“ไกลโฟเสท” วายร้ายคู่จีเอ็มโอ (ตอนที่ 2)

ไกลโฟเสทวายร้ายคู่จีเอ็มโอ

สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาชี้แจงว่า สารไกลโฟเสทเป็นสารปราบวัชพืชชนิดดูดซึมที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย สามารถตกค้างในพืชได้ และให้ข้อมูลจากองค์การไอซ่าว่า ถั่วเหลืองที่ดัดแปรพันธุกรรมแล้วมี 32 สายพันธุ์ ต้านสารไกลโฟเสท 16 สายพันธุ์

พร้อมทั้งแนะนำประชาชนว่า ก่อนซื้อควรสังเกตุฉลากอาหาร หากมีส่วนประกอบของถั่วเหลืองที่ดัดแปรพันธุกรรมในปริมาณตั้งแต่ร้อยละ 5 ของน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์นั้นจะแสดงข้อความกำกับว่า “อาหารดัดแปรพันธุกรรม”

อย่างไรก็ตาม กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ มีการตื่นตัวมานานแล้ว และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารปลอดภัย เพราะมีความเข้มแข็งในการปลูกพืชออร์แกนิค เช่น จังหวัดยโสธร ที่รัฐบาลประกาศให้เป็น “ออร์แกนิคซิตี้”

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังหาทางออกจากการปนเปื้อนห่วงโซ่อาหารที่ใหญ่ที่สุดอยู่นั้น ใครที่รับทราบข้อมูลนี้แล้วเกิดวิตกกังวลก็มีคำแนะนำว่า ระบบโครงสร้างร่างกายของเราแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ น้ำร้อยละ 60 ไขมันร้อยละ 20 และเซลล์ของร่างกายร้อยละ 20

ดังนั้น เมื่อร่างกายมีน้ำร้อยละ 60 ทำอย่างไรถึงจะรับน้ำดีๆ เข้าสู่ร่างกาย โดยทั่วไปแนะนำว่า ไม่ควรดื่มน้ำที่มีความเป็นกรดมากเกินไป เช่น เหล้า กาแฟ น้ำอัดลม เพราะจะเสียสมดุลและป่วยได้

ต่อมา ไขมันร้อยละ 20 หากใครไม่ต้องการใช้น้ำมันถั่วเหลืองที่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าแปรรูปจากถั่วเหลืองจีเอ็มโอหรือไม่ ก็สามารถใช้น้ำมันมะกอกปรุงอาหารประเภทที่ไม่ผ่านความร้อนได้ เช่น จิ้ม เหยาะ ราด ส่วนน้ำมันที่ใช้ผ่านความร้อน เช่น การผัดและทอด สามารถใช้น้ำมันรำข้าวได้ เพราะทนความร้อนได้ดีที่สุด ที่สำคัญควรกินปลาสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อให้ได้โอเมก้า 3 ด้วย จะถือเป็นการนำไขมันดีเข้าสู่ร่างกาย และกินยารักษาเซลล์ของร่างกาย เพียงแค่นี้ร่างกายก็แข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่ายๆ แล้ว

การเลือกกินอาหารปลอดภัยอยู่ที่ผู้บริโภคว่าจะเลือกแบบไหน ถึงแม้ว่าขณะนี้พืชออร์แกนิคจะมีราคาแพงกว่าพืชจีเอ็มโอ แต่เชื่อว่าหากเราเลือกกินกันเป็นกลุ่มใหญ่ ในอนาคตอุตสาหกรรมพืชออร์แกนิคจะบูมขึ้น และมีราคาถูกลง

ไกลโฟเสท (Glyphosate) เป็นสารกำจัดวัชพืชที่ใช้ในวงกว้าง (Broad-spectrum herbicide) ฆ่าวัชพืชได้ทุกชนิดโดยไม่เลือก (Non-selective systemic herbicide) เกลือโซเดียมในไกลโฟเสทใช้สำหรับควบคุมการเจริญเติบโตของต้นและผล ด้วยการป้องกันไม่ให้พืชสร้างโปรตีนที่มีผลต่อการเจริญเติบโต หยุดยั้งวิถีของกรดชิคิมิก (Shikimic acid pathway) ที่จำเป็นต่อพืชและจุลินทรีย์ (Microorganisms)

ไกลโฟเสทได้รับการจดทะเบียนครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2517 โดย บริษัทมอนซานโต้ ในชื่อการค้า “ราวด์อัพ” (Roundup) ในปัจจุบันมอนซานโตได้พัฒนาพืชผลที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมให้สามารถทนทานต่อไกลโฟเสต เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด ถั่วอัลฟัลฟา ข้าวฟ่าง คาโนลา ทำให้สามารถฉีดพ่นไกลโฟเสตเพื่อทำลายวัชพืชโดยไม่ทำลายพืชผล เพิ่มความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการจัดการ นับเป็นสารกำจัดวัชพืชที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา มีการใช้กันในการเพาะปลูก การทำป่าไม้ การตกแต่งสวนหย่อม สนามหญ้า และการกำจัดวัชพืชในเขตอุตสาหกรรม

แหล่งข้อมูล

1. เตือน “ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ” พบสารตกค้างก่อโรคร้าย. http://www.dailynews.co.th/article/394674 [2016, June 26].

2. Glyphosate. http://npic.orst.edu/factsheets/glyphogen.html [2016, June 26].

3. Glyphosate. http://pmep.cce.cornell.edu/profiles/extoxnet/dienochlor-glyphosate/glyphosate-ext.html [2016, June 26].