“ไขมันทรานส์” วายร้ายตัวเต็ง (ตอนที่ 2)

ไขมันทรานส์ย่อยสลายได้ยากกว่าไขมันชนิดอื่น ทำให้ตับต้องสลายไขมันทรานส์ด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากการย่อยสลายไขมันตัวอื่น จึงอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ผิดปกติกับร่างกาย กล่าวคือ จะทำให้ร่างกายมีน้ำหนักและไขมันส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น มีภาวะการทำงานของตับที่ผิดปกติ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Heart Disease) โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับจากหลายๆ งานวิจัยที่ศึกษาถึงเรื่องไขมันทรานส์

มีการถกเถียงกันถึงผลของไขมันทรานส์ที่ได้จากธรรมชาติ เช่น นมและไขมันของสัตว์เคี้ยวเอื้องอย่างวัวและแกะ กับไขมันทรานส์ที่ได้จากการแปรรูปโดยคน ว่าอาจมีความแตกต่างกันได้ แต่จากการศึกษาโดย The US Department of Agriculture จากอาสาสมัคร 105 คนแล้ว พบว่าทั้ง 2 ชนิดล้วนก่อให้เกิดผลร้ายกับร่างกาย

การบริโภคไขมันทรานส์ในคน ทำให้

  • เพิ่มไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) ไตรกลีเซอไรด์ที่สูงจะมีผลให้มีโรคไขมันในเลือดสูง (Atherosclerosis) หรือทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเส้นโลหิตในสมองแตก (Stroke) โรคเบาหวาน (Diabetes) หัวใจวาย (Heart attack) และโรคหัวใจ (Heart disease)
  • เพิ่มไลโปโปรตีน (Lp(a) lipoprotein) เพราะ Lp(a) เป็นไขมันคลอเรสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL cholesterol) ที่พบในเลือดซึ่งขึ้นกับกรรมพันธุ์ ไขมันทรานส์จะทำให้ Lp(a) เล็กลงและจับตัวกันในหลอดเลือด
  • ทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น เพราะขณะที่ร่างกายบาดเจ็บ ไขมันทรานส์จะทำลายเซลล์หลอดเลือดทำให้เกิดการอักเสบ

The National Academy of Sciences (NAS) ได้แนะนำเกี่ยวกับการบริโภคไขมันทรานส์ต่อรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาว่า

1) ไขมันทรานส์ เป็นสิ่งซึ่งไม่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับร่างกายคนเลย ไม่ว่าจะเป็นไขมันที่มีต้นตอมาจากสัตว์หรือพืช

2) ทั้งไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว ล้วนแต่เพิ่มระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low Density Lipoprotein = LDL) แต่ที่แย่กว่าก็คือ ไขมันไม่อิ่มตัวยังไปลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดดี (High Density Lipoprotein = HDL) ด้วย ซึ่งทำให้เพิ่มโอกาสของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

อย่างไรก็ดี NAS ก็ไม่ได้แนะนำให้กำจัดไขมันทรานส์ทั้งหมดออกจากอาหารที่กิน ทั้งนี้เพราะในอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์หลายอย่างยังคงมีไขมันทรานส์อยู่ และการกำจัดไขมันทรานส์ทั้งหมดออกจากอาหาร อาจมีผลกระทบต่อโภชนาการได้ ดังนั้นทางที่ทำได้ก็คือ NAS แนะนำให้มีการบริโภคไขมันทรานส์ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

เช่นเดียวกันกับ NAS ทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization = WHO) ก็พยายามที่จะดูแลสุขภาพประชาชน โดยในปี พ.ศ. 2546 ได้แนะนำประชาชนให้ลดการบริโภคไขมันทรานส์ให้ได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของพลังงานทั้งหมดที่บริโภค

แหล่งข้อมูล:

  1. FDA ร้องรัฐสั่งห้ามใช้ไขมันทรานส์ทำอาหาร ลดเสี่ยงโรคหัวใจ. http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000139247&Keyword=%e2%c3%a4 [2013, December 4].
  2. FDA moves to take trans fat out of food. http://www.usatoday.com/story/news/nation/2013/11/07/fda-remove-trans-fat/3458465/ [2013, December 4].
  3. Trans fat. http://en.wikipedia.org/wiki/Trans_fat [2013, December 4].
  4. Understanding Trans Fats. http://www.webmd.com/food-recipes/understanding-trans-fats [2013, December 4].