ไทโอเอไมด์ ยาต้านการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thioamide antithyroid drugs)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไทโอเอไมด์(Thioamide หรือ Thioamide anitithyroid drug ) หรืออีกชื่อคือ ไทโอนาไมด์ (Thionamide) หรือจะเรียกอีกอย่างว่า ไทโอยูรีลีน (Thiourylenes) เป็นกลุ่มยาที่ใช้ต้านการทำงานของต่อมไทรอยด์(Antithyroid drug หรือ Antithyroid agent หรือ Antithyroid medication )ที่มากเกินปกติ กล่าวคือ มีฤทธิ์ควบคุมภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) นั่นเอง กลไกการทำงาน/กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้จะเกิดในต่อมไทรอยด์ โดยยาไทโอเอไมด์จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า ไทรอยด์ เพอรอกซิเดส (Thyroid peroxidase) ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์หยุดการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนสำคัญ 2ชนิดอย่าง Triiodothyronine (ย่อว่า T3) และ Thyroxine หรือ Tetraiodothyronine(ย่อว่าT4)

ยาไทโอเอไมด์ในกระแสเลือด สามารถซึมผ่านรกและเข้าสู่ทารกในครรภ์ได้ จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษหากจะใช้ยาไทโอเอไมด์กับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยยาของกลุ่มไทโอเอไมด์สามารถก่อให้เกิดภาวะวิกลรูป(ความพิการ)แต่กำเนิดของทารกในครรภ์ได้ อย่างไรก็ตามการใช้ยาต้านต่อมไทรอยด์เป็นพิษอย่างยาไทโอเอไมด์จัดเป็นทางเลือกแรกในการบำบัดรักษา ก่อนที่จะใช้กัมมันตรังสี/น้ำแร่รังสีไอโอดีน (Radio-iodine) หรือวิธีผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออก

ยาไทโอเอไมด์ ถูกจำแนกออกเป็นรายการย่อยได้ดังนี้

ก. Propylthiouracil (PTU): เป็นยาชนิดรับประทาน หลังการถูกดูดซึมจากระบบทางดินอาหาร ตัวยามีการกระจายตัวในเลือดได้ประมาณ 80 – 95% โดยตัวยาอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกกำจัดออกจากกระแสเลือดทางปัสสาวะ ตัวยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในต่อมไทรอยด์ที่ชื่อว่า 5-deiodinase ส่งผลให้การเปลี่ยนไทรอยด์ฮอร์โมนจาก T4 ไปเป็น T3 หยุดลง T3 เป็นไทรอยด์ฮอร์โมนที่คอยออกฤทธิ์ให้เซลล์ของร่างกายเกิดกระบวนการเมตาโบลิซึม(Metabolism หรือ สันดาป)ต่างๆ เมื่อมี T3 น้อยลงจึงเท่ากับช่วยบำบัดภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษลงไปได้ ยาPTU มีใช้กันอย่างแพร่หลายโดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ระยะเวลาของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยแต่ละคนจะขึ้นกับการตอบสนองต่อยานี้ของร่างกายผู้ป่วยเอง ผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ที่ต้องระวังคือ ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวได้น้อยลง (Agranulocytosis)จึงส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกัน(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกายลดลง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา PTU กับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน)แต่กำเนิดในทารกในครรภ์ได้

ข. Methimazole: เป็นยาชนิดรับประทาน หลังการถูกดูดดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาจะมีการกระจายตัวในร่างกาย/ในกระแสเลือดได้ประมาณ 93% โดยตัวยาจะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 5 – 6 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกกำจัดออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์โดยไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในต่อมไทรอยด์ที่ชื่อ Thyroperoxidase ส่งผลให้เกิดการยับยั้งการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมนทั้งชนิด T3 และ T4 ทำให้บรรเทาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษได้ ผลข้างเคียงที่ต้องระวังระหว่างที่ได้รับยา Methimazole คือ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Agranulocytosis) อาจพบเห็นอาการข้างเคียงอื่นอีก เช่น ผื่นคัน ผมร่วง รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร เป็นต้น และห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร(ยาผ่านออกทางน้ำนมได้) รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ (ยาสามารถผ่านรกได้) ด้วยอาจทำให้ทารกเกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้ แต่ยังไม่มีรายงานที่ทำให้ทารกเกิดความพิการ

ค. Carbimazole: เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาจะใช้เวลาอยู่ในร่างกายนานประมาณ 5.3 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกกำจัดทิ้งไปกับปัสสาวะ ยาCarbimazole ไม่ใช่ตัวยาที่ออกฤทธิ์โดยตรงหรือจะเรียกว่าเป็นยาก่อนการออกฤทธิ์ที่มีศัพท์เรียกเฉพาะว่า Pro-drug หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ยาCarbimazole จะถูกเปลี่ยนเป็นยา Methimazole ซึ่งเป็นรูปเมตาโบไลต์ (Metabolite) ที่ออกฤทธิ์ต้านการทำงานของต่อมไทรอยด์ ผลข้างเคียงของยา Carbimazole ที่ดูจะรุนแรง ได้แก่ กดการทำงานของไขกระดูก จึงทำให้ร่างกายพร่องเม็ดเลือดขาว (Agranulocytosis)

