ไทโอริดาซีน (Thioridazine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไทโอริดาซีน (Thioridazine ชื่ออื่นคือ Mellaril, Melleril) เป็นอนุพันธุ์ในกลุ่มยา Phenothia zines ใช้แพร่หลายในการบำบัดรักษาโรคทางจิตเวชประเภทโรคจิตเภท มีคำเตือนทางคลินิกถึงการใช้ยาไทโอริดาซีนอย่างไม่ระมัดระวังว่าสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้าง เคียง) ด้านหัวใจเต้นผิดจังหวะและอาจเป็นผลให้เสียชีวิต (ตาย) ในทันทีโดยเฉพาะกับผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมักมีอาการความจำเสื่อมร่วมด้วย ดังนั้นยานี้จึงถูกจัดเป็นทางเลือกท้ายๆเมื่อใช้ยาตัวอื่นบำบัดผู้ป่วยทางจิตเภทแล้วไม่ได้ผล

รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาไทโอริดาซีนจะเป็นชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร จะมีตัวยาบางส่วนหลงเหลืออยู่ในลำไส้ ซึ่งยาไทโอริดาซีนในกระแสเลือด สามารถซึมผ่านรกและผ่านออกมากับน้ำนมของมารดาได้ ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 21 - 24 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับอุจจาระ

ยาไทโอริดาซีนจะออกฤทธิ์กดการทำงานที่สมองและยังมีฤทธิ์กดศูนย์ควบคุมการหายใจในสมอง การได้รับยานี้เป็นปริมาณมากเกินไปจะทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจได้ นอกจากนี้ตัวยานี้ยังส่งผลต่อการทำงานของเม็ดเลือดโดยทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำชนิดที่เรียกว่า Leukopenia และ/หรือ Agranulocytosis ได้อีกด้วย อาการชักก็เป็นอีกหนึ่งผลข้างเคียงของยาที่มีรายงานทางคลินิกว่าเกิดกับผู้ป่วยที่ได้รับยาไทโอริดาซีนและถือเป็นเหตุผลที่แพทย์จะจ่ายยากันชักร่วมกับไทโอริดาซีน

ปกติแพทย์จะคอยปรับขนาดรับประทานยาไทโอริดาซีนให้กับผู้ป่วยเป็นลำดับทีละน้อย ด้วยบางกลไกของยานี้จะทำให้ร่างกายดูดเก็บสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Epinephrine จึงมีผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน (Orthostatic hypotension) ซึ่งพบอุบัติการณ์นี้กับผู้ป่วยที่เป็นสตรีเสียเป็นส่วนมาก

อาจกล่าวโดยรวมๆว่ายาไทโอริดาซีนสามารถก่อผลข้างเคียงต่ออวัยวะและระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้หลากหลายเช่น ต่อสมอง ต่อระบบประสาทอัตโนมัติ ต่อระบบการทำงานของหัวใจ รวมถึงต่อระบบต่อมไร้ท่อ และต่อผิวหนัง เป็นต้น

สำหรับขนาดรับประทานยาไทโอริดาซีนของผู้ใหญ่อยู่ที่ 50 - 100 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง โดยแพทย์จะค่อยๆปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสม และใช้ยานี้ไม่เกิน 800 มิลลิกรัม/วัน สำหรับเด็กแพทย์จะคำนวณขนาดยาตามน้ำหนักตัวโดยใช้เกณฑ์การให้ยาที่ 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน และขนาดรับประทานสูงสุดของเด็กต้องไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน การได้รับยานี้ผิดเกินขนาดจะมีผลต่อระบบการทำงานของหัวใจได้อย่างเด่นชัดโดยสามารถก่อให้เกิดภาวะช็อก หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีความดันโลหิตต่ำ ตามลำดับ

การบำบัดผู้ที่ได้รับยาไทโอริดาซีนเกินขนาดจะต้องให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ควบคุมการเต้นของหัวใจให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว การใช้ยากระตุ้นให้ความดันโลหิตที่ต่ำกลับ มาเป็นปกติเช่นยา Phenylephrine, Levarterenol/Norepinephrine หรือ Metaraminol ถือเป็นยาทางเลือกที่แพทย์มักจะนำมาใช้ช่วยชีวิตให้กับผู้ป่วย รวมถึงการใช้วิธีล้างท้องและการใช้ยาถ่านกัมมันต์เพื่อลดการดูดซึมของยาไทโอริดาซีนเข้าสู่ร่างกายก็เป็นอีกวิธีการที่สามารถใช้ร่วมกัน

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาไทโอริดาซีนอยู่ในบัญชียาหลักแห่ง ชาติจัดอยู่ในหมวดของยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ อีกทั้งมีผลข้างเคียงมากมายต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว และจะพบเห็นการใช้ยาไทโอริดาซีนแต่ในสถานพยาบาลเสียเป็นส่วนมาก

ไทโอริดาซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไทโอริดาซีน

ยาไทโอริดาซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช่รักษาและบำบัดอาการทางจิตเภท (Schizophrenia)

ไทโอริดาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไทโอริดาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของตัวรับ(Receptor) ในสมองที่เรียกว่า โพสไซแน็ปติก มีโซลิมบิก โดปามิเนอจิก รีเซ็ปเตอร์ (Postsy naptic mesolimbic dopaminergic receptors) อีกทั้งยังกดการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์/จิตใตจากสมองส่วนไฮโปทาลามัสและจากต่อมใต้สมอง ดัวยกลไกดังกล่าวจึงทำให้มีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ไทโอริดาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไทโอริดาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 10, 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด

ไทโอริดาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไทโอริดาซีนมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 50 - 100 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ และแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานได้จาก 200 - 800 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งการให้ยาเป็น 2 - 4 ครั้ง
  • เด็กอายุ 2 - 12 ปี: เริ่มต้นขนาดรับประทาน 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 2 - 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโล กรัม/วัน
  • เด็กอายุ 13 - 18 ปี: รับประทานครั้งละ 50 - 100 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งก่อนหรือหลังอา หารก็ได้ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานได้จาก 200 - 800 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งการให้ยาเป็น 2 - 4 ครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีลงมา

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไทโอริดาซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไทโอริดาซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไทโอริดาซีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไทโอริดาซีนตรงเวลา

ไทโอริดาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไทโอริดาซีนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น มีอาการกระสับกระส่าย ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย วิงเวียน ง่วงนอน ปากแห้ง ม่านตาขยายกว้าง คลื่นไส้ อาเจียน และแน่น/คัดจมูก

*อนึ่ง อาการข้างเคียงที่รุนแรงซึ่งอาจพบได้เช่น หายใจลำบาก/แน่นหน้าอก มีผื่นคันตาม ผิวหนัง ปาก-ใบหน้า-ลิ้นมีอาการบวม รู้สึกสับสน เป็นลม หัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดจังหวะ กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า-คอ-หลังมีอาการเกร็งตัว เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง อารมณ์แปรปรวน ชาตามแขนขา มีอาการชัก ตัวสั่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ตัวเหลืองตาเหลือง มือ-เท้ามีอาการบวม ปัสสาวะขัดและอาจมีสีคล้ำ อุจจาระมีสีซีด การบังคับสายตาทำได้ลำบากขึ้น มีเหงื่อออกมาก หากพบอาการข้างเคียงที่รุนแรงดังกล่าวควรรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ไทโอริดาซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไทโอริดาซีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไทโอริดาซีนหรือแพ้ยาในกลุ่ม Phenothiazines
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่อยู่ในอาการง่วงนอนอย่างมาก ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือความดันโลหิตต่ำในระดับรุนแรง รวมถึงผู้ที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียม ในเลือดต่ำ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับยาที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางเช่น ยา Barbiturates หรือยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติดอย่างเช่น Codeine
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่กำลังใช้ยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเช่น ยา Amiodarone, Bretylium, Quinidine และ Sotalol เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงหรือโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง ผู้ที่มีภาวะไขกระดูกทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีประวัติลมชัก ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ที่มีภาวะปอดติดเชื้อ/ปอดอักเสบ ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ผู้ป่วยด้วยภาวะ Reye syndrome ผู้ที่มีระดับฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin, ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่กระตุ้นการสร้างน้ำนม) ในกระแสเลือดสูง รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เป็นต้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะติดสุราหรือผู้ที่มีประวัติติดสาร/ยาเสพติด
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงด้วยความสามารถในการทนต่ออุณหภูมิสูงๆของผู้ป่วยจะทำได้ไม่ดีเหมือนคนปกติ
  • ยานี้สามารถทำให้ระดับฮอร์โมนโปรแลคตินในเลือดสูงส่งผลให้พบภาวะเต้านมโต มีน้ำ นมไหล ลดสมรรถนะทางเพศ หากพบอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการบำบัดรักษา
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจทำให้การตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติไป จึงควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาโรคเบาหวานทราบด้วยว่าผู้ป่วยมีการใช้ยาไทโอริดาซีนร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงของการเกิดอาการข้างเคียงมากกว่ากลุ่มอื่น หากมีการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ญาติควรเฝ้าระวังและคอยติดตามอาการของผู้ป่วยหลังใช้ยานี้อย่างใกล้ชิด
  • กรณีที่ใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่เหมาะสมพบว่าอาการยังไม่ดีขึ้นหรือกลับแย่ลง ให้รีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไทโอริดาซีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไทโอริดาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไทโอริดาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • ห้ามใช้ยาไทโอริดาซีนร่วมกับยา Diphenhydramine, Bupropion ด้วยจะทำให้ระดับของยาไทโอริดาซีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดอันตรายติดตามมาเช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไทโอริดาซีนร่วมกับยา Amitriptyline ด้วยจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียง ต่อระบบประสาทเช่น ง่วงนอนมาก รู้สึกสับสน อาเจียน ตาพร่า รู้สึกร้อนหรือหนาว เหงื่อออกมาก เป็นลม หรือมีภาวะลมชักเกิดขึ้นได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประ ทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • ห้ามใช้ยาไทโอริดาซีนร่วมกับยา Azithromycin, Ondansetron ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรวมถึงมีระดับเกลือแมกนีเซียมและเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำลง รวมถึงอาจมีอาการข้างเคียงอื่นๆติดตามมาเช่น วิงเวียน หายใจลำบาก เป็นลม ชีพจรเต้นผิดปกติ เป็นต้น
  • การใช้ยาไทโอริดาซีนร่วมกับยา Tramadol อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะลมชักได้ง่ายโดย เฉพาะการใช้ยาร่วมกันในผู้ป่วยสูงอายุ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาไทโอริดาซีนอย่างไร

ควรเก็บยาไทโอริดาซีนในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง แดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไทโอริดาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไทโอริดาซีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Dazine-P (ดาซีน-พี) P P Lab
Ridazine (ไรดาซีน) Atlantic Lab
Thiomed (ไทโอเมด) Medifive
Thiosia (ไทโอเซีย) Asian Pharm

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/pro/thioridazine.html [2016,Jan23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Thioridazine [2016,Jan23]
  3. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Thioridazine [2016,Jan23]
  4. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Thiomed/?type=brief [2016,Jan23]
  5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/64#item-8491 [2016,Jan23]
  6. http://www.drugs.com/drug-interactions/thioridazine-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Jan23]