ไฟโตสเตอรอล (Phytosterols)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ไฟโตสเตอรอล (Phytosterols) คือ อาหารเสริมชนิดหนึ่งที่’ไม่ใช่ยา’,แต่เป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภทสเตียรอยด์ในพืช  ซึ่งพืชที่พบสารนี้สูง เช่น รำข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แครอด กะหล่ำ หัวหอม ส้ม กล้วย แอบเปิล, มีรูปแบบจำหน่าย เป็นแคปซูลรับประทาน   

 ไฟโตสเตอรอล มีโครงสร้างคล้ายและใกล้เคียงกับไขมันคอเลสเตอรอลที่พบในสัตว์, ทางคลินิกพบว่า ไฟโตสเตอรอลสามารถขัดขวางการดูดซึมคอเลสเตอรอลในอาหารจากระบบทางเดินอาหารได้  จึงช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของร่างกาย, และได้รับการยอมรับในต่างประเทศ ให้ใช้สารไฟโตสเตอรอลเติมลงในผลิตภัณฑ์อาหาร หรือในอาหารเสริมต่างๆเพื่อวัตถุประสงค์ช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลนี้  

*แต่มีข้อห้ามใช้สารไฟโตสเตอรอลกับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร อาจด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้บริโภคทั้งสองกลุ่มยังมีความต้องการไขมันคอเลสเตอรอลในร่างกายมากกว่าภาวะปกติ 

สารไฟโตสเตอรอล พบมากที่สุดในน้ำมันที่สกัดจากพืช  และอยู่ในรูปสารเคมีประเภทเอสเทอร์(Ester,ไขมันชนิดหนึ่ง) ของกรดไขมัน/กรดซินนามิก (Cinnamic acid) หรือในรูปไกลโคไซด์(Glycoside,น้ำตาลชนิดหนึ่ง), การรับประทานอาหารที่มี กากใย  ผัก  ผลไม้ ไม่ทำให้ร่างกายได้รับไฟโตสเตอรอลมากขึ้นเท่าใดนัก แต่ก็ถือว่าพืชผักดังกล่าวสามารถให้ไฟโตสเตอรอลกับร่างกายได้ในระดับหนึ่ง เพียงแต่ต้องรับประทานให้มากพอเท่านั้นเอง

ไฟโตสเตอรอลที่พบในอาหารนั้น ยังถูกแบ่งตามโครงสร้างของโมเลกุลที่แตกต่างกันออกไปบ้าง ได้ดังนี้ เช่น

  • Beta-sitosterol/Sitosterol: เป็นไฟโตสเตอรอลที่พบมากจากอาหาร/พืชต่างๆที่มนุษย์ใช้รับประทาน คิดเป็นปริมาณประมาณ 65%ในไฟโตสเตอรอลทั้งหมด และเป็นชนิดที่นำมาผสมเป็นอาหารเสริม โดยใช้คุณสมบัติช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลมาเป็นจุดขาย
  • Campesterol: เป็นไฟโตสเตอรอลที่พบรองลงมา คิดเป็นปริมาณ 30% ใน ไฟโตสเตอรอลจากพืช
  • Stigmasterol: เป็นไฟโตสเตอรอลที่พบน้อยกว่าไฟโตสเตอรอล 2 ประเภทแรก พบเพียงประมาณ 3% ของไฟโตสเตอรอลในพืช/อาหารที่รับประทานเท่านั้น
  • Sitostanol (Stigmastanol) และ Campestanol: เป็นไฟโตสเตอรอลที่มีโครงสร้างต่างจากไฟโตสเตอรอลที่กล่าวมา 3 ตัวข้างต้น,  ทางคลินิกพบว่า ทั้ง Sitostanol และ Campestanol สามารถขัดขวางการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากระบบทางเดินอาหารได้ดีใกล้เคียงกัน แต่ข้อมูลต่างๆของสารทั้ง 2 ตัวนี้ ยังมีจำกัด

 ความปลอดภัยของการใช้ไฟโตสเตอรอลมีมายาวนาน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1954 – 1982 (พ.ศ.2497 – 2525) ซึ่งไฟโตสเตอรอลถูกนำมาใช้เป็นเภสัชผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Cytellin’ สำหรับเรื่องผลข้างเคียงต่อการรับประทานไฟโตสเตอรอลพบว่า ไม่ส่งผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ต่อระบบการทำงานของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้เล็ก, ไม่ทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติแต่อย่างใด,  แต่อย่างไรก็ตาม อาจพบอาการคลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย ท้องเสียหรือท้องผูก ได้บ้าง 

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าไฟโตสเตอรอลชนิด Sitosterol อาจกระตุ้นให้เกิดการทำงานผิดปกติของโปรตีนชนิด’Transporter protein(โปรตีนทำหน้าที่ขนส่งสารต่างๆในเซลล์)’ ในร่างกายมนุษย์ และอาจจะเป็นเหตุผลให้ไฟโตสเตอรอลที่เป็นเภสัชผลิตภัณฑ์/เป็นยา ต้องหยุดจำหน่าย และเหลือไว้แต่ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริม 

อย่างไรก็ตาม ก่อนเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ไฟโตสเตอรอล ผู้บริโภคควรได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ว่า มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงหรือไม่ และการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เช่นกัน

ไฟโตสเตอรอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไฟโตสเตอรอล มีข้อบ่งใช้:

  • เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมที่ช่วยสนับสนุน/บำบัดภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

ไฟโตสเตอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยา/สารไฟโตสเตอรอล คือ สารนี้จะเข้าแข่งขันกับคอเลสเตอรอลในการดูดซึมจากลำไส้เล็ก  ส่งผลให้คอเลสเตอรอลจากอาหารในลำไส้เล็กไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้,  จึงทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดลดน้อยลงตามลำดับ,จากกลไกนี้ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ตามสรรพคุณ

ไฟโตสเตอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ไฟโตสเตอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม บรรจุแคปซูลขนาด 650 มิลลิกรัม

ไฟโตสเตอรอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ไฟโตสเตอรอลมีขนาดรับประทาน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล พร้อมอาหาร เช้า – เย็น
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ที่ชัดเจนกับเด็ก, การใช้อาหารเสริมนี้ในเด็กจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยา/อาหารเสริมและระยะเวลาในการใช้ยา/อาหารเสริมที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น  ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้  การใช้ยา/อาหารเสริมที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ                                                                                                                                

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยา/อาหารเสริมทุกชนิดรวมไฟโตสเตอรอล  ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น                      

  • ประวัติแพ้ยา/อาหารเสริมทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก  ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา/อาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะไฟโตสเตอรอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา/อาหารเสริมอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน                                           
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาฯหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรกและอาจเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานไฟโตสเตอรอลควรทำอย่างไร?

ไฟโตสเตอรอล เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม  หากลืมรับประทาน ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายแต่อย่างใด,  และสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้, ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในครั้งถัดไป ก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณรับประทานเป็น 2 เท่า

ไฟโตสเตอรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ไฟโตสเตอรอล สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/อาหารเสริม (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบทางเดินอาหารเสียเป็นส่วนมาก เช่น    

  • ท้องผูก หรือท้องเสีย   
  • คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายในท้อง   
  • กรดไหลย้อน
  • อุจจาระมีสีซีด
  • ท้องอืด

*โดยทั่วไป อาการข้างเคียงเหล่านี้ ไม่รุนแรงมากเท่าใดนัก  แต่ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของแต่ละบุคคลต่อไฟโตสเตอรอล

มีข้อควรระวังการใช้ไฟโตสเตอรอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ไฟโตสเตอรอล: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยา/อาหารเสริมนี้
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ไฟโตสเตอรอลกับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร          
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง                                 
  • ระวังเรื่องภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ระหว่างไฟโตสเตอรอลกับยาอื่นๆ/อาหารเสริมอื่นๆที่ผู้ป่วยมีรับประทานอยู่ก่อน ในเรื่องนี้ผู้บริโภคสามารถขอคำปรึกษาได้จากแพทย์/เภสัชกรทั่วไป
  • *หากพบอาการแพ้ยา/แพ้ในตัวผลิตภัณฑ์นี้ เช่น มีอาการผื่นคันขึ้นตามตัว  อึดอัด/หายใจลำบาก/ หายใจไม่สะดวก  ตัวบวม  *ให้หยุดการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยา/ผลิตภัณฑ์นี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยา/ผลิตภัณฑ์นี้ที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยา/ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราณทุกชนิด   อาหารเสริม (รวมผลิตภัณฑ์ไฟโตสเตอรอลด้วย)  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยาต่างๆ/ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม มีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยา/ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทุกครั้ง  ควรปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยา/ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใช้เองเสมอ

ไฟโตสเตอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ไฟโตสเตอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น                                                        

  • การใช้ไฟโตสเตอรอล ร่วมกับยา Statins จะทำให้เสริมฤทธิ์ของการลดคอเลสเตอรอล ในร่างกาย หากมีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป                                                  
  • การใช้ Beta-sitosterol ร่วมกับยา Ezetimibe จะทำให้ร่างกายดูดซึม Beta-sitostero ได้น้อยลง  หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ร่วมกัน

ควรเก็บรักษาไฟโตสเตอรอลอย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์ไฟโตสเตอรอล: เช่น

  • เก็บภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บผลิตภัณฑ์ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บผลิตภัณฑ์ในภาชนะที่มิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บผลิตภัณฑ์ไฟโตสเตอรอลให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ หรือในรถยนต์

ไฟโตสเตอรอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยา/สารไฟโตสเตอรอล  มีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Blackmores Choles-Bloc (แบลคมอ คอเลส-บล็อก) Blackmores

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Phytosterol   [2022,Oct22]
  2. https://lpi.oregonstate.edu/mic/dietary-factors/phytochemicals/phytosterols  [2022,Oct22]
  3. https://www.drugs.com/cdi/phytosterol-esters-dha-and-epa.html  [2022,Oct22]
  4. https://www.healthline.com/nutrition/phytosterols-benefits-and-downsides  [2022,Oct22]
  5. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-939/beta-sitosterol  [2022,Oct22]
  6. https://www.imedpub.com/articles/a-review-on-dietary-phytosterols-their-occurrence-metabolism-and-health-benefits.pdf  [2022,Oct22]
  7. https://www.dietaryfiberfood.com/cholesterol/cholesterol-lowering-foods-phytosterol.php  [2022,Oct22]