ไพรโลเคน (Prilocaine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

 ไพรโลเคน (Prilocaine) คือ ยาชาเฉพาะที่ พบการใช้บ่อยในคลินิกทันตกรรมโดยมักจะผสม รวมกับยา Epinephrine ซึ่งเป็นยาที่ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด และผลิตเป็นรูปแบบของยาฉีด ลดอาการเจ็บปวดขณะทำหัตถการทางทันตกรรม หรือในรูปแบบของยาครีมจะผสมร่วมกับยา Lidocaine ใช้ทาภายนอก ห้ามมิให้รับประทานหรือเข้าตา

ทางคลินิก กรณีที่ยาไพรโลเคนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนเป็นปริมาณประมาณ 55% ตับและไตจะคอยทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 - 150 นาทีเพื่อกำจัดยาไพรโลเคนปริมาณครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือด

การใช้ยาชาก็เพื่อวัตถุประสงค์ลดอาการเจ็บปวดจากการทำหัตถการทางการแพทย์ ยาไพรโลเคน ก็เช่นเดียวกัน ในรูปแบบของยาฉีดจัดเป็นยาชาที่สามารถออกฤทธิ์ได้เร็วภายในประมาณ 2 นาที นอก จากจะยับยั้งความรู้สึกเจ็บปวดแล้ว ยังส่งผลต่อปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจและทำให้ความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงเปลี่ยนแปลงลดลงไป

การใช้ยาชาไพรโลเคนกับผู้ป่วยแต่ละบุคคลนั้นมีความแตกต่างกันทั้งด้วยเหตุผลของอายุหรือโรคประจำตัวอย่าง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือแม้แต่อาการแพ้ยาหลังใช้ยานี้

มีข้อจำกัดก่อนการใช้ยาไพรโลเคนอยู่หลายประการ แพทย์มักจะใช้ประกอบก่อนการสั่งจ่ายยาไพรโลเคน เช่น

  • การใช้ยาไพรโลเคนในขนาดปริมาณสูงโดยเฉพาะกับผู้ป่วยเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) อาจนำมาสู่โรคซีดจากภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด(Methemoglobinemia) หรือการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่ม G6-PD (ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี) ก็สุ่มเสี่ยงกับการเกิดภาวะ Methemoglobinemia ได้เช่นกัน
  • ระหว่างการใช้ยาไพรโลเคนควรมีอุปกรณ์ช่วยหายใจเตรียมพร้อมเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินเช่น เครื่องช่วยหายใจ หรือยาที่ใช้แก้พิษของยาชานี้
  • การใช้ยาไพรโลเคนกับผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรงอาจทำให้ฤทธิ์ของยาชานี้อยู่ในร่างกายได้นานยิ่งขึ้น ก่อนการใช้ยาไพรโลเคนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์จะต้องประเมินผลดีและผลเสีย อาจต้องปรับขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมก่อนหรือไม่ก็หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ โดยพิจารณาถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
  • การใช้ยาไพรโลเคนกับผู้มีประวัติแพ้ยาชาชนิดต่างๆมาก่อนจะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากด้วยมีโอกาสแพ้ยาไพรโลเคนได้เช่นเดียวกัน
  • การใช้ยาไพรโลเคนใน บริเวณศีรษะ บริเวณคอ บริเวณเหงือก ซึ่งใกล้กับสมองซึ่งเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทมากมาย จะต้องเริ่มต้นการใช้ยาในปริมาณต่ำก่อน จากนั้นจึงค่อยๆปรับเพิ่มโดยคำนวณปริมาณยาอย่างถูกต้อง พร้อมกับสังเกตอาการผู้ป่วยควบคู่กันไปด้วยว่าเกิดภาวะได้รับยาเกินขนาดหรือไม่ เช่น รู้สึกสับสน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ซึมลง มีภาวะชัก ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวจะต้องได้รับการช่วยเหลือทันทีโดยใช้หัตถการทางการแพทย์รวมถึงเวชภัณฑ์ได้อย่างถูกต้อง
  • หลังการใช้ยาชายาไพรโลเคน แพทย์ควรแจ้งผู้ป่วยให้ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม อย่างเช่น กรณี ของคลินิกทันตกรรมทันตแพทย์จะแนะนำผู้ที่ได้รับยาชานี้ งดเว้นการรับประทานอาหารเครื่องดื่มทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดแผลในช่องปาก การสำลักอาหาร รวมถึงรอให้สภาวะของการทำหัตถการและสภาพร่างกายของผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติก่อน
  • การใช้ยาไพรโลเคนกับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจะต้องผ่านการประเมินจากแพทย์แล้วเท่านั้นว่าสมควรและเหมาะสม ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่เพียงพอมาสนับสนุนและระบุถึงความปลอดภัยจากการใช้ยาไพรโลเคนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้

