ไฟโบรมัยอัลเจีย:กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน (Fibromyalgia)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

“ปวดทั่วสรรพางค์กาย” ผมได้ยินผู้ป่วยพูดคำนี้ตกใจครับ ว่ามีโรคอะไรที่ทำให้ผู้ป่วยปวดทั่วร่างกาย ตรงไหนๆก็เจ็บปวดไปหมด ผมเริ่มค้นคว้าโรคนี้แล้วพบว่า “โรค Fibromyalgia” ที่ไม่มีชื่อภาษาไทย (ผมขอแปลว่า “โรค/กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็นและเนื้อเยื่ออ่อน”) น่าจะเป็นโรคที่ผู้ป่วยรายนี้บอกว่า “ปวดทั่วสรรพางค์กาย” ลองติดตามดูว่า คือโรคอะไร มีอาการอย่างไร และจะรักษาหายหรือไม่

โรคไฟโบรมัยอัลเจียคืออะไร?

ไฟโบรมัยอัลเจีย

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย คือ โรค/กลุ่มอาการที่มีการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อ เยื่ออ่อน (Soft fibrous tissue) ทั่วสรรพางค์กาย/ทั่วร่างกาย (Widespread musculoskeletal pain) โดยอาการเจ็บปวดนั้นจะมีลักษณะสำคัญ คือ

  • เจ็บปวดรุนแรงมากกว่าปกติเมื่อถูกกระตุ้น (เช่น จากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม) ซึ่งในภาวะปกติจะไม่มีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้น (เรียกอาการนี้ว่า Allodynia)
  • และมีอาการเจ็บปวดที่มากเกินภาวะปกติที่ควรปวดเมื่อถูกทำให้ปวด (เรียกอาการนี้ว่า Hyperalgesia)

อนึ่ง โรคนี้พบบ่อย พบประมาณ 4% ของประชากรทั้งหมด โดยพบในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย และพบบ่อยในวัยกลางคนและในผู้สูงอายุ

โรคไฟโบรมัยอัลเจียมีสาเหตุเกิดได้อย่างไร?

สาเหตุเกิดโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ยังไม่ทราบแน่นอน สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากปัจจัยทางจิตใจ ร่างกาย และสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เพราะผู้ป่วยบางรายจะมีอาการหลังจากมีเหตุการณ์กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น

  • ติดเชื้อไวรัส หรือ แบคทีเรีย
  • หรือหลังการเจ็บป่วยจากเหตุอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง
  • ร่วมกับ(ผู้ป่วยส่วนหนึ่ง) จะพบ
    • มีภาวะทางจิตใจผิดปกติ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า
    • มีความผิดปกติของการนอน (นอนไม่หลับ)
    • และมีการรับรู้ความเจ็บปวดที่ผิดไป คือ ตอบสนองต่อการเจ็บปวดไวกว่าปกติ

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไฟโบรมัยอัลเจีย?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ คือ

  • เพศหญิง
  • ผู้ที่มีปัญหาในการนอนหลับ และ
  • ผู้มีความเครียดสูง

โรคไฟโบรมัยอัลเจียมีอาการอย่างไร? อะไรกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้น?

ลักษณะอาการสำคัญของไฟโบรมัยอัลเจีย คือ

  • มีการปวดทั่วร่างกาย
  • และ เป็นการปวดลักษณะที่รุนแรงกว่าปกติอย่างมาก ผู้ป่วยจะบ่นว่าปวดเหมือนกล้ามเนื้อถูกดึงหรือตึง เหมือนใช้งานมาอย่างหนัก ปวดเหมือนถูกเหยียบระบมทั้งตัว บางครั้งปวดจนเหมือนคนหมดแรง
  • และบาง ครั้งมีกล้ามเนื้อกระตุก

