ไซบูทรามีนกับยาลดความอ้วน (ตอนที่ 1)

ไซบูทรามีนกับยาลดความอ้วน

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาเตือนถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งที่มีส่วนผสมของยาลดน้ำหนัก "ไซบูทรามีน" ซึ่งถือว่าเป็นยาอันตราย และจัดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย มีการปลอมเลขสารบบอาหาร โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง

นพ.สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ขอนแก่น กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังในเรื่องดังกล่าว พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังหลงเชื่อคำโฆษณาจากโซเชียลกันมากโดยขาดสติยั้งคิด จึงทำให้ตกเป็นเหยื่อผู้ประกอบการ จึงอยากขอเตือนประชาชนระมัดระวังกับเรื่องดังกล่าวให้มาก เพราะมีการขายกันเกลื่อนตามท้องตลาด ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถลงไปตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง

ด้าน ภก. ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า "ไซบูทรามีน" เป็นยาที่ช่วยให้อยากอาหารน้อยลง แต่ภายหลังพบว่า มีความเสี่ยงก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะต่อผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจและหลอดเลือด อาการของผู้ที่ได้รับยาตัวนี้คือ จะทำให้ใจสั่น ปากแห้ง คอแห้ง จึงมีการถอดออกจากระบบยาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2554

ดังนั้น ยาลดความอ้วนใดที่มีการใช้สารนี้ถือว่าผิดกฎหมาย แต่โดยปกติแล้วผลิตภัณฑ์พวกนี้จะไม่ระบุให้ผู้ใช้ทราบว่า มีส่วนผสมของอะไรบ้าง จึงอยากแจ้งเตือนผู้บริโภคว่าหากต้องการจะลดน้ำหนัก ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น เพื่อได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม

ไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นยาลดความอ้วน กินเพื่อให้เบื่ออาหาร (Oral anorexiant) มีผลทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในโรคหัวใจหลอดเลือด (Cardiovascular) และ โรคหลอดเลือดในสมอง (Strokes) เป็นยาในกลุ่ม Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor (SNRI)

ไซบูทรามีน ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2531และวางขายในปี พ.ศ.2538 ปัจจุบันได้มีการถอดออกจากระบบยาในหลายประเทศแล้ว ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป (EU) ฮ่องกง อินเดีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

ไซบูทรามีนมีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยจิตเวช เช่น โรค Bulimia nervosa โรค Anorexia nervosa โรคซึมเศร้าหดหู่อย่างรุนแรง (Serious depression) หรือ ภาวะคลุ้มคลั่ง (Pre-existing mania)
  • ผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 และสูงกว่า 65 ปี
  • ผู้มีความดันโลหิตสูง
  • ผู้มีโรคความดันของหลอดเลือดในปอดสูง (Pulmonary hypertension)
  • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ลิ้นหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดในสมองหรือโรคเส้นเลือดสมองตีบชั่วคราว (Transient ischemic attack)
  • ผู้มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
  • ผู้มีอาการชัก
  • ต่อมลูกหมากโต
  • หญิงมีครรภ์
  • ผู้มีเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิด Pheochromocytoma

บรรณานุกรม

1. "จพ.เภสัชฯ" ช็อกดับคาดกินยาลดน้ำหนัก "แมงลัก" เผยระบาดทั่ว "ขอนแก่น". http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000117952 [2016, December 12].

2. Sibutramine. https://en.wikipedia.org/wiki/Sibutramine [2016, December 12].