 จะเห็นได้ว่าการใช้ยาประเภทนี้มีข้อจำกัดและข้อพึงระวังมากพอสมควร การใช้ยาไพรโลเคนจะ ต้องกระทำตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น สำหรับประเทศไทยสูตรตำรับของยาไพรโลเคนที่ผสมร่วมกับยา Lidocaine ในรูปแบบของยาครีมนั้นได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เราสามารถพบเห็นการใช้สูตรตำรับเหล่านี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐบาลและเอกชนโดยทั่วไป

ไพรโลเคนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ไพรโลเคน

 ยาไพรโลเคนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ ทั้งในรูปแบบของยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอก และยาฉีด

ไพรโลเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธิ์ของยาชาไพรโลเคนคือ ตัวยาจะยับยั้งการเคลื่อนตัวของประจุไฟฟ้าของเซลล์ประสาท ทำให้อาการเจ็บปวดไม่สามารถถูกถ่ายทอดออกมาในด้านความรู้สึกได้ จึงเป็นผลให้เกิดฤทธิ์ตามสรรพคุณ

ไพรโลเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไพรโลเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาฉีด ขนาด 40 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีดที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่นยา Epinephrine005 มิลลิกรัม + Prilocaine 40 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาครีมที่ผสมร่วมกับยาชาชนิดอื่น เช่นยา Lidocaine 25 มิลลิกรัม + Prilocaine 25 มิลลิกรัม/กรัม

ไพรโลเคนมีวิธีการใช้อย่างไร?

การใช้ยาไพรโลเคนในรูปแบบ ยาฉีด, ยาครีมทาเฉพาะที่, จะต้องใช้ตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และขนาดยาที่ใช้แพทย์มักเริ่มต้นจากขนาดยาที่ต่ำๆก่อน

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไพรโลเคน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/ หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไพรโลเคนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?

 ปกติยาไพรโลเคนจะต้องใช้ทาหรือฉีดก่อนที่จะทำหัตถการทางการแพทย์ แพทย์และ                          พยาบาลจะตรวจสอบถึงความรู้สึกการตอบสนองต่ออาการเจ็บปวดก่อนที่จะทำหัตถการต่างๆในขั้นถัดไปเสมอ จึงไม่มีโอกาสที่จะลืมใช้ยานี้

ไพรโลเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาไพรโลเคนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • ยาทา: อาจมีอาการบวม และอาจมีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยนในบริเวณที่ทายา
  • *ยาฉีด: การใช้ยาฉีดที่ผิดขนาด (ใช้ยาปริมาณมาก) อาจทำให้เกิดอาการ วิตกกังวล กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน วิงเวียน ตาพร่า ตัวสั่น มีอาการชัก ง่วงนอน ผู้ป่วยบางรายอาจถึงขั้นหมดสติ  หยุดหายใจ บางคนอาจ คลื่นไส้อาเจียน หนาวสั่น หูอื้อ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นช้าผิดจังหวะหัวใจหยุดเต้น และความดันโลหิตต่ำ
  • กรณีที่ใช้สูตรตำรับยานี้ซึ่งมี Epinephrine ร่วมด้วยอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้

มีข้อควรระวังการใช้ไพรโลเคนอย่างไร?