นอกจากนั้น อาการอื่นที่พบร่วมด้วยบ่อย และมักเป็นอาการเรื้อรัง คือ

  • ปัญหาการนอนไม่หลับ
  • อ่อนเพลีย
  • มีอาการฝืดตึงตามร่างกายและข้อ โดยเฉพาะหลังตื่นนอน
  • ตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น เหมือนพักผ่อนไม่เพียง
  • พอตื่นขึ้นมาแล้วอ่อนเพลีย ง่วงนอนตอนกลางวัน
  • บางครั้งมีความรู้สึก ข้อมือ ข้อเท้าบวม
  • มีอาการไวต่อสิ่งเร้า เช่น แสง เสียง รสชาติ อุณหภูมิ การสัมผัส
  • ปวดศีรษะช่วงเช้า
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ปวดท้องเรื้อรัง
  • ท้องเสียง่าย

*ทั้งนี้ ปัจจัย/ตัวกระตุ้นที่ทำให้อาการรุนแรงขึ้นที่พบบ่อย เช่น

  • การมีปัญหาทางอารมณ์ เช่น อารมณ์ไม่ดี ความเครียด
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • และอากาศที่เปลี่ยนแปลง

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ถ้าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ที่รุนแรง ควรต้องไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพื่อแพทย์ให้การวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

อาการที่รุนแรง เช่น

  • ปวดมากไปทั้งตัว
  • ปวดจนส่งผลต่อการนอนหลับ
  • ปวดจนส่งผลต่อต่อการทำงาน
  • และปวดจนส่งผลต่อการดำรงชีวิต

แพทย์วินิจฉัยโรคไฟโบรมัยอัลเจียได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคนี้ โดยจะพิจารณาจากอาการที่ผู้ป่วยบอกเล่า ซึ่งมักมีอาการนานมาก กว่า 3 เดือน ร่วมกับการตรวจร่างกาย พบจุดกดเจ็บ 11 จาก 18 จุด

  • ด้านหน้า 8 จุด คือ ด้านซ้ายและด้านขวาของ ลำคอ หน้าอกส่วนบน เหนือข้อพับแขน และเหนือหัวเข่า
  • ด้านหลัง 10 จุด คือ ด้านซ้ายและด้านขวาของ คอ เหนือสะบัก (หลังส่วนบน) ข้างละ 2 จุด ด้านหลังตอนล่าง และโคนขา

โดยอาการปวดนั้น เกิดเมื่อแรงกดด้วยนิ้ว ความแรงเพียงแค่ที่ทำให้เล็บส่วนปลายซีดขาวเท่า นั้น และจะต้องมีจุดกดเจ็บทั้ง 4 บริเวณ คือ ซ้าย ขวา เหนือและต่ำกว่าเอว นอกจากนั้น ยังต้องมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อกลางลำตัวคือ คอ หน้าอก หลังส่วนบน และหลังส่วนล่างร่วมด้วย และถ้าพบร่วมกับอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวข้างต้นใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ร่วมด้วย จะทำให้การวินิจฉัย แม่นยำขึ้น

อนึ่ง โดยทั่วไป โรคนี้จะตรวจเลือดหรือเอกซเรย์ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ แต่บางครั้งแพทย์ต้องส่งตรวจเลือด และ/หรือการตรวจทางเอกซเรย์เพิ่มเติม เพราะอาการผู้ป่วยอาจใกล้ เคียงกับโรคอื่นๆ ดังนั้น ถ้าแพทย์มั่นใจในการวินิจฉัยเนื่องจากอาการชัดเจน ก็จะไม่มีความจำ เป็นต้องส่งตรวจอื่นๆเพิ่มเติม จากประวัติทางการแพทย์และการตรวจร่างกาย

โรคไฟโบรมัยอัลเจียต่างจากลุ่มอาการความล้าเรื้อรังอย่างไร?

ไฟโบรมัยอัลเจีย และ กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง:โรคซีเอฟเอส (Chronic-fatigue syn drome:CFS) มีอาการคล้ายกันมาก การวินิจฉัยต้องใช้เกณฑ์การวินิจฉัยของแต่ละโรค ซึ่งกลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง มีเกณฑ์การวินิจฉัย ดังนี้

  • มีอาการอ่อนเพลียนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป อ่อนเพลียจนส่งผลต่อการทำงาน เรียนหนัง สือ หรือการทำกิจวัตรประจำวัน
  • มีอาการดังต่อไปนี้ 4 ข้อขึ้นไป นานมากกว่า 6 เดือน
    • เจ็บคอ
    • กดเจ็บ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้
    • ปวดกล้ามเนื้อ
    • ปวดข้อต่อหลายข้อ
    • ปวดศีรษะ
    • ไม่สดชื่นหลังตื่นนอน
    • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย
    • ความจำลดลง

