ไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine) จัดเป็นยาคลายกล้ามเนื้อซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งกระแสประสาทที่สร้างความรู้สึกเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ ส่วนมากจะใช้ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดหรือต้องพักรักษาตัวทั้งนี้เพื่อให้กล้ามเนื้อที่มีอาการปวดฟื้นสภาพดีเหมือนเดิม รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานทั้งชนิดเม็ด แคปซูล และยาน้ำแขวนตะกอน ในบางประเทศได้พัฒนายานี้ในรูปแบบของยาอมใต้ลิ้นอีกด้วย

หลังการรับประทานตัวยาจะมีการดูดซึมและกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 33 - 55% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างของตัวยาในกระแสเลือดอย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 18 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือด แพทย์ต้องนำประวัติสุขภาพของผู้ป่วยที่เป็นประเด็นสำคัญๆมาประกอบก่อนที่จะพิจารณาและเห็นสมควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยเช่น

  • ผู้ป่วยเคยแพ้ยาไซโคลเบนซาพรีนหรือไม่
  • ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนหรือไม่เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์ ผู้ป่วยโรคตับ โรคต้อหิน หรือมีภาวะปัสสาวะขัด หรือมีภาวะต่อมลูกหมากโต
  • อนึ่ง หากเป็นผู้ป่วยสูงอายุอาจได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ได้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น

โดยทั่วไปยาไซโคลเบนซาพรีนสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงเช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน และง่วงนอน เป็นต้น

ยาไซโคลเบนซาพรีนจำเป็นต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์ด้วยเป็นกลุ่มยาที่อาจก่ออันตรายต่อผู้ที่ใช้ยานี้ผิดขนาดหรือผิดวิธี

ไซโคลเบนซาพรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไซโคลเบนซาพรีน

ยาไซโคลเบนซาพรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้คือเป็นยาคลายกล้ามเนื้อและบรรเทาอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ

ไซโคลเบนซาพรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไซโคลเบนซาพรีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ก้านสมองโดยยับยั้งหรือลดการนำกระแสประสาทที่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดของกล้ามเนื้อจึงทำให้อาการเจ็บปวดกล้าม เนื้อของผู้ป่วยบรรเทาเบาบางลง

ไซโคลเบนซาพรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในประเทศไทยยาไซโคลเบนซาพรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5, 7.5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 15 และ 30 มิลลิกรัม/แคปซูล

ไซโคลเบนซาพรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไซโคลเบนซาพรีนมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่อายุ 15 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นและเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง: เพื่อหลีกเลี่ยงอาการคลื่นไส้อาเจียนหรืออาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและลำไส้จึงควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไซโคลเบนซาพรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไซโคลเบนซาพรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไซโคลเบนซาพรีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไซโคลเบนซาพรีนให้ตรงเวลา

ไซโคลเบนซาพรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไซโคลเบนซาพรีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

ก. อาการข้างเคียงที่พบบ่อย: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ ตาพร่า ปาก แห้ง คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร

ข. อาการข้างเคียงที่พบได้บ้าง: เช่น ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก หงุดหงิด กระสับกระส่าย ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลียไม่มีแรง นอนไม่หลับ การรับรสชาติเปลี่ยนไป ประสาทหลอน หัวใจเต้นผิดจังหวะ

มีข้อควรระวังการใช้ไซโคลเบนซาพรีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไซโคลเบนซาพรีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามดื่มสุราร่วมกับการรับประทานยาไซโคลเบนซาพรีนด้วยจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงมากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องมีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ระยะเวลาของการใช้ยานี้ไม่ควรเกิน 2 - 3 สัปดาห์หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นเช่น ใบหน้าบวม อึดอัด หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคัน ลมพิษขึ้นเต็มตัว หากพบอาการเหล่านี้ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไซโคลเบนซาพรีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไซโคลเบนซาพรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไซโคลเบนซาพรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • ห้ามใช้ยาไซโคลเบนซาพรีนร่วมกับยากลุ่ม MAOI ด้วยมีความเสี่ยงกับการเกิดภาวะ Serotonin syndrome ซึ่งจะมีอาการประสาทหลอน รู้สึกสับสน อาจมีอาการลมชัก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ ตาพร่า เป็นตะคริวที่ท้อง เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไซโคลเบนซาพรีนร่วมกับยา Bupropion, Tramadol เพราะอาจทำให้เกิดอาการชักโดยเฉพาะกับผู้ป่วยสูงอายุ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไซโคลเบนซาพรีนร่วมกับยา Diphenylhydramine จะทำให้เกิดอาการง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง หน้าแดง เหงื่อออกน้อย ปัสสาวะขัด เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องผูก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาไซโคลเบนซาพรีนอย่างไร?

ควรเก็บยาไซโคลเบนซาพรีนในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไซโคลเบนซาพรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไซโคลเบนซาพรีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Amrix (เอมริกซ์) ECR Pharmaceuticals
Flexeril (เฟล็กเซริล) Merck & Company Inc.
Mylan CE 30 (มายแลน ซีอี 30) Mylan Pharmaceuticals Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cyclobenzaprine#Comparison_to_other_medications [2015,Oct17]
  2. http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/cyclobenzaprine-oral-route/before-using/drg-20063236 [2015,Oct17]
  3. http://www.drugs.com/flexeril.html [2015,Oct17]
  4. http://mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Cyclobenzaprine [2015,Oct17]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/cyclobenzaprine-index.html?filter=3&generic_only=#M [2015,Oct17]