จากการเปรียบเทียบความแรงของยาต่างๆดังกล่าวทางคลินิก พบว่ายา Methimazole ออกฤทธิ์ได้มากกว่ายา PTU ถึง 10 เท่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นยาตัวใดในกลุ่มไทโอเอไมด์ สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยที่สูงอายุทั้งสิ้น การเลือกใช้ยาตัวใดว่าเหมาะสมกับผู้ป่วยหรือไม่นั้น จึงต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อดูระดับไทรอยด์ฮอร์โมนในร่างกาย และถูกประเมินสุขภาพโดยรวมเสียก่อนใช้ยาในกลุ่มนี้ ประการสำคัญห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายากลุ่มไทโอเอไมด์มารับประทานเองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์/เภสัชกร การใช้ยาผิดขนาด ผิดวิธี ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้อาการโรคทรุดลงและอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆตามมา ทำให้สูญเสียเวลา ทรัพย์และสุขภาพไปพร้อมกัน

ไทโอเอไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไทโอเอไมด์

ยาไทโอเอไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนเกิน/ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ก่อนที่จะรักษาด้วย สารกัมมันตรังสี/น้ำแร่รังสีไอโอดีน(Radio-iodine) หรือก่อนการผ่าตัด สามารถใช้ยานี้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กโดยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์

ไทโอเอไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไทโอเอไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้

ก. ยาPTU: ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5-deiodinase ในต่อมไทรอยด์ ทำให้ T4 ไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็น T3 เป็นเหตุให้ให้ไทรอยด์ฮอร์โมน T3 ในร่างกาย ลดต่ำจึงลดความเป็นพิษต่อร่างกายลง

ข. ยา Methimazole: จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในต่อมไทรอยด์ที่ชื่อ Thyroperoxidase และเกิดการรบกวนกระบวนการทางเคมีไม่ให้ธาตุไอโอดีนไปรวมตัวกับสารไทโรซีน (Tyrosine, กรดอะมิโนที่ใช้สร้างไทรอยด์ฮอร์โมน) ด้วยกลไกดังกล่าว ทำให้ชะลอการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมนทั้ง 2 ตัวลง จึงช่วยบำบัดภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้ตามสรรพคุณ

ค. ยา Carbimazole: จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีไปเป็นยา Methimazole ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมนโดยไปรบกวนกระบวนการทางเคมีไม่ให้ธาตุไอโอดีนไปรวมตัวกับสารไทโรซีน (Tyrosine) ด้วยกลไกดังกล่าว ทำให้ชะลอการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมนทั้ง 2 ตัวลง

ไทโอเอไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไทโอเอไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

ก. ยา Carbimazole: ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5,10,และ 20 มิลลิกรัม/เม็ด

ข. ยา Methimazole: ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด

ค. ยา PTU: ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 มิลลิกรัม/เม็ด

ไทโอเอไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไทโอเอไมด์มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. ยา PTU:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งห่างกันทุก 8 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่ชัดเจนในการใช้ยานี้และขนาดของยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข. ยา Carbimazole:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 20 – 60 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 – 3 ครั้งตามแพทย์สั่ง ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 5 – 15 มิลลิกรัม/วัน ระยะเวลาของการใช้ยาอยู่ที่ 6 – 18 เดือน หรือตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็กอายุ3–17 ปี: รับประทานวันละ 15 มิลลิกรัม หรือขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่ชัดเจนในการใช้ยานี้และขนาดของยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ค. ยา Methimazole:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 15 - 60 มิลลิกรัม/วัน จากนั้น แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดการรับประทานเป็น 5 – 15 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ขนาดเริ่มต้นของการรับประทานคือ 0.4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน จากนั้นแพทย์จะพิจารณาปรับขนาดการรับประทานเป็น 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยาเหล่านี้ ก่อนหรือพร้อม อาหารก็ได้ สำหรับยา PTU ควรรับประทานยาพร้อมกับอาหาร
  • อาจแบ่งรับประทานยาเหล่านี้เป็น วันละ 2-3ครั้ง โดยขึ้นกับคำสั่งแพทย์
  • ระยะเวลาของการใช้ยาเหล่านี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • ระหว่างใช้ยาเหล่านี้ ระวังการเกิดภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด เพื่อตรวจเลือดดูระดับไทรอยด์ฮอร์โมนในรเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่
  • ห้ามหยุดรับประทานยาเหล่านี้หรือปรับขนาดรับประทานโดยไม่ได้ขอคำปรึกษา จากแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไทโอเอไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคเลือด รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยา และ/หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไทโอเอไมด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา ไทโอเอไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไทโอเอไมด์ตรงเวลา

ไทโอเอไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มไทโอเอไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ มีไข้
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดดีซ่าน ตับวาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดการทำงานของไขกระดูก เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ(Agranulocytosis) Eosinophilia(ภาวะเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophilในเลือดสูง) Thrombocytopenia(ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ) ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก

มีข้อควรระวังการใช้ไทโอเอไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไทโอเอไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง การลดหรือเพิ่มขนาดรับประทานตลอดจนถึงขั้นหยุดการใช้ยานี้ ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ต้องคอยตรวจสอบผลเลือดตามแพทย์สั่งว่า มีอาการของโลหิตจางหรือมีความผิดปกติในระบบเลือดของผู้ป่วยหรือไม่
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคที่มีความผิดปกติในระบบเลือด เช่น โลหิตจาง เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เป็นต้น
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น เกิดผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ยากลุ่มนี้อาจทำให้รู้สึก สับสน ความจำแย่ลง ควรมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อมีอาการดังกล่าว เพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ตามนัดหมายทุกครั้งเพื่อรับ การตรวจร่างกาย และการตรวจเลือดตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มไทโอเอไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) ควรปรึกษา เภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไทโอเอไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไทโอเอไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา PTU ร่วมกับยา Leflunomide อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ/ ตับอักเสบ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา PTU ร่วมกับยา Deferiprone(ยารักษาภาวะมีธาตุเหล็กสูงในเลือด) อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของไขกระดูก ทำให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวในเลือดลดต่ำลง ส่งผลลดภูมิคุ้มกันของร่างกายจนเกิดการติดเชื้อได้ง่าย เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Carbimazole ร่วมกับยา Theophylline อาจทำให้ระดับยา Theophylline ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Carbimazole ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้มีภาวะเลือดออกได้ง่ายขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยา Methimazole ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin สามารถทำให้เกิดภาวะตกเลือดหรือเลือดออกง่าย โดยสังเกตจากมีเลือดออกปนมากับปัสสาวะหรือกับอุจจาระ, หรืออาจมีอาการอาเจียน ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนแรง ก่อนการใช้ยา Methimazole ควรต้องแจ้งแพทย์ว่าผู้ป่วยมีการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือไม่ เพื่อแพทย์จะได้ปรับแนวทางการใช้ยาได้ถูกต้องและปลอดภัย
  • การใช้ Methimazole ร่วมกับยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เช่น Propranolol สามารถนำมาซึ่งอาการชีพจร/หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจติดขัด/หายใจลำบาก วิงเวียน อ่อนแรง และเป็นลม หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาไทโอเอไมด์อย่างไร

ควรเก็บยาไทโอเอไมด์ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาที่หมดอายุ

ไทโอเอไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไทโอเอไมด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Anti-Thyrox (แอนไท-ไทรอกซ์)Macleods Pharmaceuticals
Neo-Mercazole (นีโอ-เมอร์คาโซล)Nicholas Piramal India Ltd.
Thyrocab (ไทโรแค็บ)Abbott India Ltd
Thyroma (ไทโรมา)Pharma Synth Formulations Ltd.
Thyrosim (ไทโรซิม)Ankyl Earth Pharmaceuticals
Methimazole Yung Shin (เมไทมาโซล ยุง ชิน)Yung Shin
Tapazole (ทาพาโซล)DKSH
Timazol (ไทมาซอล)Sriprasit Pharma
P T U (พี ที ยู)T. O. Chemicals
Peteyu (พีทียู)Charoon Bhesaj 
Propylthiouracil GPO (โพรพิลไทโอยูราซิล จีพีโอ)GPO
Propylthiouracil Greater Pharma (โพรพิลไทโอยูราซิล เกรทเตอร์ ฟาร์มา)Greater Pharma
Propylthiouracil Lederle (โพรพิลไทโอยูราซิล ลีเดอร์เล)Lederle

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Thioamide [2016,Nov26]
  2. http://flipper.diff.org/app/items/Thioamides [2016,Nov26]
  3. http://www.pharmacology2000.com/Thyroid/thyroid4.html [2016,Nov26]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/propylthiouracil-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Nov26]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/methimazole-index.html?filter=2#W [2016,Nov26]
  6. http://en.wikipedia.org/wiki/Methimazole [2016,Nov26]
  7. https://www.drugs.com/uk/carbimazole-5mg-tablets-leaflet.html [2016,Nov26]
  8. http://www.mims.com/thailand/drug/info/carbimazole/?type=brief&mtype=generic [2016,Nov26]