ไดโซไพราไมด์ (Disopyramide)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ไดโซไพราไมด์(Disopyramide) คือ ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ จัดอยู่ในกลุ่มยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Sodium channel blocker, ยาเกี่ยวข้องกับการทำงานของโซเดียมในกล้ามเนื้อหัวใจ), ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดต่างๆ เช่น  หัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ,  โดยตัวยาจะมีกลไกลดการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ, โดยมีรูปแบบเป็นยา รับประทาน และยาฉีด

นอกจากนี้ ตัวยาไดโซไพราไมด์ยังสามารถออกฤทธิ์เป็นสารประเภท Anticholinergic ได้อีกด้วย  ซึ่งผลที่ตามมาคือ ยานี้ทำให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้มากมายตามการออกฤทธิ์เช่นกัน

 ยาไดโซไพราไมด์ทั้งชนิดยารับประทานและชนิดยาฉีด(ขึ้นกับแต่ละประเทศ) ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกายได้น้อยหากใช้ยาอย่างถูกต้อง,  หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร/เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือด ยานี้บางส่วนประมาณ 50 – 65% จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีน,    ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยานี้,  ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 4 – 10 ชั่วโมงเพื่อการกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ 

มีเงื่อนไขบางประการที่ผู้ป่วยควรทราบก่อนที่จะได้รับยาไดโซไพราไมด์มาใช้ เช่น

  • ต้องไม่มีประวัติแพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยาไดโซไพราไมด์มาก่อน
  • ไม่อยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้น (Second/third-degree heart block)
  • ไม่ได้กำลังใช้ยาอื่นที่รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือที่อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาไดโซไพราไมด์ เช่นยา Astemizole, Cisapride,  Amiodarone,  Sotalol,  ยากลุ่ม Phenothiazine,  ยากลุ่ม Quinolone, และ  Terfenadine
  • ประวัติสุขภาพและโรคประจำตัวที่มีผลกระทบต่อการใช้ยาไดโซไพราไมด์, ผู้ป่วยควรต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษารับทราบ เช่น  อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร  มีภาวะหัวใจโต ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคต้อหิน โรคเบาหวาน เป็นโรคตับ โรคไต โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง  มีระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงหรือมีระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำเกินไป   มีภาวะปัสสาวะขัด   อยู่ในภาวะ Wolff-Parkinson-white syndrome (กลุ่มอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหนึ่งที่เกิดแต่กำเนิด พบได้น้อยมาก) หรือมีปัญหาสุขภาพของต่อมลูกหมาก

นอกจากนี้ ยังมีข้อแนะนำอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่น การใช้ยาไดโซไพราไมด์ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด 

อย่างไรก็ตาม ข้อดีบางประการของยาไดโซไพราไมด์ คือ สามารถรับประทาน ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้   

ในระหว่างการใช้ยาไดโซไพราไมด์แล้วเกิดอาการ วิงเวียน ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย,  นอกจากนั้น ผู้ป่วยไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อน ด้วยผลข้างเคียงจากยานี้อาจกระตุ้นให้เกิดโรคลมแดดได้   

ทั้งนี้ผู้สูงอายุ จะเป็นกลุ่มที่จะเกิดอาการข้างเคียงจากยาไดโซไพราไมด์ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอายุอื่น,  และยานี้ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้กับเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ด้วยยังไม่มีการศึกษาข้อมูลความปลอดภัยที่แน่ชัดทางคลินิก 

*กรณีเกิดข้อผิดพลาดในการใช้ยาไดโซไพราไมด์ เช่น รับประทานยานี้เกินขนาด อาจสังเกตจากอาการดังต่อไปนี้ เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ  หยุดหายใจเป็นระยะๆขณะนอนหลับ  ขาดสติสัมปชัญญะ  ภาวะหัวใจล้มเหลว  ความดันโลหิตต่ำ  หัวใจเต้นช้า

*การดูแลรักษาคือ จะต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน 

ยาไดโซไพราไมด์จัดเป็นยาอันตรายหากใช้ผิดวิธี นอกจากอาการโรคจะไม่ดีขึ้นแล้ว อาจส่งผลข้างเคียงมากมาย, ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย/ผู้บริโภค การใช้ยาไดโซไพราไมด์ควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

ไดโซไพราไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาไดโซไพราไมด์มีสรรพคุณ/ ข้อบ่งใช้:   

  • บำบัดรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ไดโซไพราไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดโซไพราไมด์ คือตัวยาจะลดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ  ทำให้อัตราการคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจกลับเป็นปกติ ลดแรงการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ  รวมถึงปรับสัญญาณที่ใช้ควบคุมการเต้นของหัวใจให้กลับเป็นปกติ,จากกลไกเหล่านี้จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ

ไดโซไพราไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไดโซไพราไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 100 และ 150 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด

ไดโซไพราไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไดโซไพราไมด์ มีขนาดรับประทาน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 – 800 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุกๆ 6 ชั่วโมง, ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับของการรักษาอยู่ที่ 600 มิลลิกรัม/วัน, ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย กว่า 50 กิโลกรัมลงมา ไม่ควรรับประทานยานี้เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กอย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต แพทย์จะทำการปรับลดขนาดรับประทานตามความเหมาะสม

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้  การใช้ยาที่เหมาะสม  ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไดโซไพราไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น                       

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดโซไพราไมด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน                                                      
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไดโซไพราไมด์  สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไดโซไพราไมด์ ตรงเวลา

ไดโซไพราไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาไดโซไพราไมด์ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย:  เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก ปากคอแห้ง คลื่นไส้ ท้องอืด เบื่ออาหาร  ท้องเสีย  อาเจียน
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ  ความดันโลหิตต่ำ ภาวะหัวใจล้มเหลว  การหดตัวของหัวใจลดลง หัวใจห้องล่างซ้ายทำงานผิดปกติ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด   ปัสสาวะบ่อย  สมรรถภาพทางเพศถดถอย
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ  ตับอ่อนมีการปลดปล่อยฮอร์โมนอินซูลินมากขึ้น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดอาการผื่นคัน
  • ผลต่อการมองเห็น: เช่น  อาการตาพร่าอาจเกิดขึ้นได้

มีข้อควรระวังการใช้ไดโซไพราไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ไดโซไพราไมด์: เช่น           

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร  เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทาน หรือหยุดการใช้ยานี้ โดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ระวังการใช้ยานี้ซ้ำซ้อนกับยาเดิมของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยมีการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยยาอื่นอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ระวังการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจสอบความดันโลหิตเป็นประจำ   
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต  โรคต้อหิน  โรคเบาหวาน
  • ปฏิบัติตัว รับประทานยาต่างๆ อาหาร  การออกกำลังกาย ตามคำแนะนำของแพทย์ และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไดโซไพราไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ  haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไดโซไพราไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไดโซไพราไมด์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไดโซไพราไมด์ ร่วมกับกลุ่มยาที่จะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะติดตามมา  กลุ่มยาดังกล่าว เช่นยา  Astemizole,  Apomorphine,  Ritodrine,  Promethazine,  Hydroxyzine, Chloroquine,  Propoxyphene, Clozapine,  Ondansetron,  Sertraline,  Amitriptyline
  • การใช้ยาไดโซไพราไมด์ ร่วมกับยา Hyoscyamine อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนตาพร่า  ปากคอแห้ง  การทนความร้อนหรืออุณหภูมิสูงของร่างกายได้ไม่ดีเท่าเดิม เหงื่อออกน้อยลง  ปัสสาวะขัด  หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไดโซไพราไมด์ ร่วมกับยา Amiodarone อาจทำให้มีการรบกวนจังหวะการเต้นของหัวใจ  ด้วยยา Amiodarone จะทำให้ระดับยาไดโซไพราไมด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือ แพทย์ปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • การใช้ยาไดโซไพราไมด์ ร่วมกับยา Atazanavir  จะทำให้ร่างกายได้รับอาการข้างเคียงจากยาไดโซไพราไมด์มากขึ้น โดยจะพบอาการ  ปากคอแห้ง  ปวดท้อง  ท้องผูก   ตาพร่า  ปัสสาวะขัด  น้ำตาลในเลือดต่ำ  กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาไดโซไพราไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาไดโซไพราไมด์: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์  
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไดโซไพราไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไดโซไพราไมด์  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Norpace (นอร์เพส) Searle
Regubeat (เรกูบีท) Glaxo SmithKline

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Disopyramide#Mechanism_of_action  [2022,Dec17]
  2. https://www.drugs.com/dosage/disopyramide.html  [2022,Dec17]
  3. https://www.mims.com/India/drug/info/disopyramide/?type=full&mtype=generic#Actions  [2022,Dec17]
  4. https://www.drugs.com/imprints/searle-2752-norpace-100-mg-2252.html  [2022,Dec17]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/disopyramide-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,Dec17]
  6. https://www.medindia.net/drug-price/disopyramide.htm  [2022,Dec17]