ไดอะไตรโซเอท (Diatrizoate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยา/สารไดอะไตรโซเอท(Diatrizoate หรือ Diatrizoate sodium หรือ Diatrizoate Na หรือ Diatrizoate meglumine) หรือจะเรียกอีกชื่อว่ายา/สาร อะมิโดไตรโซเอท(Amidotrizoate) เป็นสารทึบรังสี/สารทึบแสง(Contrast agent) ที่นำมาใช้ในกระบวนการตรวจโรคทางรังสีวิทยาด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (X-ray Computerized Tomography)/ซีทีสแกน (CT-scan) ถูกรับรองการใช้ทางคลินิกตั้งแต่ ปี ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497) อาจอธิบายกลไกการทำงานของสารทึบรังสีชนิดนี้อย่างง่ายๆดังนี้ คือ สารทึบรังสีไดอะไตรโซเอท จะเข้าซึมซับในเนื้อเยื่อของอวัยวะเป้าหมาย เมื่อมีการถ่ายภาพอวัยวะนั้นด้วยรังสีเอกซ์ สารชนิดนี้จะก่อให้เกิดการสะท้อนทำให้เห็นภาพอวัยวะที่แพทย์ต้องการตรวจสอบได้ชัดเจนขึ้น โดยประโยชน์ทางคลินิกเท่าที่พบเห็นการใช้สารไดอะไตรโซเอท ได้แก่ ใช้ตรวจสอบสภาพเส้นเลือด/หลอดเลือด ท่อทางเดินปัสสาวะ ม้าม ข้อต่อกระดูก

สารไดอะไตรโซเอทสามารถฉีดเข้าทางหลอดเลือดเพื่อดูโครงสร้างของไต รวมถึงหลอดเลือดต่างๆ หรือให้ผู้ป่วยแบบรับประทาน หรือใช้เป็นลักษณะแบบยาสวนทวารเพื่อตรวจสอบโครงสร้างอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร หรือฉีดสวนผ่านเข้าท่อปัสสาวะเพื่อดูความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ

ผู้ที่ได้รับสารทึบแสงไดอะไตรโซเอทสา อาจเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)บางอย่าง เช่น อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังมีอาการแดงรวมถึงผื่นคัน ตลอดจนอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของไต เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา และในโครงสร้างทางเคมีของสารไดอะไตรโซเอทมีธาตุไอโอดีนเป็นองค์ประกอบ จึงไม่เหมาะที่จะใช้สารไดอะไตรโซเอทกับผู้ที่มีประวัติแพ้ไอโอดีน นอกจากนี้สารไดอะไตรโซเอทถูกห้ามใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวานบางตัว อย่างเช่น Metformin เพราะจะทำให้เลือดเกิดสภาวะเลือดเป็นกรด หรือที่เรียกว่า Lactic acidosis ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะไตวายตามมา นอกจากนั้น การอมยาไดอะไตรโซเอทในช่องปาก อาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยมีอาการสำลักยานี้และทำให้ยานี้ไหลเข้าหลอดลม/เข้าปอดจนเป็นเหตุให้เกิดปอดบวมตามมาได้

ด้านเคมีภัณฑ์ของสารทึบรังสีไดอะไตรโซเอท ทำให้เกิดข้อจำกัดการใช้งานกับอวัยวะบางอวัยวะของร่างกาย อาทิ

  • ห้ามใช้สารไดอะไตรโซเอทในการถ่ายภาพทึบรังสีของไขสันหลัง (Myelography) ด้วยอาจก่อให้เกิดไขสันหลังอักเสบได้
  • ห้ามใช้ถ่ายภาพทึบรังสีของโพรงน้ำในสมอง(Ventriculography หรือ Cisternography)เพราะอาจก่อให้เกิดสมองอักเสบได้
  • หลีกเลี่ยงใช้กับการถ่ายภาพทึบรังสีที่สมอง ด้วยอาจก่อให้เกิดอาการชักได้

