ไตวาย ตายไว (ตอนที่ 4)

ไตวาย ตายไว

พญ.ธนันดา ชี้แจงว่า ถ้าไตเสื่อมมาก ๆ จะซีด อ่อนเพลีย ไม่อยากรับประทานอาหาร คลื่นไส้อาเจียนเหมือนกับคนแพ้ท้อง ถ้าเป็นมากจะซึมลง ของเสียคั่ง เหนื่อยง่าย การรู้สติลดลง ถึงขั้นโคม่าไป

ซึ่ง พญ.ธนันดา ได้อธิบายว่า โรคไตแบ่งออกเป็น 5 ระยะ โดยระยะที่ 1 การทำงานของไตยังเป็นปกติเกือบร้อยละ 100 ระยะที่ 2 การทำงานของไตลดลงเหลือเพียงร้อยละ 60 ระยะที่ 3 ลดเหลือร้อยละ 40 ระยะที่ 4 ลดเหลือร้อยละ 15 ตามลำดับ และเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายจะน้อยกว่าร้อยละ 15

โดยระยะที่ 1-3 จะยังไม่แสดงอาการ แต่การคาบเกี่ยวของระยะที่ 3 ไประยะที่ 4 จะเริ่มบวม ความดันสูง อาการจะชัดเจนเมื่อการทำงานของไตถึงระยะสุดท้าย จะมีความดันสูง เพลีย เบื่ออาหาร ความคิด ความอ่าน ความจำลดลง ต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต อาทิ ฟอกเลือด ล้างไตทางหน้าท้อง ผ่าตัดเปลี่ยนไต เป็นต้น

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคไตเรื้อรังหรือไม่ สามารถทำได้โดย

  • การตรวจเลือด เพื่อดูระดับของเสียในเลือด เช่น ครีเอตินิน (Creatinine) ซึ่งเป็นของเสียที่มาจากการทำงานของกล้ามเนื้อ ผลที่ได้จากการตรวจหาค่าครีเอตินินนั้นจะใช้ในการประเมินค่าการทำงานของไต หรือ GFR (Glomerular filtration rate) ค่าการทำงานของไตนี้เป็นวิธีการวัดที่ดีที่สุด จะบอกว่าไตทำงานได้มากน้อยเพียงใด ค่าการทำงานของไตที่ต่ำอาจหมายถึงไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หรือเสียหน้าที่ในการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย

[คนปกติค่า GFR เท่ากับ 125 หมายถึงไตสามารถกรองได้ปริมาตร 125 มล.ต่อนาที โดยคำนวณจากอายุ เชื้อชาติ เพศ และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งแพทย์จะประเมินความรุนแรงของไตเป็น 5 ระดับ ได้แก่

  • ระยะที่ 1: ค่า GFR เท่ากับ 90 หรือมากกว่า (ถือว่าการทำงานของไตปกติ)
  • ระยะที่ 2: ค่า GFR เท่ากับ 60-90 (ควรเฝ้าระวังเพราะมีการทำงานของไตเสื่อมลงเล็กน้อย)
  • ระยะที่ 3: ค่า GFR เท่ากับ 30-59 (การทำงานของไตเสื่อมลงปานกลาง)
  • ระยะที่ 4: ค่า GFR เท่ากับ 15-29 (การทำงานของไตเสื่อมลงอย่างรุนแรง)
  • ระยะที่ 5: ค่า GFR น้อยกว่า 15 (ไตวาย ต้องทำการฟอกไต)]
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อความผิดปกติของปัสสาวะและหาสาเหตุของโรค เพื่อดูค่า Albumin to Creatinine Ratio (ACR) ซึ่งมีค่าวัดที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถาบัน เพราะหากมีจำนวนโปรตีนในเลือดที่สูงก็อาจหมายความว่าการทำหน้าที่กรองของไตแย่ลง หรือไม่ก็อาจเกิดจากการเป็นไข้หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก
  • การถ่ายภาพ (Imaging tests) ด้วยอัลตราซาวด์หรืออื่นๆ เพื่อดูรูปร่างและขนาดของไต
  • การตัดตัวอย่างของเนื้อเยื่อไตไปตรวจ (Kidney biopsy)

แหล่งข้อมูล

  1. ‘โรคไต’ ป้องกันได้แต่เนิ่นๆ http://www.dailynews.co.th/article/331055 [2015, July 18].
  2. Chronic kidney disease. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/kidney-disease/basics/definition/con-20026778 [2015, July 19].
  3. How Your Kidneys Work. https://www.kidney.org/kidneydisease/howkidneyswrk [2015, July 19].
  4. About Chronic Kidney Disease. https://www.kidney.org/prevention [2015, July 18].