ไนโตรอิมิดาโซล (Nitroimidazole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไนโตรอิมิดาโซล (Nitroimidazole) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีสูตรโครงสร้างโมเลกุลหลักเหมือนสารประกอบของยาอิมิดาโซล (Imidazole) หากกล่าวถึงเภสัชภัณฑ์ยาในกลุ่มไนโตรอิมิดาโซล จะถูกนำมาใช้เป็นยาปฏิชีวนะสำหรับต่อต้านเชื้อโปรโตซัวรวมถึงเชื้อแบคทีเรีย โดยตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น

  • Azanidazole: เป็นยาที่ใช้ทางการแพทย์ด้านนรีเวชวิทยา (Gynecology) สำหรับใช้บำบัดการติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis หรือ Trichomonal infections)
  • Benznidazole: เป็นยาต่อต้านเชื้อโปรโตซัวที่องค์การอนามัยโลกระบุให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองเพื่อใช้บริการแก่ผู้เจ็บป่วย ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคติดเชื้อโปรโตซัวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า โรคอเมริกันทริปพาโนโซเมียซีส (American trypanosomiasis)
  • Dimetridazole: เป็นยาที่ใช้ต้านการติดเชื้อโปรโตซัว เคยถูกนำไปผสมกับอาหารของสัตว์ปีกอย่างไก่ และมีการตรวจพบ Dimetridazole ในไข่จนทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่าจะเป็นตัวกระตุ้นการเกิดมะเร็งหรือไม่
  • Megazol: สามารถต่อต้านเชื้อโปรโตซัวกลุ่ม Trypanosoma brucei และ Trypanosoma cruzi ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอเมริกันทริปพาโนโซเมียซีส (American trypanosomiasis) และโรคแอฟริกัน สลีปปิง ซิกเนส (African sleeping sickness)
  • Metronidazole: ถูกวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า ฟลาจิล (Flagyl) มีฤทธิ์ต่อต้านทั้งเชื้อแบค ทีเรียและโปรโตซัว สามารถใช้ในลักษณะของยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาอื่นเพื่อรักษาโรคอย่างเช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) การอักเสบของเยื่อบุหัวใจ (เยื่อบุหัวใจอักเสบ) การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด (ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย) การติดเชื้อของหนอนพยาธิกีเนีย (Dracunculiasis) การติดเชื้อโปรโตซัวอย่าง Giardiasis, Trichomaniasis และ Amebiasis (โรคบิดมีตัว) รวมถึงลำไส้ใหญ่อักเสบ (Clostridium difficile colitis) องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยา Metronidazole เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับสถานพยาบาลต่างๆควรมีสำรองใช้เพื่อให้บริการกับผู้ป่วย ยานี้เป็นยาในกลุ่มยาไนโตรอิมิดาโซลที่ใช้แพร่หลายที่สุด ผลิตภัณฑ์ของยานี้จึงนี้มีทั้งยารับประทาน ยาครีม และยาฉีด
  • Nimorazole: เป็นยาที่นำมาบำบัดมะเร็งของระบบหูคอจมูก (Head and neck cancer)
  • Ornidazole: ใช้รักษาโรคจากโปรโตซัวบางชนิดและใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคโครห์น (Crohn’s disease)
  • Propenidazole: ใช้เป็นยาในด้านนรีเวช
  • Secnidazole: ใช้ในการรักษาอาการของโรคติดเชื้อโปรโตซัวที่เรียกว่า โรค Dientamoebiasis
  • Tinidazole: รู้จักภายใต้ชื่อการค้าว่า ทินดาแมกซ์ (Tindamax) เป็นยาต่อต้านการติดเชื้อโปรโตซัวที่รู้จักกันในทวีปยุโรปและในประเทศที่กำลังพัฒนา

อนึ่งยังมียาอีกหลายตัวยาในกลุ่มไนโตรอิมิดาโซลที่อยู่ในช่วงศึกษาเพื่อค้นคว้าถึงประสิทธิภาพและรอขยายผลเพื่อนำมารักษาโรคทางคลินิก

กลุ่มยาไนโตรอิมิดาโซลที่ถูกนำมาใช้ทางคลินิก ส่วนมากจะถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตรายทั้งสิ้น ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อการใช้ยาเหล่านี้ผู้ป่วย/ผู้บริโภคจะต้องขอคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์ก่อนเสมอ และห้ามไปซื้อหายาเหล่านี้มารับประทานเอง

ไนโตรอิมิดาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร

ไนโตรอิมิดาโซล

ยาไนโตรอิมิดาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • รักษาการติดเชื้อจากโปรโตซัวอย่างเช่น Giardiasis, Trichomaniasis, American trypanoso miasis, African sleeping sickness และ
  • การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดเช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

ไนโตรอิมิดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากลุ่มไนโตรอิมิดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะต่อต้านเชื้อโรคที่ตอบสนองกับยา นี้โดยก่อให้เกิดความเสียหายต่อสารพันธุกรรมหรือสารดีเอ็นเอ (DNA) ในเชื้อโรคเหล่านั้น ส่งผลให้เชื้อโรคเหล่านั้นหยุดการเจริญเติบโต หมดความสามารถของการแพร่พันธุ์ และตายลง

ไนโตรอิมิดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไนโตรอิมิดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายได้หลากหลายขึ้นกับแต่ละชนิดของตัวยาเช่น

  • ยาชนิดรับประทานเช่น ยาเม็ด
  • ยาฉีด
  • ยาทาเฉพาะที่

ไนโตรอิมิดาโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การบริหารยา/การใช้ยาในแต่ละสูตรตำรับยาย่อยของยากลุ่มไนโตรอิมิดาโซลให้เป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ หรือใช้ข้อมูลในเอกสารกำกับยาเป็นแนวทางการใช้ยาแต่ละตัวยา และผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมของยากลุ่มนี้ได้จากแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อทำความเข้าใจในการใช้ยากลุ่มนี้อย่างถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัย

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไนโตรอิมิดาโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไนโตรอิมิดาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีที่เป็นยาไนโตรอิมิดาโซลชนิดรับประทาน หากลืมรับประทานยาสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทาน เป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไนโตรอิมิดาโซลตรงเวลา

ไนโตรอิมิดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มไนโตรอิมิดาโซลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน สับสน การทรงตัวผิดปกติ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ปากแห้ง เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ช่องคลอดอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะมีสีคล้ำ ปัสสาวะบ่อย
  • ผลต่อระบบหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ คออักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ประสาทหลอน

มีข้อควรระวังการใช้ไนโตรอิมิดาโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไนโตรอิมิดาโซลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในแต่ละรายการของยาไนโตรอิมิดาโซล
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • กรณีเป็นยารับประทานผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองเป็นอันขาด
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องแจ้งแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรทุกครั้ง ด้วยยาหลายรายการในกลุ่มไนโตรอิมิดาโซลสามารถส่งผลกระทบ/ผลข้างเคียงต่ออาการโรคต่างๆเหล่านั้นได้
  • แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นๆอยู่ด้วยหรือไม่เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาเหล่านั้นกับยากลุ่มไนโตรอิมิดาโซล
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ
  • ***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มไนโตรอิมิดาโซลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไนโตรอิมิดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไนโตรอิมิดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การรับประทานยา Metronidazole ร่วมกับยาบางกลุ่มอาจทำให้ระดับยาดังกล่าวมีปริมาณในกระแสเลือดสูงมากขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยไดัรับผลข้างเคียงต่างๆตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าวเช่น ยา Lithium, Cyclosporin, ยาเคมีบำบัดบางชนิด (เช่น 5-FU และ Busulfan)
  • ห้ามใช้ยา Tinidazole ร่วมกับยา Amprenavir ด้วยส่วนประกอบในสูตรตำรับของยา Amprenavir อาจทำปฏิกิริยากับยา Tinidazole และนำมาซึ่งอาการหน้าแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก และกระหายน้ำ

ควรเก็บรักษาไนโตรอิมิดาโซลอย่างไร?

ควรเก็บยาไนโตรอิมิดาโซลตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น

ไนโตรอิมิดาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไนโตรอิมิดาโซลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Flagyl (ฟลาจิล)sanofi-aventis
Kana-P (กานา-พี)PP Lab
Metrazole (เมทราโซล)General Drugs House
Mepagyl (เมพาจิล)Thai Nakorn Patana
Mefiron (เมไฟรอน)Chew Brothers
Metrogyl (เมโทรจิล)J.B. Chemicals
Metrolex (เมโทรเล็กซ์) Siam Bheasach
Metronidazole GPO (เมโทรนิดาโซล จีพีโอ)GPO
Tindamax (ทินดาแม็กซ์)Mission Pharmacal Company
Fasigyn (ฟาซิกายน์)Fareva Amboise


บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Imidazole [2016,June4]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Nimorazole [2016,June4]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Metronidazole [2016,June4]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Megazol [2016,June4]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Dimetridazole [2016,June4]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Azanidazole [2016,June4]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Nimorazole [2016,June4]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Secnidazole [2016,June4]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Propenidazole [2016,June4]
  10. https://en.wikipedia.org/wiki/Ornidazole [2016,June4]
  11. https://en.wikipedia.org/wiki/Benznidazole [2016,June4]
  12. http://www.mims.com/thailand/drug/info/metronidazole/?type=brief&mtype=generic [2016,June4]
  13. http://www.drugs.com/uk/pdf/leaflet/655547.pdf [2016,June4]
  14. http://www.drugs.com/sfx/metronidazole-side-effects.html [2016,June4]