
    • Diclofenac sodium 50 มิลลิกรัม + Misoprostol 200 ไมโครกรัม/เม็ด
    • Diclofenac sodium 75 มิลลิกรัม + Misoprostol 200 ไมโครกรัม/เม็ด

ไมโซพรอสทอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาไมโซพรอสทอลจะขึ้นกับชนิดโรค-อาการ-ภาวะของผู้ป่วย โดยจะอยู่ในดุลพินิจการใช้ยาของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดใช้ยานี้

  • สำหรับรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้: เช่น
    • ผู้ใหญ่: รับประทาน 800 ไมโครกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน 2 - 4 ครั้ง/วันเป็นเวลา 4 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ และควรรับประทานยาพร้อมอาหาร
    • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดรับประทานของเด็กในทางคลีนิกยังไม่มีการจัดทำ การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไมโซพรอสทอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไมโซพรอสทอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไมโซพรอสทอลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไมโซพรอสทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไมโซพรอสทอลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ท้องเสีย
  • ปวดท้อง
  • อาหารไม่ย่อย
  • ท้องผูก
  • ท้องอืด
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • เป็นตะคริว
  • อาจมีเลือดออกจากช่องคลอดจากเพิ่มการบีบตัวของมดลูก
  • ปวดหัว

อนึ่ง* สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะพบอาการ ซึม/ไม่ตื่นตัว ตัวสั่น ชัก ปวดท้อง ท้องเสีย ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ หากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ไมโซพรอสทอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ไมโซพรอสทอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ด้วยจะกระตุ้นการเร่งคลอด
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรด้วยยานี้จะถูกขับออกมากับน้ำนมมารดา
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ, ผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง/ อัมพาต, ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะขาดน้ำ, ผู้สูงอายุ, และผู้ป่วยโรคไต
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไมโซพรอสทอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไมโซพรอสทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไมโซพรอสทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไมโซพรอสทอล ร่วมกับ ยาลดกรดที่มี Magnesium เป็นองค์ประกอบ เช่นยา Magnesium hydroxide จะเพิ่มฤทธิ์ยาไมโซพรอสทอลทำให้ท้องเสียมากยิ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไมโซพรอสทอล ร่วมกับ ยา Oxytocin (ยาช่วยการบีบตัวของมดลูก) จะทำให้ฤทธิ์ของ Oxytocin เพิ่มมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะ สมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาไมโซพรอสทอลอย่างไร?

ควรเก็บยาไมโซพรอสทอล:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาบรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไมโซพรอสทอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไมโซพรอสทอล มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cytotec (ไซโตเทค) JPfizer
Arthrotec (อาร์โทรเทค) GD Searle LLC

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Misoprostol [2021,June5]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cytotec/?type=brief [2021,June5]
  3. https://www.mims.com/india/drug/info/misoprostol?type=full&mtype=generic [2021,June5]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=misoprostol [2021,June5]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/arthrotec [2021,June5]
  6. https://www.drugs.com/pro/misoprostol.html [2021,June5]
  7. https://www.drugs.com/pro/cytotec.html#clinical_pharmacology_clinical [2021,June5]