ไขข้อข้องใจ 10 คำถามกับบัตรทอง การรักษาได้มาตรฐานจริงเหรอ!!!

อัมพาต  360 องศา

ผมขอพัก เรื่องอัมพาติ 360 องศาไว้ 1 ตอนนะครับ ขอแทรกเรื่องที่อยากคุยด้วย และจะช่วยให้ผู้อ่านที่ใช้สิทธิบัตรทอง เกิดความเข้าใจได้ถูกต้องและสบายใจ มั่นใจในการใช้บริการครับ

ขอเริ่มเรื่องบัตรทอง ดังนี้ครับ

เป็นที่ถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ด้วยสิทธิ์การรักษาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง เพราะต่างมีความเชื่อว่าการรักษาฟรีจะดีได้อย่างไร การรักษาที่ดีนั้นต้องแพง ต้องรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ๆเท่านั้น ผมได้มีโอกาสรักษาผู้ป่วยมาตั้งแต่จบเป็นหมอ ปี พศ. 2533 ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจนถึงปัจจุบัน ผมเห็นว่ายุคก่อนที่จะมีสิทธิ์บัตรทองนั้น ผู้ป่วยที่ไม่มีสิทธิ์การรักษาข้าราชการ หรือประกันสังคม เมื่อมารับการรักษาแต่ละรายนั้นจะกังวลใจว่าค่ายาจะแพงหรือเปล่า มีเงินจ่ายค่ายาพอหรือไม่ ถึงกับบางรายต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อการรักษาพยาบาล ถ้าไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลจริงๆ ก็จะถูกแนะนำให้พบนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อขอผ่อนผัน หรือสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งคนไข้ส่วนมากก็ไม่ค่อยมีความกังวลว่าจะได้รับการรักษาแตกต่างกับคนที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง หรือข้าราชการ (จากประสบการณ์ตรงนะครับ ซึ่งอาจแตกต่างกับหมอท่านอื่นๆก็ได้) แต่พอมาช่วงหลังๆ ของการใช้สิทธิ์ 30 บาทรักษาทุกโรคนี้ กลับกลายว่าคนส่วนใหญ่กังวลมากว่าจะได้รับการรักษาไม่ดี จะได้รับการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน ถ้าปวดหัวมีไข้มา ก็ได้แต่ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผมจึงอยากเล่าเพื่อไขข้อข้องใจให้ผู้อ่านเป็นข้อๆ ดังนี้

คำถามที่ 1 : การรักษาด้วยสิทธิ์บัตรทองได้มาตรฐานหรือไม่?

คำตอบที่ 1 : การรักษาด้วยสิทธิ์บัตรทองได้มาตรฐานครับ เพราะแนวทางการรักษาที่นำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยนั้น ได้มีการทบทวนจากหลักฐานทางการแพทย์เป็นอย่างดี โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ จึงไม่ต้องเป็นห่วงว่าการรักษานั้นได้มาตรฐานหรือไม่

คำถามที่ 2 : แต่ก็ยังสงสัยอยู่ดีว่าทำไมไปรักษาตามสิทธิ์การรักษาที่ใช้บัตรทอง ทำไมไม่หาย?

คำตอบที่ 2 : การที่ผลการรักษาไม่หายนั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ได้แก่ การวินิจฉัยโรค ซึ่งการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องนั้นต้องอาศัยข้อมูลจากการเจ็บป่วย การตรวจร่างกายที่ดี และการส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การเอกซเรย์ การตรวจคอมพิวเตอร์ รวมทั้งแพทย์ผู้ให้การวินิจฉัย การรักษาตามแนวทางที่แพทย์กำหนด เพราะส่วนหนึ่งของผู้ป่วยอาจไม่ทำตามวิธีการรักษาที่แพทย์แนะนำ ทานยาไม่ครบ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ที่ผมกล่าวมานี้ไม่ได้เกี่ยวกับการใช้สิทธิ์บัตรทองเลย เพราะการตรวจต่างๆ นั้นอยู่ในสิทธิ์การรักษาของผู้ป่วยบัตรทองทั้งหมด แต่ก็จะมีข้อจำกัดบ้างในผู้ป่วยบัตรทอง เพราะการส่งตรวจบางชนิดนั้นต้องส่งตรวจมาที่โรงพยาบาลระดับที่สูงขึ้น ดังนั้นทางโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตามสิทธิ์การรักษาบัตรทองนั้น จำเป็นต้องส่งตัวมารับการตรวจเพิ่มเติม ซึ่งต้องใช้เวลาและการทำเอกสารต่างๆ ตามขั้นตอนของการส่งตัวเพื่อมารับการรักษาต่อในโรงพยาบาลที่มีความสามารถสูงขึ้น ซึ่งผู้ป่วยอาจเห็นว่ามีความล่าช้า เกิดความไม่พอใจ ส่งผลให้เกิดกรณีร้องเรียนขึ้นมาเป็นระยะๆ

