ไมเกรนอาจก่อโรคร้าย (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

ท่านสามารถป้องกันการเกิดไมเกรนได้ ด้วยการสังเกตว่าสิ่งใดที่กระตุ้นให้เกิดอาการ แล้วพยายามหาทางหลีกเลี่ยงเสีย ท่านอาจใช้วิธีการจดบันทึกถึงประวัติการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นได้ การตระหนักถึงอาหารชนิดที่กินแล้วทำให้เกิดไมเกรนและการปรับเปลี่ยนอาหารจะช่วยป้องกันการเกิดไมเกรนในอนาคตได้

การจัดการกับความเครียดและการฝึกผ่อนคลาย สามารถช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของไมเกรนได้ ผู้หญิงที่มักจะมีไมเกรนเมื่อเวลามีรอบเดือน อาจใช้วิธีการป้องกันก่อนเมื่อใกล้จะถึงเวลานั้น การกินให้ตรงเวลา การพักผ่อนให้พอเพียง และการออกกำลังกาย (พอประมาณ) เป็นประจำ สามารถช่วยป้องกันการเกิดไมเกรนได้

จากสถิติการเป็นไมเกรน มีการประเมินว่าร้อยละ 70 ของผู้เป็นไมเกรนเป็นผู้หญิง โดยร้อยละ 60 - 70 ของหญิงเหล่านี้จะเป็นไมเกรนในช่วงที่มีรอบเดือน ซึ่งเรียกว่า (Menstrual migraine)

การปวดศีรษะในผู้หญิงโดยเฉพาะไมเกรนมีความสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะตกลงอย่างมากเมื่อเริ่มมีประจำเดือนในแต่ละเดือน

ไมเกรนมักจะหายไปในช่วงที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งกล่าวว่า ร้อยละ 64 ของผู้หญิงที่เป็นไมเกรนมีความเกี่ยวเนื่องกับการมีรอบเดือน โดยสังเกตว่าไมเกรนจะหายไปในช่วงที่ตั้งครรภ์ อย่างไรก็ดีมีผู้หญิงบางคนที่กล่าวว่า เธอยังคงมีอาการไมเกรนอยู่ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งไมเกรนมักจะหายไปหลังจากเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์

การรักษาผู้เป็นไมเกรนที่เกี่ยวเนื่องกับการมีรอบเดือนนั้น ทำโดยการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory medications : NSAIDs) โดยใช้ล่วงหน้า 2 - 3 วันก่อนการมีประจำเดือนและใช้ไปจนกระทั่งประจำเดือนหมด เนื่องจากเป็นการใช้ยารักษาในระยะเวลาสั้นๆ จึงมีผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เพียงเล็กน้อย

สำหรับผู้ที่เป็นไมเกรนที่สัมพันธ์กับการมีรอบเดือนแบบรุนแรง หรือผู้ที่ต้องการใช้ยาคุมกำเนิดต่อไป แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยา NSAIDs โดยเริ่มจากวันที่ 19 ของแต่ละรอบเดือนและใช้ไปจนถึงวันที่ 2 ของรอบเดือนถัดไป

นอกจากการใช้ยา NSAIDs แล้ว อาจใช้ยา Ergotamine ยา Propranolol ยา Valproate ยา Verapamil ทั้งนี้ต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์เท่านั้น โดยจะต้องกินยาล่วงหน้า 2 - 3 วันก่อนมีรอบเดือนและกินไปจนกว่าประจำเดือนจะหมด

และเนื่องจากระดับของเหลวในร่างกายมักจะสัมพันธ์กับการมีรอบเดือน แพทย์อาจให้ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เพื่อป้องกันการเกิดไมเกรนที่สัมพันธ์กับการมีรอบเดือน หรืออาจแนะนำให้ลดปริมาณเกลือที่กินก่อนการเริ่มมีรอบเดือน

ส่วนผู้หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์นั้น การใช้ยารักษาไมเกรนอาจมีผลกระทบต่อทารก ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเป็นอย่างยิ่ง

แหล่งข้อมูล

  1. Migraines and Headaches. http://www.webmd.com/migraines-headaches/guide/migraines-headaches-migraines [2013, March 27].
  2. Migraines, Headaches, and Hormones. http://www.webmd.com/migraines-headaches/guide/hormones-headaches [2013, March 27].