ไดโคลฟีแนค (ตอนที่ 1)

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงนามในหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาล เรื่อง ขอความอนุเคราะห์รายงานการใช้ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยมีสาระสำคัญว่า

อย.ได้รับรายงานถึงกรณีการใช้ยา Diclofenac ที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อแล้วพบอาการชาและอ่อนแรงในผู้ป่วยหลายราย โดยยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังการใช้ยาและติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังจากการใช้ยา Diclofenac ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม - 15 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เพื่อวิเคราะห์หาความเสี่ยงต่อไป

ทั้งนี้ นพ.ปฐม กล่าวว่า ยาไดโคลฟีแนคเป็นยาชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ไม่มีวางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป เพราะสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งการเฝ้าระวังยาเป็นการดำเนินการตามปกติของ อย.หากมีความจำเป็นต้องเฝ้าระวังยาตัวใด อย.จะแจ้งให้หน่วยพยาบาลทราบ เพื่อขอความร่วมมือ

และเมื่อได้รับข้อมูลการเฝ้าระวังยาดังกล่าวจากโรงพยาบาลในระยะเวลาตามที่ อย.กำหนดแล้ว จะนำข้อมูลมาพิจารณาว่า อาการไม่พึงประสงค์ที่รายงานมานั้นสัมพันธ์กับยาหรือไม่ รวมถึงมีการตรวจสอบข้อมูลวิชาการส่วนอื่นเพิ่มเติมด้วย โดยจะมีคณะทำงานดำเนินการเพื่อดูว่า ยามีความเสี่ยงในการใช้มากน้อยเพียงใด หากเห็นว่าจำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการในการติดตามเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์และอันตรายจากการใช้ยาก็จะดำเนินการต่อไป

ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drug = NSAID) ใช้เพื่อลดการอักเสบ (Inflammatory disorders) บรรเทาปวด (Analgesic) และลดอาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) โดยมีชื่อทางการค้าที่แตกต่างกันไป

โดยอาการอักเสบอาจรวมถึง การอักเสบในส่วนของกล้ามเนื้อและโครงกระดูก (Musculoskeletal complaints) โดยเฉพาะโรคปวดข้อ (Arthritis) โรคเรื้อรังที่มีอาการอักเสบตามข้อต่อ (Rheumatoid arthritis) โรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Polymyositis) โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis) โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ปวดฟัน (Dental pain) ปวดกราม (TMJ pain) ข้อกระดูกสันหลังอักเสบ (Spondylarthritis) ข้อสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing spondylitis) โรคเกาต์ (Gout attacks) และจัดการกับความเจ็บปวดในกรณีที่มีนิ่วในไต (Kidney stones) นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones)

ไดโคลฟีแนคยังใช้กับอาการปวดเรื้อรังที่เกี่ยวกับโรคมะเร็ง และในกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกับสารฝิ่น (Opioids) ได้ และอาการไข้จากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin's lymphoma) ก็สนองตอบต่อการใช้ไดโคลฟีแนค

อย่างไรก็ดี มีการพบว่าไดโคลฟีแนค อาจทำให้เกิดความดันโลหิตในผู้ป่วยกลุ่มอาการชาย-เดรเกอร์ (Shy-Drager syndrome) และในโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) สูงขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยานี้พร่ำเพรื่อ นอกจากนี้ยังมีการใช้ไดโคลฟีแนคกับการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่มีสาเหตุมาจากเชื้ออีโคไล (E.coli) ด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. สั่งทุก รพ.เฝ้าระวังยาแก้อักเสบ “ไดโคลฟีแนค” ชนิดฉีดกล้ามเนื้อ หลังพบใช้แล้วชา-อ่อนแรง http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000016083 [2014, February 28].
  2. Diclofenac. http://en.wikipedia.org/wiki/Diclofenac [2014, February 28].