คำถามที่ 3 : แล้วทำไมเมื่อรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลจังหวัดด้วยสิทธิ์บัตรทองแต่ยังไม่หาย อยากมารักษาที่โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ แต่แพทย์ก็ไม่ส่งตัวมา กลับส่งต่อไปที่โรงพยาบาลที่ไม่ต้องการไปแทน ทำไมไม่ทำตามที่ผู้ป่วยต้องการ?

คำตอบที่ 3 : ข้อนี้ต้องขอเล่าโดยละเอียด คือ การรักษาในกรณีที่ไม่เป็นกรณีฉุกเฉิน (ตามคำจำกัดความของการแพทย์นะครับ) ระบบได้มีแนวทางที่ชัดเจนให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ใกล้บ้านที่สุด (ใกล้บ้าน ใกล้ใจ) สะดวก สบาย มีความคุ้นเคยกับสถานที่ การเดินทางก็ไม่มีค่าใช้จ่ายมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางมารักษาไกลๆ และถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์ก็จะส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลจังหวัด และถ้าไม่ดีขึ้นอีก ก็จะส่งต่อมายังโรงพยาบาลศูนย์ที่มีแพทย์และเครื่องมือครบถ้วน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ ทุกๆประชากร 5 ล้านคนจะมีการแบ่งเขตการบริการด้านสุขภาพ และมีโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีความพร้อมตามลำดับขั้นที่ผมเล่ามาแล้ว แต่ถ้ายังไม่หายหรือมีความพร้อมไม่พอ แพทย์ก็จะส่งต่อมายังโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์หรือศูนย์รักษาเฉพาะโรคอีกครั้ง ดังนั้นแพทย์ทำตามระบบการบริการที่เป็นมาตรฐานของประเทศไทยและมาตรฐานนานาชาติครับ ส่วนข้าราชการนั้น เนื่องจากระบบไม่ได้มีการกำหนดให้เข้ารับบริการเป็นลำดับขั้นเหมือนบัตรทองหรือประกันสังคม ผู้ป่วยจึงสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามความต้องการ ถามผมว่าดีหรือไม่ คำตอบก็แล้วแต่จะตอบครับ ถ้าดีคือสามารถทำตามที่ใจตนต้องการได้ แต่ข้อเสียคือ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย การเดินทางไกล รอคิวนาน แต่ก็อย่างว่า ต่างจิตต่างใจครับ

คำถามที่ 4: ตรงนี้เองที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความไม่สบายใจหรือไม่ไว้ใจว่าทำไมไม่ส่งมารักษาที่โรงพยาบาลระดับใหญ่ๆตั้งแต่ต้น หรือไม่อนุญาตให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ๆตั้งแต่ต้น?

