ไมเกรนอาจก่อโรคร้าย (ตอนที่ 2)

เชื่อว่าจุดกำเนิดของการปวดไมเกรนอยู่ในสมอง ซึ่งเริ่มต้นด้วยเซลล์ประสาทที่เร้ามากเกินไป (Hyperactive nerve cells) ส่งแรงกระตุ้นไปยังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดรัดตัวหรือตีบ ตามด้วยการขยายตัวของหลอดเลือด และมีการปล่อยสารต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของความเจ็บปวด เช่น โพรสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) เซอโรโทนิน (Serotonin) และสารกระตุ้นให้เกิดการอักเสบต่อเนื้อเยื่อต่างๆ (Inflammatory substances) อื่นๆ

บางคนอาจมีอาการเตือนก่อนเป็นไมเกรนที่เรียกว่า “Aura” ซึ่งรวมถึง ความผิดปกติทางสายตา ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าอาการปวดศีรษะที่เลวร้ายกำลังจะเกิดขึ้น

ไมเกรนส่วนใหญ่ถูกกระตุ้นโดยปัจจัยภายนอก เช่น

  • อารมณ์ความเครียด (Emotional stress) - เป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดไมเกรนมากที่สุด ระหว่างที่เครียดสารเคมีบางอย่างในสมองจะถูกปล่อยออกมาเพื่อกำจัดความเครียด ซึ่งสารเคมีนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของไมเกรน การเก็บกดความเครียด เช่น การกระวนกระวายใจ ตื่นเต้น และความอ่อนเพลียสามารถทำให้กล้ามเนื้อตึงมากขึ้น การขยายตัวของหลอดเลือดก็สามารถทำให้ไมเกรนรุนแรงมากขึ้น
  • ความไวต่อสารเคมีบางอย่างหรือสารกันบูดในอาหาร – อาหารและเครื่องดื่ม เช่น เนย (Aged cheese) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารปรุงแต่งอาหาร เช่น ไนเตรท (ที่ใส่ในไส้กรอก ฮอตด็อก เนื้อ) และผงชูรส (Monosodium glutamate : MSG) อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้ถึงร้อยละ 30
  • คาเฟอีน – ปริมาณคาเฟอีนที่บริโภคมากเกิน หรือการเลิกกินคาเฟอีนอย่างทันทีสามารถเป็นสาเหตุให้ปวดศีรษะได้ หลอดเลือดมักจะมีปฏิกิริยาต่อคาเฟอีน หากคาเฟอีนไม่ได้ถูกย่อยก็อาจทำให้ปวดศีรษะได้
  • อากาศที่เปลี่ยนแปลง – พายุ ความกดดันของบรรยากาศที่แปรปรวน ลมแรง หรือการเปลี่ยนในระดับความสูงก็อาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงที่มีประจำเดือน
  • การอ่อนเพลียมากเกินไป
  • การอดอาหาร
  • การนอนไม่เป็นเวลา

นอกจากนี้ก็อาจมีโรคบางชนิดที่มักเกิดร่วมกับไมเกรนด้วย เช่น

  • โรคหอบหืด (Asthma)
  • อาการอ่อนเพลียอย่างต่อเนื่อง
  • ความดันโลหิตสูง
  • อาการหดตัวของเส้นเลือด ทำให้เกิดอาการปวดและขาดเลือด ที่เรียกว่า Raynaud's phenomenon ซึ่งมักเกิดที่บริเวณนิ้วมือ
  • เส้นเลือดอุดตันในสมอง (Stroke)
  • มีความผิดปกติด้านการนอน (Sleep Disorders)

แหล่งข้อมูล

  1. Migraine. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0001728/ [2013, March 23].
  2. Migraines and Headaches. http://www.webmd.com/migraines-headaches/guide/migraines-headaches-migraines [2013, March 23].