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้สารไดอะไตรโซเอทเป็นสารทึบรังสีที่สถานพยาบาลแต่ละแห่งควรมีสำรองเพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วย และในต่างประเทศเราสามารถพบเห็นผลิตภัณฑ์สารไดอะไตรโซเอทถูกจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Gastrografin”

ไดอะไตรโซเอทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไดอะไตรโซเอท

สารไดอะไตรโซเอทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นสารทึบรังสีในกระบวนตรวจภาพอวัยวะต่างๆบางอวัยวะด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (X-ray Computerized Tomography/CT-scan)

ไดอะไตรโซเอทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

สารทึบแสงไดอะไตรโซเอทที่ถูกนำส่งเข้าร่างกาย ไม่ว่าจะโดยการรับประทาน หรือการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือการสวนเข้าร่างกาย กลไกการอออกฤทธิ์ของสารไดอะไตรโซเอท คือ ตัวยา/สาร จะเข้าไปจับและดูดซับอวัยวะเป้าหมายที่ต้องการตรวจสอบ เมื่ออวัยวะดังกล่าวได้รับการตรวจด้วยรังสีเอกซ์(X-ray) ธาตุไอโอดีนที่เป็นองค์ประกอบในสารนี้ จะดูดซับรังสีฯ และทำให้เห็นภาพของอวัยวะเป้าหมายที่สามารถแยกความแตกต่างจากอวัยวะข้างเคียงที่ไม่ได้รับสารทึบแสงนี้ จากกลไกนี้เอง ทำให้แพทย์สามารถตรวจสอบพยาธิสภาพของอวัยวะเป้าหมายนั้นๆได้ตามสรรพคุณ

ไดอะไตรโซเอทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

สารไดอะไตรโซเอทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

ก. สารละลายที่ใช้รับประทานหรือใช้สวนเข้าทางทวารหนักที่ประกอบด้วย

1. Diatrizoate meglumine 660 มิลลิกรัม + Diatrizoate sodium 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร หรือ

2. Diatrizoate meglumine 50 กรัม/ 120 มิลลิลิตร

ข. สารละลายที่ใช้ฉีดเข้าทางหลอดเลือดและประกอบด้วย

1. Diatrizoate meglumine ขนาด 180 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และ 300 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร หรือ

2. Diatrizoate sodium ขนาด 50%

ค. ชนิดผง 100 % ที่ต้องละลายน้ำก่อนรับประทานหรือก่อนสวนเข้าทวารหนัก

ไดอะไตรโซเอทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

สาร/ยาไดอะไตรโซเอทมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับใช้ตรวจสอบภาพกระเพาะปัสสาวะ:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดสารไดอะไตรโซเอทผ่านทางสายสวนที่สอดจากท่อปัสสาวะเป็นปริมาณ 25–300 มิลลิลิตร ผ่านเข้ากระเพาะปัสสาวะ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา ปริมาณการใช้สารละลายไดอะไตรโซเอทได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
  • เด็ก: การใช้สารนี้และขนาดของสารนี้ จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

ข. สำหรับตรวจสอบภาพกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก:

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: ให้กลืนสารละลายไดอะไตรโซเอทเป็นปริมาณ 30–90 มิลลิลิตร หรือขนาดตามที่แพทย์กำหนด

อนึ่ง:

  • ก่อนเข้ารับการตรวจทางรังสีวินิจฉัย โดยใช้สารทึบรังสี ไดอะไตรโซเอท 1 วัน แพทย์จะให้ผู้ป่วย งดอาหารเย็น และให้ยาระบายกับผู้ป่วยเพื่อไล่เศษอาหารที่ตกค้างในลำไส้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการรบกวนการทำงานของสารทึบรังสี
  • แพทย์จะเป็นผู้เลือกชนิดของสารทึบรังสี รวมถึงขนาดรับประทานและขนาดความเข้มข้นได้เหมาะสมที่สุดก่อนเข้ารับการตรวจฯ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตาม ขั้นตอนตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • สารทึบรังสีไดอะไตรโซเอทจะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไต ก่อนที่ ผู้ป่วยจะได้รับสารทึบรังสีชนิดนี้ แพทย์จะตรวจเลือดประเมินการทำงานของไตของผู้ป่วยร่วมด้วย