ข้อห้ามใช้และข้อควรระวังการใช้ยาไพรโลเคนที่จะกล่าวถึงนี้จะครอบคลุมทั้งยาชนิดทาและยา ชนิดฉีด เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไพรโลเคน หรือผู้ที่แพ้ยาชาเฉพาะที่ประเภทเอไมด์ (Amide-type local anesthetics)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคซีดจากภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด(Methemoglobinemia)
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องอยู่ภายใต้คำสั่ง และการดูแลของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามรับประทานหรือใช้ยานี้กับอวัยวะตา
  • ห้ามใช้ในบริเวณที่มีแผลเปิด
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไตระยะรุนแรง รวมถึงผู้ป่วย โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง
  • ระหว่างการใช้ยานี้ชนิดฉีดต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่เหมาะสมเตรียมพร้อมเสมอเช่น เครื่องช่วยหายใจ ถังออกซิเจน เวชภัณฑ์ที่ใช้ในการกู้ชีพ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ถึงยาไพรโลเคนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไพรโลเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยาไพรโลเคนกับยาอื่นๆที่จะกล่าวถึง จะครอบคลุมทั้งยาชนิดทาและยาชนิดฉีด  เช่น

  • การใช้ยาไพรโลเคน ร่วมกับยา Acetaminophen (Paracetamol), Chloroquine อาจเป็นเหตุให้เกิดโรคซีดจากภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด ซึ่งทำให้ความสามารถของเม็ดเลือดที่จะนำเอาออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายลดน้อยลงเพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไพรโลเคน ร่วมกับยา Alprazolam, Diazepam อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงของยาไพรโลเคนเพิ่มมากยิ่งขึ้นเช่น ง่วงนอน รู้สึกสับสน วิงเวียน เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไพรโลเคน ร่วมกับยา Amiodarone, Sotalol อาจส่งผลให้เกิดภาวะอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะจนเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาไพรโลเคนอย่างไร?

ควรเก็บยาไพรโลเคน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิที่ระบุมากับเอกสารกำกับยา/ ฉลากยา
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไพรโลเคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

         ยาไพรโลเคน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต  เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Dermacaine (เดอร์มาเคน) SR Pharma
EMLA (เอมลา) AstraZeneca
Liprikaine (ลิพริเคน) T. Man Pharma
Citanest Forte Dental (ซิทาเนส ฟอร์ท เดนทัล) AstraZeneca LP

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Prilocaine   [2022,May28]
  2. https://reference.medscape.com/drug/citanest-plain-dental-prilocaine-343366   [2022,May28]
  3. https://www.drugs.com/pro/lidocaine-and-prilocaine.html   [2022,May28]
  4. https://www.drugs.com/pro/lidocaine.html   [2022,May28]
  5. https://www.drugs.com/pro/prilocaine-hydrochloride-injection.html   [2022,May28]
  6. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_info/index?brand=&name=&rctype=&drugno=&per_page=11340   [2022,May28]
  7. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=2C&rcno=6200006&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no=   [2022,May28]
  8. https://reference.medscape.com/drug/citanest-plain-dental-prilocaine-343366#5  [2022,May28]
  9. https://www.drugs.com/drug-interactions/prilocaine-index.html?filter=3&generic_only=   [2022,May28]
  10. https://www.mims.com/thailand/drug/info/lidocaine%20+%20prilocaine?mtype=generic  [2022,May28]
  11. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Dermacaine/?type=brief  [2022,May28]
  12. https://www.drugs.com/pro/citanest-forte-dental-injection.html  [2022,May28]
  13. https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/archives/fdaDrugInfo.cfm?archiveid=4974  [2022,May28]