คำตอบที่ 4 : ก็เพราะว่าระบบต้องการให้มีการรักษาที่ใกล้บ้านครับ ด้วยเหตุผลข้างต้น และลดการแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จะได้เป็นการเพิ่มคุณภาพในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลทุกระดับ ก่อให้เกิดการรักษาตามความรุนแรงของโรค ให้เป็นไปตามความสามารถ ความพร้อมของโรงพยาบาลแต่ระดับ ซึ่งผมก็เห็นด้วยครับว่า ถ้าเราเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยก็ดูแลตนเอง ถ้าไม่ดีก็พบแพทย์ที่ใกล้บ้าน ถ้าเป็นหนักฉุกเฉินก็เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุดก่อน จนปลอดภัยและถ้าเกินความสามารถของโรงพยาบาลใกล้บ้านก็จะส่งต่อมายังโรงพยาบาลที่มีความสามารถสูงกว่า ซึ่งระบบแบบนี้ก็ใช้กันในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น ผมเองยังเห็นว่าระบบราชการของเรา เป็นการเอื้ออำนวยหรือตามใจผู้ป่วยมากเกินไป ก่อให้เกิดความบิดเบี้ยวของระบบสุขภาพที่ควรจะเป็นไป

คำถามที่ 5 : ทำไมแพทย์ไม่ยอมส่งตรวจเอ็มอาร์ไอ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เห็นเป็นบัตรทองต้องการประหยัดเงินหรือเปล่า?

คำตอบที่ 5 : ประเด็นนี้ขออธิบายว่า ก็ไม่เกี่ยวกับสิทธิ์บัตรทองโดยตรง เพราะการตรวจเกือบทั้งหมดที่มีในโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดและโรงพยาบาลศูนย์ ผมว่าอยู่ในสิทธิ์การรักษาทั้งสิ้น การส่งตรวจใดๆนั้น ผมว่าแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึงเรื่องสิทธิ์การรักษา แพทย์จะมีแนวทางการส่งตรวจที่เป็นลำดับขั้น ตามความจำเป็น ตามความเร่งด่วน ตามความแม่นยำ และความพร้อมของการตรวจนั้นๆ ด้วย

แนวทางการส่งตรวจในโรคต่างๆ ก็ไม่มีการกำหนดแยกตามสิทธิ์การรักษา แต่อาจเป็นเพราะความไม่พร้อมของโรงพยาบาลหรือแพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่จำเป็น ไม่เหมาะสมมากกว่าที่จะเป็นเพราะบัตรทอง

สิ่งที่ผมเห็นอยู่ตอนนี้คือเห็นว่ามีการตรวจเพิ่มเติมมากเกินความจำเป็นมากๆ เป็นปัญหามากกว่าการส่งตรวจน้อยอีกครับ ซึ่งทำให้เกิดความสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก

คำตอบที่ 6 : ประเด็นนี้ยิ่งไม่เกี่ยวกับสิทธิ์บัตรทองเลยครับ ผมขอยืนยัน ไม่ว่าท่านไปโรงพยาบาลของรัฐไหนๆในประเทศไทยก็ไม่มีการแบ่งแยกหมอผู้ให้บริการครับ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยประกันสังคมอาจมีการกำหนดหน้าที่ของหมอแต่ละคนในแต่ละวันที่ออกตรวจ เพราะระบบของประกันสังคมจะมีแนวทางให้แต่ละโรงพยาบาลต้องมีระบบอำนวยความสะดวกและมีประสิทธิภาพให้ผู้ป่วยที่มีสิทธิ์ประกันสังคม จึงต้องมีคลินิกหรือระบบบริการพิเศษแยกออกจากผู้ป่วยทั่วไป ส่วนบัตรทองยืนยันว่าไม่มีการแบ่งแยกแน่นอน เพียงแต่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านท่านก็มักจะมีการเปลี่ยนหมุนเวียนหมอเป็นแบบนี้ทุกๆปี เพราะหมอก็ต้องมีการลาศึกษาพัฒนาความรู้ทุกๆปี และในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือแม้แต่โรงเรียนแพทย์ ผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้มีการส่งต่อมาไม่ว่าจะสิทธิ์การรักษาใดๆ ก็มีระบบให้ตรวจกับแพทย์ที่ห้องตรวจเวชปฏิบัติทั่วไป หรือหมอครอบครัว หรือแพทย์ที่กำลังฝึกฝนให้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และนำข้อมูลที่ได้ไปปรึกษาอาจารย์แพทย์หรือแพทย์อาวุโสอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับสิทธิ์บัตรทอง ย้ำว่าเป็นระบบการฝึกอบรมครับ

คำถามที่ 7 : จริงหรือไม่ที่ผู้ป่วยบัตรทองใช้ยาในประเทศ ผู้ป่วยสิทธิ์ข้าราชการใช้ยานอกอย่างดี?

