ไคโรเคน (Chirocaine) หรือ ลีโวบิวพิวาเคน (Levobupivacaine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไคโรเคน (Chirocaine) เป็นยาชาเฉพาะที่ ทางคลินิกใช้ในการทำหัตถการผ่าตัดต่างๆรวมถึง การผ่าท้องคลอดบุตร (Cesarean section) ชื่อไคโรเคนเป็นยาชื่อการค้า แต่ชื่อสามัญของยานี้คือ เลโวบิวพิวาเคน (Levobupivacaine หรือ Levobupivacaine hydrochloride) ยานี้มีฤทธิ์ทำให้อวัยวะหรือ บริเวณที่ตัวยากระจายเข้าไปหรือสัมผัสปราศจากความรู้สึกเจ็บปวด รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันจะเป็นยาชนิดฉีด

เมื่อยาไคโรเคนเข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนถึงประมาณ 97% และตับ จะเป็นอวัยวะที่คอยทำลาย/เปลี่ยนโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ปกติร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 80 นาทีเป็นอย่างต่ำในการกำจัดยานี้ออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและมีบางส่วนทิ้งไปกับอุจจาระ

มีข้อควรพิจารณาก่อนการใช้ยาไคโรเคน/เลโวบิวพิวาเคนที่ผู้บริโภคควรทราบเช่น

  • หากมีประวัติแพ้ยานี้ควรต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาไคโรเคน
  • ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความดันโลหิตต่ำรุนแรงจากยานี้และถือเป็นข้อห้ามใช้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ฉีดเข้าบริเวณมดลูก (Neck of the womb) ในช่วงแรกของการทำคลอด
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคทางระบบประสาท ผู้ที่อยู่ในภาวะอ่อนเพลีย หรือป่วยด้วยโรคต่างๆ ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับ
  • ระวังการใช้ยาไคโรเคนร่วมกับยาต่างๆต่อไปนี้เช่น ยาบำบัดหัวใจเต้นผิดปกติอย่างเช่น ยา Mexiletine, ยาต้านเชื้อราเช่น Ketoconazole, ยารักษาอาการหอบหืดอย่างเช่น Theophylline
  • สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาทุกชนิดที่จะเกิผลข้างเคียงจากยาต่างๆซึ่งรวมถึงยาไคโรเคนด้วย
  • หลังการใช้ยานี้หากพบอาการวิงเวียน ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆรวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ทั้งนี้การได้รับยาไคโรเคนเกินขนาดจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาที่ลิ้น วิงเวียน ตาพร่า กล้ามเนื้อ กระตุก หายใจขัด/หายใจลำบาก หรืออาจหยุดหายใจ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการชัก ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากพบอาการเหล่านี้ต้องรายงานให้แพทย์/พยาบาลทราบทันทีเพื่อให้การบำบัดรักษาโดยเร็ว

สำหรับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่พบได้บ่อยจากยาไคโรเคนได้แก่ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย วิงเวียน หายใจแผ่ว ปวดศีรษะ ปวดหลัง ดูซีดคล้ายเป็นโรคโลหิตจาง และมีไข้ เป็นต้น

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาไคโรเคน (ยาลีโวบิวพิวาเคน) อยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้จะมีเฉพาะแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้นและต้องอาศัยดุลยพินิจของแพทย์ในการบริหารยา/ใช้ยาแต่ผู้เพียงผู้เดียว

ไคโรเคนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไคโรเคน

ยาไคโรเคนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ที่ใช้กับผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัดเช่น การผ่าคลอด เป็นต้น

ไคโรเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไคโลเคนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ปิดกั้นการนำกระแสประสาทจากสมอง โดยรบกวนการขนส่งเกลือโซเดียมในเยื่อหุ้มเซลล์ของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆที่สัมผัสตัวยานี้ ส่งผลปิดกั้นความรู้สึกของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ตัวยากระจายเข้าไปถึง จากกลไกดังกล่าวจึงก่อให้มีฤทธิ์ตามสรรพคุณ

ไคโรเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไคโรเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดขนาด 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตรโดยบรรจุ 10 มิลลิลิตร/ขวด

ไคโรเคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไคโรเคนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาที่ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไปโดย

  • ขนาดการใช้ยานี้ในผู้ใหญ่และในเด็กจะมีความแตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของอาการและน้ำหนักตัวของผู้ป่วย แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาการใช้ยานี้ได้ถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยกับผู้ป่วยที่สุด ซึ่งบางกรณีขนาดการใช้ยานี้อาจแตกต่างไปจากขนาดการใช้ที่ระบุในเอกสารกำกับยา
  • แพทย์จะเลือกใช้ขนาดยานี้ที่ต่ำที่สุดที่ออกฤทธิ์ลดอาการเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยและทำให้ผู้ป่วยสบายตัวไม่ได้รับความทรมานจากการผ่าตัด

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไคโรเคน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไคโรเคนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ไคโรเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไคโรเคนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะ ต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ มีไข้สูง ง่วงนอน อาการชาที่ลิ้น
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: ความสามารถในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ-อุจจาระผิดปกติ ปวดหลัง กล้ามเนื้อกระตุก
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: หัวใจอาจเต้นช้าหรือเร็ว จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติซึ่งตรวจพบได้จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG)

มีข้อควรระวังการใช้ไคโรเคนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไคโรเคนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ยกเว้นกรณีผ่าท้องคลอดบุตร และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีสิ่งแปลกปลอมเจือปนมาในขวดบรรจุยา
  • หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น แน่นหน้าอก/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ต้องรีบหยุดใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบแจ้งแพทย์ทันทีเพื่อให้การบำบัดรักษาโดยเร็ว
  • หลังใช้ยานี้และยังมีอาการวิงเวียนเกิดขึ้น ห้ามผู้ป่วยไปขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆหรือทำงานกับเครื่องจักร
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไคโรเคน) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดัง นั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติม ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไคโรเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไคโรเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น การใช้ยาไคโรเคนร่วมกับยาบางตัวอาจทำให้ระดับความเข้มข้นของยาไคโรเคนในเลือดสูงขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Atazanavir, Boceprevir (ยาต้านไวรัส), Ceretinib (ยาโรคมะเร็ง), Clarithromycin, Cobicistat (ยารักษาโรคเอดส์), Darunavir (ยาต้านไวรัสพีไอ), Indinavir, Itraconazole และ Ketoconazole

ควรเก็บรักษาไคโรเคนอย่างไร?

ควรเก็บยาไคโรเคนตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไคโรเคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไคโรเคนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Chirocaine (ไคโรเคน)AbbVie

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Levobupivacaine [2016,June4]
  2. http://www.news-medical.net/drugs/Chirocaine.aspx [2016,June4]
  3. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/22214 [2016,June4]
  4. http://www.drugs.com/uk/chirocaine-0-625mg-ml-solution-for-infusion-leaflet.html [2016,June4]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/chirocaine/?type=brief [2016,June4]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/levobupivacaine/ [2016,June4]
  7. http://www.drugbank.ca/drugs/DB01002 [2016,June4]