ไพริลามีน (Pyrilamine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ไพริลามีน (Pyrilamine) คือ ยาต้านฮีสตามีน/ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ในรุ่นแรกๆที่มีจำหน่ายตามร้านขายยา โดยใช้เป็นยาร่วมรักษาอาการป่วยจากโรคหวัด, อาการภูมิแพ้, ป่วยด้วยการมีประจำเดือน, มีทั้งชนิดเป็นยารับประทานและเป็นยาครีมทาแก้แมลงกัดต่อยตามผิวหนังรวมถึงอาการผื่นคันต่างๆ  

สูตรตำรับที่เป็นยารับประทานของยาไพริลามีน มักจะผสมกับตัวยาอื่นๆในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไปเช่น 1 เม็ดประกอบด้วย Acetaminophen(Paracetamol) 500 มิลลิกรัม, Pamabrom (ยาขับปัสสาวะ) 25 มิลลิกรัม, และ Pyrilamine maleate 15 มิลลิกรัม, ยังมีสูตรตำรับแบบรับประทานอื่นอีกที่ใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป,  สำหรับชนิดเป็นยาทาภายนอกแก้ผดผื่นคันจะใช้เป็นลักษณะยาเดี่ยวที่มีความเข้มข้น 2% โดยน้ำหนัก

         อนึ่ง:  ชื่ออื่นของยาไพริลามีน คือ  เมไพรามีน (Mepyramine)

เพื่อความเข้าใจในการใช้ยาจึงควรทราบข้อมูลบางประการที่พอจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วย   เอง เช่น        

  • ไพริลามีนที่เป็นยาชนิดรับประทานสามารถทำให้รู้สึกง่วงนอนได้ จึงไม่ควรรับประทานพร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ และไม่ควรขับขี่ยวดยานพาหนะระหว่างใช้ยานี้ รวมไปถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเองเพราะอาจได้ผลกระทบจากอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยามากขึ้น
  • กรณีมีอาการแพ้ยาต้องหยุดใช้ทันทีแล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

ปัจจุบันมีการรณรงค์การใช้ยาต่างๆให้เป็นลักษณะยาเดี่ยวที่รวมถึงยาไพริลามีน เพราะจะให้ประสิทธิผลในการรักษาที่ชัดเจนกว่า อีกทั้งไม่ต้องรับความเสี่ยงจากการได้รับยาอื่นที่หลายครั้งที่อาการของผู้ป่วยเองไม่มีความจำเป็นต้องรับยาชนิดนั้นๆเช่น ผู้ป่วยมีอาการแพ้ คัดจมูก ไอ จาม ก็ควรรับยาต้านฮีสตามีนเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้สูตรตำรับที่มี Acetaminophen เป็นส่วนประกอบในการจ่ายยาให้ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ ร้านยาแผนปัจจุบัน ได้จ่ายหรือจำหน่ายยาที่เป็นสูตรตำรับแยกเฉพาะยาเดี่ยวๆให้กับผู้ป่วยมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ประการสำคัญก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับยากลุ่มใดๆก็ตามควรต้องรับการตรวจอาการจากแพทย์และใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

ไพริลามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไพริลามีน

ยาไพริลามีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาอาการแพ้ต่างๆ เช่น ผื่นคัน ลมพิษ คัดจมูก อาการแพ้จากโรคหวัด
  • ใช้รักษาและบรรเทาอาการแมลงสัตว์กัดต่อย

ไพริลามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไพริลามีนาคือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ของสารฮิสตามีน/Histamine ในร่างกายที่มีชื่อว่า H1 receptor (Histamine receptor) จึงมีผลชะลอการทำงานของสารฮีสตามีนที่เป็นเหตุของอาการแพ้ต่างๆ ด้วยกลไกนี้จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ไพริลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไพริลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

ก.ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น

  • Phenylephrine 25 มิลลิกรัม + Pyrilamine 60 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Phenylephrine 20 มิลลิกรัม + Pyrilamine 16 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Phenylephrine 10 มิลลิกรัม + Pyrilamine 25 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Chlorpheniramine 4 มิลลิกรัม + Phenylephrine 10 มิลลิกรัม + Pyrilamine 25 มิลลิ กรัม/เม็ด
  • Acetaminophen 500 มิลลิกรัม + Caffeine 60 มิลลิกรัม + Pyrilamine maleate 15 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Acetaminophen 500 มิลลิกรัม + Pamabrom 25 มิลลิกรัม + Pyrilamine Maleate 15 มิลลิกรัม/เม็ด

ข. ยาน้ำชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น

  • Phenylephrine 5 มิลลิกรัม + Pyrilamine 16 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • Phenylephrine 9 มิลลิกรัม + Pyrilamine 12 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • Phenylephrine 10 มิลลิกรัม + Pyrilamine 30 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • Chlorpheniramine 8 มิลลิกรัม + Phenylephrine 12.5 มิลลิกรัม + Pyrilamine 15 มิลลิ กรัม/5 มิลลิลิตร
  • Chlorpheniramine 2 มิลลิกรัม + Phenylephrine 7.5 มิลลิกรัม + Pyrilamine 12.5 มิล ลิกรัม/5 มิลลิลิตร