คำตอบที่ 7 : คำถามนี้มีคำตอบ 2 คำตอบ คือจริงและไม่จริง ที่ว่าจริงคือแนวทางการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยทั่วๆไป ในสถานการณ์ปัจจุบัน จะกำหนดเป็นการใช้ยาชื่อสามัญ (generic) หรือที่นิยมเรียกว่ายาในประเทศเป็นยาขนานแรกก่อนเสมอ (generic first policy) เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ คือ ประมาณมากกว่า 90% สามารถใช้ยาชื่อสามัญได้ แต่ถ้าไม่ได้ผลก็ค่อยเปลี่ยนมาเป็นยาต้นแบบ (original) ซึ่งพบว่ามีความจำเป็นในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ที่ว่าจริงเพราะบางโรงพยาบาลไม่ให้มีการใช้ยาต้นแบบหรือที่เรียกยานอกในผู้ป่วยบัตรทอง แต่ผู้ป่วยสิทธิ์ข้าราชการสามารถเปลี่ยนจากยาชื่อสามัญเป็นยาต้นแบบได้ ถ้ารักษาด้วยยาชื่อสามัญแล้วไม่ได้ผล

ที่ว่าไม่จริงคือเกือบทุกโรงพยาบาลและนโยบายของประเทศมีความชัดเจนว่าต้องใช้ยาชื่อสามัญก่อนเสมอ เช่น ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยในไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์การรักษาใดๆ ก็ต้องใช้แนวทางนี้

ต้องย้ำว่าผลการรักษาด้วยยาชื่อสามัญกับยาต้นแบบนั้นไม่ได้มีความแตกต่างกัน ยกเว้นในยาบางชนิด เช่น ยากันชักอาจพบความแตกต่างในการรักษาในบางตัวยา

คำถามที่ 8 : สิทธิ์บัตรทองได้ยาจำนวนวันน้อยกว่าสิทธิ์ข้าราชการจริงหรือไม่?

คำตอบที่ 8 : จริงครับในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ เนื่องจากการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยนอก (ผู้ป่วยที่มารับการตรวจและให้กลับบ้าน ไม่ได้นอนโรงพยาบาล) ของผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทองนั้น ทางโรงพยาบาลจะได้ค่าตอบแทนเป็นอัตราเหมาจ่ายตามระดับของโรงพยาบาล โรงพยาบาลชุมชนก็ได้ค่ารักษาพยาบาลน้อยสุด โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ก็ได้สูงสุด แต่ไม่ได้ครบตามที่มีค่ารักษาพยาบาลจริง ด้วยเหตุนี้ทางโรงพยาบาลจึงได้มีแนวทางการจ่ายยาเป็นระยะเวลาที่แตกต่างกัน เช่น 4 สัปดาห์ 6 สัปดาห์เป็นต้น และจะสรุปรายการยาให้ผู้ป่วยไปรับยาต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้านตามสิทธิ์การรักษา แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยสิทธิ์ข้าราชการก็จะสั่งยาได้นานประมาณ 3 เดือน เนื่องจากโรงพยาบาลได้รับค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวนจริงจากกรมบัญชีกลาง ส่วนสิทธิ์ประกันสังคมก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่ก็เหมือนสิทธิ์บัตรทอง

คำถามที่ 9 : ผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทองต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมกรณีเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติจริงหรือไม่

