ไตวาย ตายไว (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

ไตวาย ตายไว

ในส่วนของการป้องกัน พญ.ธนันดา กล่าวว่า หากทำได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะดีที่สุด อย่าปล่อยให้ไตพังลง เพราะบางครั้งผู้ป่วยก็ไม่แสดงอาการเลย สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าต้องมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาคือ บวม ตื่นนอนตอนเช้าแล้วตาบวมมาก ๆ ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะน้อยลง เป็นฟอง แสดงว่ามีไข่ขาวรั่วมาก เพราะไตถูกทำลาย ความดันสูง

อย่างไรก็ตาม พญ.ธนันดา อยากให้ประชาชนตระหนักและใส่ใจกับการตรวจร่างกายมากขึ้น อย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไต หรือเป็นโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปเองก็ต้องตระหนักเฝ้าระวังตัวเอง

ทั้งนี้เพราะการตรวจเจอโรคในระยะที่เพิ่งจะก่อตัวยังสามารถปรับพฤติกรรมนำไปสู่การหายจากโรคได้ แต่ปัญหาส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็นโรคนี้จะไม่ค่อยรู้ตัว ทราบอีกทีก็ตอนที่โรคดำเนินมาถึงระยะรุนแรงแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

นอกจากนี้ พญ.ธนันดา ยังแนะนำว่าควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต รับประทานอาหารให้อ่อนเค็มลง ทานโปรตีนน้อยลงหน่อยเพื่อถนอมไต ปรับวิถีชีวิต งดเหล้า บุหรี่ ช่วยได้ในระยะยาว ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องรณรงค์ให้ความรู้กันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี

ในส่วนหนึ่งของการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยควบคุมอาหารและการทำงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะของผู้ป่วย การทำงานของไต และสุขภาพโดยรวม ซึ่งในเรื่องของอาหารนั้นแพทย์อาจแนะนำให้

  • ลดอาหารเค็ม อาหารที่มีโซเดียม รวมถึงอาหารสะดวก (Convenience foods) เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง อาหารจานด่วน (Fast foods) อาหารเคี้ยวเล่นที่มีเกลือ (Salty snack foods) ผักกระป๋อง เนื้อแปรรูป (Processed meats) และเนยแข็ง (Cheeses)
  • เลือกอาหารที่มีโปแตสเซียมต่ำในแต่ละมื้อ อาหารที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น กล้วยหอม ส้ม มัน ผักโขม และมะเขือเทศ สำหรับอาหารที่มีโปแตสเซียมต่ำ เช่น แอปเปิ้ล กะหล่ำปลี แครอท ถั่วสีเขียว องุ่น และบลูเบอรี่ นอกจากนี้ยังต้องระวังอาหารที่ใช้แทนเกลือ (Salt substitutes) ซึ่งมักจะมีส่วนประกอบของโปแตสเซียมอยู่ด้วย
  • จำกัดจำนวนโปรตีนที่กิน อาหารที่มีโปรตีนสูง ได้แก่ เนื้อแดง (Lean meats) ไข่ นม เนยแข็ง และถั่ว ส่วนอาหารที่มีโปรตีนต่ำ ได้แก่ ผัก ผลไม้

สำหรับการป้องกันการเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ทำได้โดย

  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หากจะดื่มควรดื่มเพียงเล็กน้อย
  • กินยาให้ตรงตามคำแนะนำ เมื่อใช้ยาสามัญเพื่อลดอาการปวดอย่าง ยา Aspirin ยา Ibuprofen ยา Acetaminophen ให้ปฏิบัติตามฉลากการใช้ยา การกินยาแก้ปวดมากเกินไปจะทำลายไตและควรหลีกเลี่ยงยาเหล่านี้หากเป็นโรคไต
  • รักษาน้ำหนักตัวให้พอดี
  • อย่าสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ

แหล่งข้อมูล

  1. ‘โรคไต’ ป้องกันได้แต่เนิ่นๆ http://www.dailynews.co.th/article/331055 [2015, July 21].
  2. Chronic kidney disease. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/kidney-disease/basics/definition/con-20026778 [2015, July 21].