 ค. ยาครีมทาภายนอกขนาดความเข้มข้น 2%

ไพริลามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ส่วนใหญ่ไพริลามีนแบบรับประทานจะมีสูตรตำรับร่วมกับยาชนิดอื่น เช่น ยาลดไข้, ยาบรรเทาอาการโรคหวัด, ยาแก้ไอ, หรือยาต้านฮีสตามีน/ยาแก้แพ้ตัวอื่น, ขนาดรับประทานทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่เหมาะสมจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าจะสั่งจ่ายสูตรตำรับยาใด ผู้ป่วยต้องเคร่งครัดและมีวินัยในการรับประทานยานี้และไม่ควรปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง

อนึ่ง บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะยาไพริลามีนที่ใช้เป็นยารับประทานเท่านั้น ยานี้ที่เป็นยาครีมจะกล่าวในอีกบทความแยกต่างหากในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ไพริลามีนครีม’  

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไพริลามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย   
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไพริลามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไพริลามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไพริลามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาไพริลามีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

  • มีอาการง่วงนอน
  • วิงเวียน
  • ปากคอแห้ง
  • จมูกแห้ง
  • ปวดหัว
  • รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร
  • ท้องผูก
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะนอนไม่หลับ
  • อาจพบอาการข้างเคียงที่มีระดับรุนแรงมากขึ้นได้อีก หากพบอาการเช่นนี้ ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อแพทย์ประเมินปรับการรักษา เช่น
    • อารมณ์เหวี่ยง/อารมณ์แปรปรวน
    • รู้สึกสับสน
    • ประสาทหลอน
    • มีเสียงดังในหู/หูอื้อ
    • ปัสสาวะขัด
    • ตาพร่า
    • ตาเห็นภาพซ้อน

มีข้อควรระวังการใช้ไพริลามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไพริลามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีลักษณะเสื่อมสภาพไปจากเดิมเช่น เม็ดยาเปียกชื้น เปลี่ยนสี หรือยาน้ำมีกลิ่นและ/หรือสีผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กและผู้สูงอายุด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับอาการข้างเคียงของยาได้มาก กว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้มีประวัติเป็นลมชัก ผู้ป่วยที่ มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยต้อหิน ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ /ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน  ผู้ป่วยด้วยต่อมลูกหมากโต ผู้ ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยด้วยโรคหืด
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน ระหว่างการใช้ยานี้จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ                  

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไพริลามีนด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไพริลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไพริลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไพริลามีน ร่วมกับยา Potassium chloride อาจทำให้ผลข้างเคียงของยา Potassium chloride ด้านการระคายเคืองในกระเพาะอาหารมีเพิ่มมากขึ้นจนอาจกระตุ้นให้เกิด แผลในกระเพาะอาหาร – ลำไส้ (แผลเปบติค) ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดรับประทานของยาไพริลามีนด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวแพทย์อาจต้องปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาไพริลามีน ร่วมกับยา Propoxyphene (ยาแก้ปวด), Levocetirizine (ยาแก้แพ้), Alprazolam อาจกระตุ้นให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาไพริลามีนมากยิ่งขึ้น เช่น ง่วงนอน วิงเวียน  สับสน การครองสติทำได้ลำบาก โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาเหล่านี้กับผู้สูงอายุ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ห้ามรับประทานยาไพริลามีน ร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอนมาก ครองสติไม่ได้        

ควรเก็บรักษาไพริลามีนอย่างไร?

 ควรเก็บยาไพริลามีน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือ ในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น  

เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไพริลามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไพริลามีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Anthisan (แอนไทซาน) sanofi-aventis sanofi-aventis
Anthical (แอนไทแคล) Elder
Nortussin (นอร์ทุสซิน) Norgine Pharma
Yenix (เยนิก) OPV
WASP-EZE (วาสพีซ) INyx Pharma Ltd.

 

บรรณานุกรม

1  https://en.wikipedia.org/wiki/Mepyramine   [2018,Dec18]

https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.1633.pdf  [2018,Dec18]

https://www.drugs.com/international/mepyramine.html   [2018,Dec18]

https://www.drugs.com/drp/pyrilamine-maleate.html   [2018,Dec18]

https://go.drugbank.com/drugs/DB06691  [2018,Dec18]

https://www.drugs.com/dosage/phenylephrine-pyrilamine.html   [2018,Dec18]

https://www.drugs.com/dosage/chlorpheniramine-phenylephrine-pyrilamine.html   [2018,Dec18]

8 https://www.webmd.com/drugs/2/drug-154853/pyrilamine-maleate-pseudoephedrine-hcl-oral/details#precautions  [2018,Dec18]

https://www.drugs.com/drug-interactions/pyrilamine-index.html?filter=3&generic_only=  [2018,Dec18]

10  https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?setid=a7424b9f-f2c0-4289-962d-99c2354c5a60   [2018,Dec18]