คำตอบที่ 9 : คำตอบนี้ก็มีทั้งจริงและไม่จริง เพราะถ้าการรักษานั้นเป็นการรักษาที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลเสียรุนแรงนั้น ทางโรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็จะอนุญาตให้แพทย์ใช้การรักษานั้นได้ โดยไม่ได้เก็บค่ารักษาเพิ่มเติม เช่น การให้อัลบูมิน หรือยาฆ่าเชื้อที่รุนแรง การใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดสมองหรือหลอดเลือดหัวใจและให้การรักษาในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เป็นต้น ผมต้องบอกว่าแนวทางนี้ก็คล้ายกับทุกสิทธิ์ที่ต้องมีการจ่ายเพิ่มในบางกรณีเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามทุกโรงพยาบาลก็จะมีการสงเคราะห์กรณีที่ผู้ป่วยมีฐานะยากจนอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ป่วยก็ไม่น่าจะกังวลใจตรงประเด็นนี้มากนัก

คำถามที่ 10 : แล้วทำไมเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ต้องถามสิทธิ์การรักษา ต้องมีการตรวจสอบสิทธิ์การรักษาก่อนให้การตรวจรักษาเสมอ?

คำตอบที่ 10 : กรณีนี้ก็มีน่าสงสัยและสร้างความกังวลใจให้ผู้ป่วยเสมอว่าจะได้รับการรักษาไม่เหมือนกัน ผมขออ้างไปถึง 9 ข้อข้างต้นครับว่าสิทธิ์การรักษาบัตรทองและข้าราชการก็เกือบจะเหมือนกันทั้งหมด ยิ่งถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินแล้วการรักษาทุกอย่างเหมือนกันหมดครับไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิ์การรักษาใดๆ แพทย์ พยาบาลต้องรีบให้การรักษาเพื่อช่วยเหลือให้พ้นช่วงนาทีอันตรายนั้นก่อนเสมอ ไม่มีการคำนึงถึงสิทธิ์การรักษาใดๆ แต่ที่ต้องถามก็เป็นกรณีผู้ป่วยนอก ไม่ฉุกเฉิน ผู้ป่วยส่งต่อ ก็เพราะเป็นขั้นตอนมาตรฐานในการเริ่มทำเวชระเบียน ข้อมูลการเรียกเก็บ และเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกับฐานข้อมูลที่มีการขึ้นทะเบียนตามสิทธิ์การรักษาที่มีการจัดทำไว้ในระดับประเทศ เพราะการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลกับหน่วยงานที่จะต้องเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนคนไทยทุกคนนั้น จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลว่าสิทธิ์การรักษาตรงกันหรือไม่ เนื่องจากสิทธิ์การรักษาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น แต่เดิมผู้ป่วยใช้สิทธิ์บัตรทอง ต่อมาลูกได้เข้ารับราชการก็เปลี่ยนสิทธิ์พ่อแม่มาเป็นสิทธิ์ข้าราชการ จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการตรวจสอบสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนพบแพทย์ ไม่ต้องกังวลครับว่าการรักษาที่ท่านได้รับนั้นจะส่งผลต่อการรักษา

ข้อจำกัดของบทความนี้ คือ ผมเป็นแพทย์ที่โรงเรียนแพทย์เท่านั้น ไม่เคยทำงานที่โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลจังหวัด จึงมีโอกาสได้ให้การรักษาเฉพาะผู้ป่วยสิทธิ์ข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ และผู้ป่วยบัตรทองก็เป็นผู้ป่วยที่ได้มีการส่งต่อมาจากโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลศูนย์ จึงเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อน จำเป็นต้องได้รับการตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และได้รับการรักษากับทีมแพทย์ที่ประกอบด้วยแพทย์ผู้กำลังฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์แพทย์เฉพาะโรค

อย่างไรก็ตามผมยังมีความเชื่อมั่นในระบบการบริการของทุกโรงพยาบาลว่ามีแนวทางการบริการที่เป็นมาตรฐาน ผมอยากให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจในระบบสุขภาพของประเทศไทย ถึงแม้ผู้ป่วยบัตรทองจะมีข้อจำกัดในบางกรณี การเข้ารับบริการรักษาตามระบบจะมีความสะดวกสบายและประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายมากกว่าการเดินทางมารับการรักษาเฉพาะในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ เพราะจะทำให้เกิดความแออัด และส่งผลให้เกิดความไม่สะดวก เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งประสิทธิภาพ คุณภาพการรักษาก็ลดลง เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยเกินความสามารถของระบบบริการได้