ไดโคลฟีแนค (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

โรคหรือสภาวะที่ห้ามใช้ไดโคลฟีแนค ได้แก่

  • มีภาวะไว/แพ้ยา ต่อยาไดโคลฟีแนค
  • มีประวัติการแพ้ยาต่อการใช้แอสไพรินหรือยาเอ็นเซด (NSAID) ตัวอื่น เช่น หลอดลมหดเกร็ง (Bronchospasm) ช็อค (Shock) เยื่อจมูกอักเสบ (Rhinitis) เป็นลมพิษ (Urticaria)
  • อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ระยะที่ 3 (Third-trimester pregnancy) การตั้งครรภ์อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ การตั้งครรภ์ระยะแรก เริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 14 (ระยะเวลาอยู่ในครรภ์ 1 – 98 วัน) การตั้งครรภ์ระยะที่ 2 นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ 15 จนสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 28 (ระยะเวลาอยู่ในครรภ์ 99 – 196 วัน) และการตั้งครรภ์ระยะที่ 3 นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ 29 จนถึงครบกำหนดคลอดในสัปดาห์ที่ 42 (ระยะเวลาอยู่ในครรภ์ 197 – 294 วัน)]
  • มีแผลในกระเพาะอาหาร (Duodenal ulceration) หรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding)
  • เป็นโรคกลุ่มอาการลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease = IBD) เช่น โรคโครนส์ (Crohn's disease) หรือ แผลในลำไส้ใหญ่ (Ulcerative colitis)
  • มีภาวะหัวใจล้มเหลว (NYHA III/IV)
  • มีภาวะตับวาย (Child-Pugh Class C)
  • มีภาวะไตวาย (Creatinine clearance น้อยกว่า 30 ml/min)
  • ผู้ป่วยที่มีอาการเลือดไหลรุนแรง เช่น เลือดออกในสมอง (Cerebral hemorrhage)
  • ผู้ป่วยที่เป็นไข้เด็งกี (Dengue fever) หรือไข้เลือดออก

มีรายงานว่า มีผู้ป่วยร้อยละ 2 ที่ต้องใช้หยุดใช้ไดโคลฟีแนค สาเหตุเพราะมีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งผู้ที่มีแผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหารควรหยุดใช้ไดโคลฟีแนคทันที

และจากงานวิจัยในเดือนเมษายน พ.ศ.2549 พบว่า ไดโคลฟีแนคมีผลต่อการเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.63 เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้ยา อย่างไรก็ดีผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังก็ยินดีที่จะใช้ยานี้เพื่อลดความเจ็บปวดเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย ในขณะที่พบว่ายาแก้ปวดแอสไพรินนั้นไม่ได้มีผลต่อการเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น แต่กลับมีผลต่อโรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulceration)

ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556 Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency (MHRA) ของสหราชอาณาจักร ได้แนะนำว่าไม่ควรใช้ไดโคลฟีแนคในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวาย โรคหัวใจ หรือหัวใจขาดเลือดเป็นอย่างยิ่ง รวมถึง David Graham เจ้าหน้าที่แพทย์ขององค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกาก็ได้สรุปว่า ไดโคลฟีแนคเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) ด้วย

นอกจากนี้ไดโคลฟีแนคอาจทำให้เกิดอาการทางจิตได้บ้าง เช่น หดหู่ซึมเศร้า วิตกกังวล หงุดหงิดฉุนเฉียว ฝันร้ายและอาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ส่วนการใช้ไดโคลฟีแนคเป็นระยะเวลานานอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อตับ ดังนั้นจึงควรตรวจการทำงานของตับอยู่เป็นประจำด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Diclofenac. http://en.wikipedia.org/wiki/Diclofenac [2014, 2014, March 1].