ไตวาย ตายไว (ตอนที่ 5)

ไตวาย ตายไว

โรคไตวายเรื้อรังสามารถกระทบต่ออวัยวะทุกส่วนในร่างกาย โดยอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • มีการกักเก็บน้ำ (Fluid retention) จนนำไปสู่การบวมของแขนและขา ความดันโลหิตสูง หรือภาวะปอดบวมน้ํา (Pulmonary edema)
  • มีภาวะโปแตสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalemia) ทำให้การทำงานของหัวใจแย่ลงและอาจเสียชีวิต
  • เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease)
  • กระดูกอ่อนและง่ายต่อการแตกหัก
  • มีภาวะโลหิตจาง (Anemia)
  • สมรรถภาพทางเพศหย่อน (Impotence)
  • ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีผลต่อสมาธิ บุคลิกภาพ หรือมีอาการชัก (Seizures)
  • ระบบภูมิต้านทานลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
  • เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)
  • มีความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนต่อหญิงมีครรภ์และทารก
  • ไตเสื่อม จนถึงขั้นที่ต้องฟอกไต (Dialysis) หรือ ปลูกถ่ายไต (Kidney transplant)

การรักษาโรคนี้มุ่งเน้นไปที่การชลอให้ไตเสียอย่างช้าๆ โดยควบคุมสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เป็น โรคไตบางชนิดสามารถรักษาให้หายได้ แม้ว่าโรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่จะรักษาไม่หาย โดยทั่วไปการรักษาจะใช้วิธีควบคุมอาการ ลดอาการแทรกซ้อน และทำให้พัฒนาการของโรคเป็นไปได้ช้า

การรักษาโรคแทรกซ้อนอาจใช้วิธีทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น เช่น

  • ให้ยาลดความดันโลหิตสูง เพราะความดันโลหิตสูงจะลดการทำงานของไตลงและเปลี่ยนระดับอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ดังนั้นจึงอาจต้องมีการตรวจเลือดอยู่เป็นประจำ
  • ยาลดคลอเรสเตอรอล เพราะผู้ที่เป็นโรคไตมักมีระดับไขมันตัวร้ายที่สูง
  • ยารักษาโรคโลหิตจาง เพื่อไม่ให้รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลียเกินไป
  • ยาลดบวม
  • ยาป้องกันกระดูก เช่น แคลเซียมและวิตามินดีเพื่อป้องกันกระดูกหัก หรือยาลดปริมาณฟอสเฟตในเลือดเพื่อป้องกันหลอดเลือดถูกทำลายจากการสะสมตัวของแคลเซียม (Calcification)
  • ลดอาหารที่มีโปรตีนสูงเพื่อลดของเสียในร่างกาย เพราะขณะที่ร่างกายย่อยโปรตีนจากอาหาร จะเกิดการสร้างของเสียที่ไตต้องทำหน้าที่กรองจากเลือด ดังนั้นเพื่อลดการทำงานของไต แพทย์อาจแนะนะให้กินโปรตีนน้อยลง

สำหรับการรักษาโรคไตระยะสุดท้าย จำเป็นต้องให้

  • การฟอกไต (Dialysis) เพื่อลดของเสียและของเหลวส่วนเกินออกจากเลือดเพราะไตไม่สามารถทำงานนี้ได้ ซึ่งมีทั้งการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ซึ่งมักจะฟอก 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และการต่อสายท่อล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal dialysis = PD) โดยทำที่บ้านทุกวัน
  • การปลูกถ่ายไต (Kidney transplant) เป็นการเปลี่ยนไตที่ได้จากการบริจาค ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องกินยาไปตลอดชีวิตเพื่อลดการปฏิเสธอวัยวะ (Rejecting the new organ)

แหล่งข้อมูล

  1. Chronic kidney disease. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/kidney-disease/basics/definition/con-20026778 [2015, July 20].