“ไขมันทรานส์” วายร้ายตัวเต็ง (ตอนที่ 1)

สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ เอฟดีเอ (The Food and Drug Administration = FDA) ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งห้ามการใช้ไขมันทรานส์ในการปรุงอาหารสำเร็จรูปทุกชนิด ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากขึ้น แม้ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความเสี่ยงจากอันตรายในการบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบจะลดลง แต่ปัญหาดังกล่าวยังเป็นเรื่องน่ากังวล

ศาตราจารย์ด้านโภชนาการ Penny Kris-Etherton แห่ง Penn State University in University Park, Pa ได้กล่าวว่า มีบทวิจัยหลายฉบับที่ระบุว่า การบริโภคไขมันทรานส์ล้วนมีผลเสียต่อร่างกาย ทั้งการเพิ่มระดับคลอเรสเตอรอลชนิดไม่ดีและการลดระดับคลอเรสเตอรอลชนิดดี

ในขณะที่ Thomas Frieden กรรมการของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (The Centers for Disease Control and Prevention = CDC) ก็กล่าวว่า ทุกปีมีชาวอเมริกันประมาณ 5,000 ราย ที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจ และอีก 15,000 ราย ที่กำลังจะเป็นโรคหัวใจอันเนื่องมาจากการบริโภคไขมันทรานส์ที่ได้จากการแปรรูป

ส่วน Dean Ornish ศาตราจารย์แห่ง The University of California-San Francisco ได้กล่าวว่า ไขมันทรานส์ช่วยยืดอายุความทนนานของผลิตภัณฑ์บนชั้นวางขาย (Shelf life) แต่กลับลดอายุของคนลง

ไขมันทรานส์ (Trans fats / Trans-isomer fatty acids) เป็นกรดไขมันที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปกรดไขมันไม่อิ่มตัวให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัวสูง โดยการเติมไฮโดรเจนลงไปในน้ำมันพืช (Hydrogenation) เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง ทำให้มีลักษณะเป็นกึ่งของแข็ง เช่น มาการีนหรือเนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม เป็นต้น โดยจะมีชื่อบนฉลากอาหารว่า “กรดไขมันชนิดทรานส์” หรือ “Hydrogenated Oil” หรือ “Partially Hydrogenated Oil”

เนื่องจากไขมันทรานส์ส่วนใหญ่ คือไขมันที่เกิดจากการแปรรูป จึงสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานโดยไม่เหม็นหืน ไม่เป็นไข และสามารถทนความร้อนได้สูง รวมถึงมีรสชาติที่ใกล้เคียงกับไขมันที่มาจากสัตว์ แต่จะมีราคาที่ถูกกว่า บรรดาผู้ประกอบกิจการอาหารต่าง ๆ จึงมักนิยมนำไขมันทรานส์มาใช้ประกอบอาหารมากมาย เช่น กลุ่มอาหารฟาสต์ฟู้ดซึ่งใช้เป็นน้ำมันสำหรับทอดไก่ มันฝรั่ง โดนัท หรือการนำมาใช้ในการประกอบกิจการเบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว ครีมเทียม และวิปปิ้งครีม เป็นต้น

อาหารที่พบว่ามีไขมันทรานส์ เช่น

  • คุกกี้ แครกเกอร์ เค้ก มัฟฟิน ขนมพาย พิซซ่า และขนมปัง เช่น แฮมเบอร์เกอร์
  • มาการีน และ เนยขาว (Vegetable shortening)
  • แป้งสำเร็จสำหรับทำเค้ก (Pre-mixed cake mixes) แป้งสำเร็จสำหรับทำแพนเค้ก (Pancake mixes) และเครื่องดี่มผสมช็อคโกแลตสำเร็จรูป (Chocolate drink mixes)
  • อาหารทอด ที่รวมถึง โดนัท เฟรนซ์ฟราย (French fries) นักเก็ตไก่ (Chicken nuggets) ขนมปังของชาวเม็กซิกัน (Hard taco shells)
  • อาหารขบเคี้ยว (Snack foods) รวมถึง มันฝรั่งทอดกรอบชนิดแผ่น (Potato chip) ลูกกวาด (Candy) และ ข้าวโพดคั่วถุง หรือ ข้าวโพดคั่วไมโครเวฟ (Packaged or microwave popcorn)
  • อาหารแช่แข็ง (Frozen dinners)

แหล่งข้อมูล:

  1. FDA ร้องรัฐสั่งห้ามใช้ไขมันทรานส์ทำอาหาร ลดเสี่ยงโรคหัวใจ. http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000139247&Keyword=%e2%c3%a4 [2013, December 4].
  2. FDA moves to take trans fat out of food. http://www.usatoday.com/story/news/nation/2013/11/07/fda-remove-trans-fat/3458465/ [2013, December 4].
  3. Trans fat. http://en.wikipedia.org/wiki/Trans_fat [2013, December 4].
  4. Understanding Trans Fats. http://www.webmd.com/food-recipes/understanding-trans-fats [2013, December 4].