ไบโซโปรลอล (Bisoprolol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไบโซโปรลอล (Bisoprolol) เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) ทางคลินิกจะใช้ยานี้เพื่อรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยยาจะลดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจทำให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจน้อยลง จึงมีผลลดความเสี่ยงเรื่องหัวใจวาย

ยาไบโซโปรลอลเป็นยาที่ออกฤทธิ์เพียงระยะสั้น ดังนั้นการรับประทานยาต่อวันจะอยู่ที่ 2 - 3 ครั้ง ในทางปฏิบัติแพทย์อาจจะปรับขนาดการใช้เป็นวันละครั้งโดยพิจารณาเป็นกรณีไป

ยาไบโซโปรลอลชนิดรับประทานสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้มากกว่า 90% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 30% จากนั้นจะถูกลำเลียงส่งไปที่ตับเพื่อเผาผลาญ โดยอาจต้องใช้เวลาประมาณ 10 - 12 ชั่วโมงเพื่อที่จะกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดทางปัสสาวะและส่วนน้อยทางน้ำดี

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ไบโซโปรลอลเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน สถาน พยาบาลต่างๆควรมีสำรองไว้เพื่อใช้สำหรับรักษาผู้ป่วย คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำ หนดให้ยาไบโซโปรลอลอยู่ในหมวดยาอันตรายด้วยมีข้อจำกัดการใช้ยาอีกหลายกรณี และเป็นเหตุ ผลที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงหรือผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวได้ทุกรายเช่น ห้ามใช้ยากับผู้ที่มีอาการหอบ - หืดอย่างรุนแรง ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ สตรีตั้งครรภ์ ฯลฯ ดังนั้นการใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยจึงควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเสมอ

ไบโซโปรลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไบโซโปรลอล

ยาไบโซโปรลอลมีสรรพคุณดังนี้เช่น

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • รักษาโรคหัวใจล้มเหลว

ไบโซโปรลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาไบโซโปรลอลคือ ตัวยาจะเข้าแข่งขันในการจับกับตัวรับที่เรียก ว่า Beta-1 receptor ที่อยู่ในกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดการลดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจรวม ถึงลดความต้องการออกซิเจนที่มาหล่อเลี้ยงหัวใจอีกด้วย จากกลไกเหล่านี้ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจรวมถึงความดันโลหิตลดลง และเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ไบโซโปรลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไบโซโปรลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 2.5 และ 5 มิลลิกรัม/เม็ด

ไบโซโปรลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไบโซโปรลอลมีขนาดรับประทานดังนี้เช่น

ก.สำหรับความดันโลหิตสูงและอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 2.5 - 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิ กรัม/วัน

ข.สำหรับรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 1.25 มิลลิกรัมวันละครั้ง ถ้าการตอบสนองของผู้ป่วยดีขึ้น แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 1.25 มิลลิกรัมทุก 1 สัปดาห์ และขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิ กรัม/วัน

อนึ่ง

  • ในทางคลินิกยังไม่มีการจัดทำขนาดรับประทานยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไบโซโปรลอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไบโซโปรลอลอาจส่งผลให้อา การของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไบโซโปรลอลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไบโซโปรลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไบโซโปรลอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น เวียนหัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หัวใจเต้นช้า คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ปั่นป่วนในกระเพาะอาหาร กระจกตาอักเสบ มีอาการตากลัวแสง สมรรถภาพทางเพศลดลง อาหารไม่ย่อย ประสาทหลอน นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน

สำหรับผู้ที่รับประทานยานี้เกินขนาดจะมีอาการหัวใจเต้นช้าผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจล้มเหลว หลอดลมเกร็งตัว/หายใจลำบาก น้ำตาลในเลือดต่ำ หากพบอาการดังกล่าวให้หยุดการใช้ยานี้ และรีบพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

มีข้อควรระวังการใช้ไบโซโปรลอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไบโซโปรลอลดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลว (Uncompensated cardiac failure) ผู้ที่มีหัวใจ เต้นช้า (Sinus bradycardia) ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดส่วนปลายทำงานผิด ปกติ (Peripheral vascular disease)
  • ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติอย่างสม่ำเสมอขณะที่ใช้ยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังภาวะถอนยาในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยานี้ไม่ถูกต้องหรือหยุดการใช้ยาเอง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไบโซโปรลอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไบโซโปรลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไบโซโปรลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาไบโซโปรลอลร่วมกับยาบางกลุ่มจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของไบโซโปรลอล ด้อยลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกันหรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป ยากลุ่มดังกล่าวเช่น ยาที่มีส่วนประกอบของเกลืออะลูมิเนียม ( Aluminium เช่น ยา Aluminium hydroxide) หรือแคลเซียม (เข่น Calcium carbonate) Barbiturates, Cholestyramine, ยากลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs), Ampicillin และ Rifampicin
  • การใช้ยาไบโซโปรลอลร่วมกับอินซูลินหรือยาต้านเบาหวานตัวอื่นๆเช่น Metformin อาจก่อ ให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นราย บุคคลไป
  • การใช้ยาไบโซโปรลอลร่วมกับยา Theophylline จะทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาไบโซโปรลอล ลดลง และทำให้การออกฤทธิ์ของ Theophylline มีมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดภาวะคลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ เกิดภาวะตัวสั่น กระสับกระส่าย เพื่อป้องกันอาการเหล่านี้แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมหรือไม่ก็หลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไบโซโปรลอลร่วมกับยา Atazanavir จะเกิดความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงมีอาการวิงเวียน เป็นลม ติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาไบโซโปรลอลอย่างไร?

ควรเก็บยาไบโซโปรลอลภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไบโซโปรลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไบโซโปรลอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Bisloc (บิสล็อก) Unison
Concor (คอนคอร์) Merck
Hypercor (ไฮเพอร์คอร์) Sriprasit Pharma
Lodoz (โลดอซ) Merk
Novacor (โนวาคอร์) Tri Medical

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Bisoprolol#Medical_use [2015,June6]
2 http://www.cimsasia.com/USA/drug/info/bisoprolol/bisoprolol?type=full [2015,June6]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=bisoprolol [2015,June6]
4 http://www.drugs.com/dosage/bisoprolol.html#Usual_Adult_Dose_for_Hypertension [2015,June6]
5 http://www.drugs.com/drug-interactions/bisoprolol-index.html?filter=3&generic_only= [2015,June6]