ไพโรลิโดน (Pyrrolidone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไพโรลิโดน(Pyrrolidone)เป็นสารประกอบอินทรีย์มีการจัดเรียงโครงสร้างอะตอม(Atom,คือ ส่วน/อนุภาคที่เล็กที่สุดของธาตุ/สสาร)ที่เป็นวงกลม หรือที่เรียกกันว่าไซคลิก เอไมด์ (Cyclic amide) ยาไพโรลิโดนยังถูกแบ่งออกเป็น 2 หมวด/กลุ่ม/ชนิด คือ 2-Pyrrolidone และ 3-Pyrrolidone ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ เช่น

ก. 2-Pyrrolidone: มีลักษณะทางกายภาพเป็นของเหลวไม่มีสี สามารถละลายน้ำ รวมถึงเป็นตัวทำละลายอินทรีย์ โดยสารประกอบที่เป็นอนุพันธ์ของ 2-Pyrrolidone บางรายการถูกนำมาพัฒนาทางการแพทย์และใช้เป็นยารักษาโรค อาทิ

  • Cotinine: เป็นสารประเภทอัลคาลอยด์ที่พบในยาสูบ สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ทาง ชีวภาพ (Biomarker)ของบุหรี่อีกด้วย ปัจจุบันมีการศึกษาและพัฒนา Cotinine มาใช้เป็นยา เพื่อใช้บำบัดรักษาโรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรคอัลไซเมอร์ และโรค พาร์กินสัน
  • Doxapram: ใช้เป็นยากระตุ้นระบบการหายใจของร่างกาย รูปแบบผลิตภัณฑ์ เป็นยาชนิดฉีด และจะใช้ในห้องไอ.ซี.ยู. (ICU,Intensive care unit) ห้องผ่าตัด หรือห้องฉุกเฉิน เราสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Dopram”
  • Piracetam: นำมาใช้บำบัดรักษาอาการทางสมอง/ทางระบบประสาท เช่น ความจำเสื่อม อาการซึมเศร้า วิตกกังวล อาการวิงเวียน มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีด ตัวยาจะกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี มีจำหน่ายในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าอย่างเช่น “Nootropil”
  • Povidone: เป็นสารประเภทโพลิเมอร์(Polymer, สารที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น พลาสติ ท่อพีวีซี ไนลอน)ที่ละลายน้ำได้ ใช้เป็นตัวเพิ่มปริมาณพลาสมาสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเสียเลือดมาก นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมการผลิตยาเม็ดอีกด้วย หากนำ Povidone มาเติมไอโอดีน ก็จะได้สารประกอบเชิงซ้อนที่มีชื่อว่า โพวิโดนไอโอดีน มีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อ เราสามารถพบเห็นผลิตภัณฑ์โพวิโดนไอโอดีน ในรูปแบบต่างๆเช่น ครีม สบู่เหลว ของเหลวที่ใช้เช็ด/ขัดผิวหนัง(Scrub)ในห้องผ่าตัด โดยเป็นที่รู้จักกันภายใต้ชื่อทางการค้าว่า “Pyodine และ Betadine”
  • Ethosuximide: เป็นยาทางเลือกตัวแรกๆที่นำมาใช้บำบัดรักษาอาการชัก องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ Ethosuximide เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการแก่ผู้ป่วย ข้อดีของยานี้ได้แก่ ไม่ก่อให้เกิดภาวะเป็นพิษต่อตับ รูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน และจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Zarontin”

ข. 3-Pyrrolidone: สารกลุ่มนี้ มีการจัดเรียงอะตอมของไนโตรเจนในตำแหน่งที่ต่างจากยา/สาร 2-Pyrrolidone ส่วนมากจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเคมี จึงขอไม่กล่าวรายละเอียดในในบทความนี้

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มไพโรลิโดนที่โดดเด่นและเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์เห็นจะเป็นกลไกที่เกิดในสมอง โดยนำมาใช้บำบัดรักษาอาการความจำเสื่อม ซึมเศร้า วิตกกังวล ยาบางตัวก็ใช้กระตุ้นการหายใจ ใช้เพิ่มปริมาณพลาสมาของเลือด เป็นต้น

แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้ป่วย/ผู้บริโภคไม่สามารถใช้ยากลุ่มไพโรลิโดนนี้ได้ อาทิเช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มไพโรลิโดน
  • เป็นผู้ป่วย โรคไตระยะรุนแรง ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ โรคหัวใจระดับรุนแรง โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ นอกจากนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังกับผู้ป่วยที่มีการใช้ยาบางประเภทอยู่ก่อน เช่นยา กลุ่มMAOIs, Aminophylline , ยากลุ่มไทรอยด์ฮฮร์โมน หรือที่เรียกว่าไทรอกซินThyroxin, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ยาแอสไพริน, ด้วยการใช้ยาดังกล่าวร่วมกับยาไพโรลิโดน อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาซึ่งกันและกัน จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่า ปัจจุบันมีการใช้ยาชนิดใดอยู่บ้าง

สำหรับกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ก็จัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อการใช้ยาแทบทุกประเภทรวมถึงยาไพโรลิโดน การจะใช้ยาไพโรลิโดนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงควรต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ผู้ป่วยอาจจะพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยากลุ่มไพโรลิโดนนี้ที่ส่งผลต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น ต่อระบบประสาท สภาวะทางจิตใจ ผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และอื่นๆ ดังนั้น การจะเลือกใช้ยาตัวใดในกลุ่มยาไพโรลิโดน มาบำบัดอาการของผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยเหมาะสม ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว

ไพโรลิโดนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไพโรลิโดน

ยาไพโรลิโดนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษา อาการความจำเสื่อม อาการซึมเศร้า วิตกกังวล อาการวิงเวียน
  • ใช้เป็นยากระตุ้นการหายใจ

ไพโรลิโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ที่โดดเด่นของยาไพโรลิโดนจะเกิดขึ้นที่สมอง โดยตัวยาจะช่วยเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง และปรับสมดุลสารสื่อประสาทต่างๆเหล่านั้นใหม่ จึงส่งผลต่อกระบวนการทำงานของสมอง ที่มีผลต่อสภาพอารมณ์ จิตใจ นอกจากนี้ตัวยาบางตัวในยากลุ่มยาไพโรลิโดน จะกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจของสมองอีกด้วย จากกลไกดังกล่าว จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

ไพโรลิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากลุ่มไพโรลิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาชนิดรับประทาน และ
  • ยาฉีด

ไพโรลิโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาแต่ละตัวของยากลุ่มไพโรลิโดน ขึ้นกับประเภทหรืออาการของผู้ป่วยที่จะแตกก่างกันในแต่ละบุคคล การใช้ยากลุ่มนี้แต่ละตัวยา จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นจึงขอไม่กล่าวถึงขนาดการใช้ยากลุ่มไพโรลิโดนในบทความนี้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไพโรลิโดน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไพโรลิโดนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไพโรลิโดน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไพโรลิโดน ตรงเวลา

ไพโรลิโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไพโรลิโดน อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตผิดปกติ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น กระสับกระส่าย วิงเวียน สูญเสียการทรงตัว ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกสับสน วิตกกังวล ประสาทหลอน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น พบผื่นคัน ลมพิษ

มีข้อควรระวังการใช้ไพโรลิโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไพโรลิโดน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มไพโรลิโดน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ ผู้ป่วยโรคฮันติงตัน (Huntington’s chorea,โรคพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่พบได้น้อย ที่มีผลให้เกิดอาการทางสมอง) ผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง โรคหัวใจระดับรุนแรง โรคความดันโลหิตสูง
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • การใช้ยนี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องเป็น ไปตามคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น อึดอัด แน่นหน้าอก/ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ตัวบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไพโรลิโดนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไพโรลิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไพโรลิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Piracetam ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่น Warfarin อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Doxapram ร่วมกับ Aminophylline ด้วยจะทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติไป เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ กล้ามเนื้อกระตุก

ควรเก็บรักษาไพโรลิโดนอย่างไร?

ควรเก็บยาไพโรลิโดนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไพโรลิโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไพโรลิโดนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Dopram (โดแพรม)Baxter Healthcare Corporation
Embol (เอมโบล)Yung Shin
Mancetam (แมนเซแทม)T.Man Pharma
Mempil (เมมพิล)General Drugs House
Noocetam (นูซีแทม)Central Poly Trading
Nootropil (นูโทรพิล)GlaxoSmithKline
Scarda (สการ์ดา)Pharmaland
Zarontin (ซารอนติน)Pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pyrrolidone [2016,Aug27]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/2-Pyrrolidone [2016,Aug27]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/3-Pyrrolidone [2016,Aug27]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Piracetam#Other [2016,Aug27]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/doxapram/?type=brief&mtype=generic [2016,Aug27]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Ethosuximide#Medical_uses [2016,Aug27]
  7. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2005/14879s044lbl.pdf [2016,Aug27]