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งการใช้งานของแพทย์ได้ การใช้สารทึบรังสีที่เหมาะสมควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมสารไดอะไตรโซเอท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคมะเร็ง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดอะไตรโซเอท อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ไดอะไตรโซเอทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

สารทึบรังสีไดอะไตรโซเอทสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น หัวใจเต้นเร็ว เกิดภาวะช็อก ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก ไอ ปอดบวม กล่องเสียงหดเกร็งตัว
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น กดการทำงานของต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดลมพิษ ผื่นคัน ใบหน้าบวม มีภาวะ Stevens-Johnson’s syndrome
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการชัก วิงเวียน ปวดศีรษะ ตัวสั่น รู้สึกสับสน
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาว: เช่น อาจเกิดการติดเชื้อ/โรคระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ เพื่อเป็นการป้องกันแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะใช้หัตถกรรมการนำส่งสารทึบรังสีเข้าทางท่อปัสสาวะเป็นลักษณะการเตรียมแบบปราศจากเชื้อโรค(Aseptic technic)

มีข้อควรระวังการใช้ไดอะไตรโซเอทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไดอะไตรโซเอท เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้สารทึบรังสีชนิดนี้
  • ห้ามใช้ยานี้มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีการปนเปื้อนเศษผงในยานี้
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ในการตรวจสอบอวัยวะของร่างกายที่มิได้ระบุในเอกสารกำกับยา/ เอกสารที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์
  • ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล นักรังสี เภสัชกร อย่างเคร่งครัด เช่น งดอาหารเย็น และต้องรับประทานยาระบายเพื่อกำจัดเศษอาหารในกระเพาะอาหารและลำไส้ล่วงหน้า 1 วัน ก่อนได้รับสารทึบรังสีชนิดนี้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมสาร/ยาไดอะไตรโซเอทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไดอะไตรโซเอทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไดอะไตรโซเอทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้สารทึบรังสีไดอะไตรโซเอทร่วมกับการใช้ยา Acyclovir , Amikacin Amphotericin B , Celecoxib , Ibuprofen , Methotrexate , Naproxen Tobramycin , Sirolimus, ด้วยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อไตของผู้ป่วยจนอาจเกิดไตวาย
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารทึบรังสีไดอะไตรโซเอทร่วมกับ ยาหยอดตา Carteolol เพราะจะทำให้เกิดอาการแพ้ยาไดอะไตรโซเอทอย่างรุนแรง รวมถึงก่อให้เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา
  • ห้ามใช้สารทึบรังสีไดอะไตรโซเอทร่วมกับยา Disopyramide เพราะอาจเป็นเหตุ ให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ห้ามใช้สารทึบรังสีไดอะไตรโซเอทร่วมกับ ยาQuinidine เพราะอาจทำให้หัวใจ เต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ตาพร่า หรือมีอาการคลื่นไส้มากตามมา

ควรเก็บรักษาไดอะไตรโซเอทอย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์/สาร/ยาไดอะไตรโซเอทภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บผลิตภัณฑ์ในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไดอะไตรโซเอทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไดอะไตรโซเอท มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cystografin (ซิสโทกราฟิน)Bracco Diagnostics, Inc
Gastrografin (แก๊สโทรกราฟิน)Bracco Diagnostics, Inc
Hypaque (ไฮเพค)Nycomed Imaging A.S.

อนึ่ง ชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Iothalmate, Urografin

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Diatrizoate[2017,Sept23]
  2. https://www.drugs.com/ppa/diatrizoate-meglumine.html[2017,Sept23]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/diatrizoate,gastrografin-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Sept23]
  4. https://www.drugs.com/pro/gastrografin.html[2017,Sept23]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2015/010040s171lbl.pdf[2017,Sept23]
  6. http://werpurple.org/drug_guide/detail/Diatrizoate/[2017,Sept23]
  7. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00271[2017,Sept23]