“ไขมันทรานส์” วายร้ายตัวเต็ง (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

น้ำมันที่ใช้ทอด (Frying oils) – น้ำมันที่บริษัทอุตสาหกรรมใช้นั้น มีการทอดซ้ำตลอดทั้งวัน การเติมไฮโดรเจนทำให้น้ำมันคงตัวและไม่เหม็นหืน

ลูกกวาด (Candy) – ลูกกวาดที่เคี้ยวได้หลายชนิด ต้องใช้น้ำมันเพื่อรักษาสภาพให้ชุ่มชื้นและป้องกันไม่ให้น้ำตาลตกผลึก (Crystallizing)

แม้จะมีการใช้ไขมันทรานส์กันอย่างแพร่หลาย แต่ในหลายปีที่ผ่านมาผู้ผลิตอาหารได้ใช้ไขมันทรานส์น้อยลงเพราะคำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวกับสุขภาพ โดยผู้ผลิตอาหารในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายๆ ประเทศได้ระบุปริมาณไขมันทรานส์ไว้ที่ฉลากด้วย

อย่างไรก็ดีเราควรระวังเกี่ยวกับฉลากบนผลิตภัณฑ์ด้วย เพราะคำว่า “ไขมันทรานส์ 0%” ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีไขมันทรานส์เลย ทั้งนี้เพราะองค์การอาหารและยา (FDA) อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันทรานส์น้อยกว่า 0.5 กรัมต่อการบริโภคหนึ่งครั้ง (Trans fat per serving) สามารถระบุบนฉลากว่า “ไขมันทรานส์ 0%” ได้ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นปริมาณที่น้อย แต่หากเราบริโภคหลายครั้งก็อาจเกินปริมาณที่แนะนำได้

ดังนั้นสิ่งที่เราควรคำนึงถึงก็คือ ต้องคอยสังเกตจากฉลากว่า ส่วนประกอบมีอะไรบ้าง เช่น คำว่า “Hydrogenated Oil” หรือ "Partially hydrogenated" ซึ่งล้วนหมายถึงไขมันทรานส์เช่นกัน

ทั้งองค์การอาหารและยา (FDA) และสมาคมหัวใจของสหรัฐ (The American Heart Association = AHA) ต่างก็ระบุว่า ยังไม่มีใครทราบว่า เราสามารถบริโภคไขมันทรานส์ได้ปริมาณเท่าใดจึงจะปลอดภัย แต่ที่ทราบแน่ชัดก็คือ ไม่มีใครมีคำถามว่าทำไมเราจึงควรหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์

อย่างไรก็ดี AHA ได้แนะนำว่า ปริมาณการบริโภคไขมันทรานส์ไม่ควรเกินร้อยละ 1 ของปริมาณแคลอรี่ต่อวัน ดังนั้นหากมีการบริโภควันละ 2,000 แคลอรี่แล้ว ปริมาณไขมันทรานส์ก็ไม่ควรเกิน 20 แคลอรี่ หรือเท่ากับไขมันทรานส์ 2 กรัม

ในขณะเดียวกัน AHA ได้แนะนำให้กินผลไม้ ผัก ธัญพืชต่างๆ และอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น พืชฝักตระกูลถั่ว (Legumes) สัตว์ปีก (Poultry) เนื้อไม่ติดมัน (Lean meats) และปลาที่มีน้ำมันมาก เช่น ปลาแซลมอน ให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ต่างออกข้อบังคับเกี่ยวกับการระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากผลิตภัณฑ์ และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการจำกัดการบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์

นอกจากนี้ บางรัฐในสหรัฐอเมริกา เช่น นิวยอร์กได้ออกมาประกาศว่าจะเป็นรัฐแรกในสหรัฐอเมริกาที่ปลอดไขมันทรานส์ โดยออกมาตรการให้บรรดาร้านอาหาร ภัตตาคาร และผู้ประกอบการด้านอาหารทั้งหลาย ค่อยๆ ลดการใช้ไขมันชนิดนี้ในการปรุงอาหาร และหยุดใช้โดยเด็ดขาดทั่วทั้งนิวยอร์กภายในเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2551

แต่ที่น่าเสียใจสำหรับคนไทยก็คือ ประเทศไทยเรายังไม่มีมาตรการทางกฎหมายใดๆ ที่ควบคุมการใช้หรือบังคับการระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากโภชนาการเลย

แหล่งข้อมูล:

  1. High cholesterol. http://www.mayoclinic.com/health/trans-fat/CL00032 [2013, December 8].
  2. FDA moves to take trans fat out of food. http://www.usatoday.com/story/news/nation/2013/11/07/fda-remove-trans-fat/3458465/ [2013, December 8].
  3. Understanding Trans Fats. http://www.webmd.com/food-recipes/understanding-trans-fats [2013, December 8].