      *อนึ่ง นอกจากกลุ่มอาการความล้าเรื้อรังแล้ว ยังมีโรคอื่นๆที่มีอาการคล้ายกับโรคไฟโบรมัยอัลเจียได้ เช่น

  • โรค เอสแอลอี (Systemic lupus erythematosus: SLE)
  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • ผลข้างเคียงจากยา/ อาการไม่พึงประสงค์จากยา บางชนิด (เช่น ยาลดไขมันในเลือด ยาต้านไวรัส) โรคไวรัสตับอักเสบชนิดเรื้อรัง โรค Polymyalgia rheumatica ภาวะพึ่งสเตียรอยด์/ภาวะขาดยาสเตีย รอยด์ไม่ได้ (Steroid dependent) และโรคมะเร็ง

รักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจียอย่างไร?

การรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ต้องแก้ไขที่สาเหตุ/ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นใน ‘หัวข้อ สา เหตุฯ’ คือ

  • การดูแล ด้านจิตใจ ร่างกาย และสิ่งแวดล้อม คือ ต้องเข้าใจสภาวะจิตใจของผู้ป่วย และถนอมน้ำใจผู้ป่วย
  • ต้องให้เวลากับผู้ป่วย และสร้างบรรยากาศ (จัดสิ่งแวดล้อม) ที่ทำให้ผู้ ป่วยผ่อนคลาย สบายที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ร้อน หนาวอย่างรวดเร็ว
  • ไม่มีเสียงดัง แดดจ้า หรือแสงการสะท้อนต่างๆ
  • มีการออกกำลังกายที่เหมาะสม
  • มีการทำกายภาพบำบัด
  • และการใช้ยาต่างๆตามอาการ เช่น
    • ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการปวด
    • ยารักษาปัญหาการนอนไม่หลับ/ ยานอนหลับ
    • ยาดูแลรักษาในเรื่องอารมณ์ (ยาที่ใช้ เช่น ยาต้านเศร้า)
    • และยาคลายกล้ามเนื้อ
    • แต่ยาในกลุ่ม สเตียรอยด์จะไม่ได้ผลในการรักษา

โรคไฟโบรมัยอัลเจียมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค หรือผลการรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นกับปัจจัยส่วนบุคคลนั้นๆ เช่น

  • การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  • การควบคุมอารมณ์ ความเครียด
  • การพักผ่อนที่พอเหมาะ
  • การปรับสภาพแวดล้อม
  • และความเข้าอกเข้าใจของผู้ที่อยู่รอบข้าง

อย่างไรก็ตามโรคนี้จะไม่มีการทำลายอวัยวะต่างๆ ยกเว้นการเป็นเรื้อรังก็จะส่งผลต่อคุณ ภาพชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพจิต ซึ่งการรักษาที่สำคัญ คือ

  • *ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยต้องเข้าใจผู้ป่วยและมีความปรารถนาดีที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อเป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจีย การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ

  • ควรต้องแก้ไขสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รักษาสุขภาพจิต อย่าเครียด
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
  • และพบแพทย์/มาโรงพยาบาลสม่ำเสมอตามแพทย์นัด

*ซึ่งกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทรุดลง ก็ควรต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเสมอ เช่น

  • อาการปวดที่รุนแรงขึ้น
  • นอนไม่หลับเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน
  • เกิดภาวะซึมเศร้า
  • หรือมีผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนจากยาที่ใช้รักษา (เช่น ขึ้นผื่น คลื่นไส้)
  • หรือ กังวลในอาการ
  • ทั้งนี้ โรคนี้ ไม่มีอาหารต้องห้าม/อาหารแสลง แต่ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม

ป้องกันโรคไฟโบรมัยอัลเจียได้อย่างไร?

จริงๆแล้ว โรคนี้ไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด การป้องกันโรคเต็มร้อยจึงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเราสามารถปรับสภาพแวดล้อมให้ดี มีอารมณ์แจ่มใส สดชื่น พักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ลงได้