ไซลิมาริน (Silymarin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไซลิมาริน (Silymarin) เป็นสารในกลุ่มสารพฤกษเคมี (Phytochemical, สารในพืชที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ) ชื่อ ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งเป็นกลุ่มพฤกษเคมีที่สามารถพบได้ในพืชหลากหลายชนิดอาทิ ชาเขียว ชาดำ ชาอู่หลง รวมไปถึงผลจำพวกเบอร์รี่ หัวหอม และผักชีฝรั่ง ซึ่งเป็นสารมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) และฤทธิ์อื่นๆที่อยู่ในขั้น ตอนการศึกษาวิจัยอาทิ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

กลุ่มสารไซลิมารินสกัดได้จากเมล็ดของต้นมิลค์ ธิสเทิล (Milk Thistle, ชื่อทางวิทยา ศาสตร์ Silybum marianum L.) เป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในทวีปอเมริกาเหนือจรดเม็กซิโก และทวีปยุโรป โดยเฉพาะแถบเมดิเตอเรเนียน สารชนิดนี้ได้นำมาใช้ในทางการแพทย์และเภสัชกรรม โดยมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องเซลล์ตับจากการถูกทำลายโดยสารอนุมูลอิสระ (Free radical)

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า ไซลิมารินยังมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการสังเคราะห์โปรตีน ของเซลล์ตับซึ่งช่วยในการฟื้นฟูเซลล์ตับอีกทางหนึ่งด้วย

เมล็ดของต้นมิลค์ ธิสเทิลมีการนำมาใช้ในการแพทย์แผนโบราณของยุโรปเพื่อรักษาผู้ ป่วยโรคตับมากว่า 2,000 ปีแล้ว กลุ่มสารไซลิมารินยังประกอบไปด้วยสารอีกหลายชนิด แต่สารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญและให้ฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระเรียกว่า ไซลิบินิน (Silibinin)

ปัจจุบันในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดแบ่งประเภทของยาไซลิมารินเป็นยาอันตราย จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยานี้ และรับคำแนะนำจากเภสัชกรทุกครั้งในการรับยานี้ในสถานพยาบาลหรือซื้อยาในร้านยา

ยาไซลิมารินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไซลิมาริน

ยาไซลิมารินได้นำมาใช้ทางคลินิกเพื่อช่วยหรือส่งเสริมให้ตับมีสรรถภาพดีขึ้น ป้องกันเซลล์ตับจากการถูกทำลายโดยสารพิษ ยาต่างๆ หรือพืชมีพิษ ในผู้ป่วยโรคตับอักเสบชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง, โรคตับแข็ง, โรคไขมันสะสมในเนื้อตับ/ไขมันพอกตับ

ยาไซลิมารินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไซลิมารินยังไม่ได้รับการพิสูจน์ที่แน่ชัด จากการศึกษาทดลอง และรายงานการตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า ยาไซลิมารินสามารถช่วยในการปกป้องเซลล์ตับใน 4 วิธีคือ

  1. เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยควบคุมปริมาณสารกลูตาไธโอน (Glutathione, สารต้าน อนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง) ภายในเซลล์ตับ
  2. ช่วยส่งเสริมการทำงานของเยื่อหุ้มเซลล์ในการควบคุมสารพิษในการเข้าสู่เซลล์ตับ
  3. ส่งเสริมการสังเคราะห์สารไรโบโซมอาร์เอ็นเอ (Ribosomal RNA synthesis) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสังเคราะห์โปรตีนภายในเซลล์ จึงมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการสร้างเซลล์ตับ
  4. ยับยั้งการแปรสภาพของเซลล์ตับที่ดีไปเป็นเซลล์ไมโอไฟโบรบลาสต์ (Myofibroblast) เซลล์ที่เกิดเมื่อเซลล์ตับได้รับความเสียหาย โดยเซลล์นี้จะกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมและสะสมคอลลาเจนจนเกิดเยื่อพังผืดอันนำไปสู่ภาวะตับแข็ง

ยาไซลิมารินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในประเทศไทยมีการจัดจำหน่ายยาไซลิมารินในรูปแบบยาเม็ดเคลือบฟิล์มและแคปซูล ขนาดความแรง 70 และ 140 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาไซลิมารินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไซลิมารินมีขนาดรับประทานในผู้ใหญ่ที่ 280 - 800 มิลลิกรัมต่อวันแบ่งให้วันละ 1 -3 ครั้งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วยด้วย โดยทั่วไปขนาดยาที่แนะนำคือรับประทานครั้งละ 140 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง หากอาการดีขึ้นแพทย์อาจลดขนาดยาเหลือ 70 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง โดยรับประทานยานี้พร้อมหรือหลังอาหารก็ได้

*อนึ่ง ขนาดการใช้ยานี้ในเด็กควรต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาไซลิมารินควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้เช่น

  • ประวัติการแพ้ยาหรือพืชโดยเฉพาะพืชในวงศ์ทานตะวัน (Asteraceae) เช่น ดอกเดซี่ ดอกเบญจมาศ และดอกอาร์ทิโชก (Artichoke)
  • ยาที่กำลังใช้รวมไปถึงวิตามิน อาหารเสริม สมุนไพร โรคประจำตัว อาทิ โรคกระดูกพรุน มีรอบเดือน/ประจำเดือนผิดปกติ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุมดลูก หรือการใช้ฮอร์โมนทางการรักษา โรคตับ และโรคไต หรือภาวะทางการแพทย์อื่นๆ
  • สุภาพสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ สตรีให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • ผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยานี้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไซลิมารินให้รับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากใกล้เคียงกับการรับประทานมื้อถัดไป ให้ข้ามไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าในการรับประทานมื้อถัดไป

ยาไซลิมารินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไซลิมารินอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) บางประการเช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดมวนท้อง/ปวดท้อง ปวดหัว/ปวดศีรษะ

มีข้อควรระวังการใช้ยาไซลิมารินอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาไซลิมารินเช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์
  • มีการนำยาไซลิมารีนมาใช้ในการเพิ่มปริมาณน้ำนมของหญิงให้นมบุตร อย่างไรก็ดี การ ศึกษาผลข้างเคียงและการขับยาออกทางน้ำนมยังจำกัด จึงควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยานี้
  • หากผู้ป่วยรับประทานยานี้แล้วพบอาการแพ้ยาเช่น มีผื่นขึ้น คัน รวมไปถึงอาการบวมบริเวณริมฝีปาก ใบหน้า และอาการหายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยาทันทีและรีบพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลทันที
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไซลิมาริน) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไซลิมารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไซลิมารีนอาจรบกวนการทำงานของเอนไซม์การทำงานของตับโดยลดปริมาณเอน ไซม์ในการเมทาบอไลต์ยา (Metabolite, การแปลงรูปยาเพื่อนำไปใช้หรือเพื่อกำจัดยาออกไป) ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยที่ใช้ยาอื่นร่วมด้วยได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยานั้นๆ จึงควรสอบถามถึงผลข้างเคียงจากยาอื่นที่ใช้ร่วมด้วยจากแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยานั้นๆ ให้มากขึ้นอาทิเช่น ยาอะมิทริปทีลีน (Amitriptyline) ยาบรรเทาความเครียด/ยาคลายเครียด และ/หรือรักษาโรคซึมเศร้า; ยาไดอะซีแพม (Diazepam) ยาบรรเทาความเครียด; ยาเซเลคอกซิบ (Celecoxib), ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), ยาไดโคลฟีแนก (Diclofenac), ยาไพรอกซีแคม (Piroxicam) ซึ่งทั้ง 4 ตัวยาเป็นยาแก้ปวดและ/หรือยาแก้อักเสบ/ยาต้านการอักเสบ; ยาฟลูวาสแททิน (Fluvastatin) ซึ่งเป็นยารักษาโรคไขมันในเลือดสูง, ยากลิพิไซด์ (Glipizide), ยาโทลบูทาไมด์ (Tolbutamide) ซึ่งทั้ง 2 ตัวเป็นยารักษาโรคเบาหวาน, เออร์บีซาแทน (Irbesar tan), ยาลอซาร์แทน (Losartan) ซึ่งทั้ง 2 ตัว เป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจวาย หรือโรคไต; ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin) ที่เป็นยารักษาโรคลมชัก; ยาวอร์ฟาริน (Warfarin) ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น

อนึ่ง ผู้ป่วยโรคเบาหวานเมื่อใช้ยาไซลิมารินควรได้รับการตรวจจากแพทย์สม่ำเสมอตามแพทย์นัด เนื่องจากยานี้อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยลดลง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้ยาอินซูลิน (Insulin) ควรได้รับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิดตามแพทย์แนะนำ

ควรเก็บรักษายาไซลิมารินอย่างไร?


  • ควรเก็บรักษายาไซลิมารินภายในภาชนะหรือซองที่ผู้ผลิตจัดไว้ให้ ไม่ควรแบ่งยาออกมาจากภาชนะหรือซองก่อนถึงเวลารับประทาน
  • เก็บรักษายานี้ในอุณหภูมิห้อง ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในที่มีแสง แดดส่องถึง ที่ร้อน และ/หรือชื้นจนเกินไป
  • ปิดฝาขวดภาชนะใส่ยาให้สนิทตลอดเวลา
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ยาไซลิมารินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ในประเทศไทยมีการจัดจำหน่ายยาไซลิมารินโดยมีชื่อการค้าและผู้ผลิตดังนี้เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Samarin (ซามาริน)บริษัทเบอร์ลินฟาร์มาซูติคอลอินดัสตรี้ จำกัด
Leveron (เลเวอรอน)บริษัทเวสโก ฟาร์มาซูติคอล จำกัด
Marina (มารินา)บริษัทที.แมน ฟาร์มา จำกัด
Pharmarin (ฟาร์มาริน)บริษัทเวสโก ฟาร์มาซูติคอล จำกัด
Miltis (มิลทิส)บริษัทมิลลิเมด จำกัด
Liva (ลิวา)บริษัทเวสโก ฟาร์มาซูติคอล จำกัด
Legalon (เลกาลอน)MADAUS GMBH, Germany
Sivylar Capsule (ไซวีลาร์แคปซูล)RANBAXY LABORATORIES LIMITED, India

บรรณานุกรม

1. F. Faschini, G. Demertini, D. Esposti. Pharmacology of Silymarin. Clin Drug Invest. 2002;22(1).
2. Scott L Friedman, et al. Emerging therapies for hepatic fibrosis. UpToDate. Feb 2015.
3. Mills S. and Bone K. 2000. Principles and practice of phytotherapy: modern herbal medicine. Churchill Livingstone, Edinburgh. pp. 553-562.
4. Tori Hudson. Milk Thistle: Hepatopretection at its best
5. เว็บไซต์คณะกรรมการอาหารและยา, ประเทศไทย http://wwwapp1.fda.moph.go.th/consumer/conframe.asp [2015,April18]
6. MIMS Thailand [Online]. http://www.mims.com/Thailand/[2015,April18]