ไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก (Glycopeptide antibiotic)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก (Glycopeptide antibiotic) เป็นยาปฏิชีวนะที่มีโครงสร้างโมเลกุลใหญ่และมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Glycosylated cyclic ตัวยากลุ่มแรกสกัดได้จากจุลินทรีย์ที่อยู่ดินและต้นพืช มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรียด้วยกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยากลุ่มนี้ เช่น แบคทีเรียชนิดแกรมบวกกลุ่มคอคไค(Gram-positive cocci) รวมถึงแบคทีเรียจำพวก Methicillin-resistant Staphylococcus aureus ที่ดื้อต่อยา Methicillin, Amoxicillin ,Penicillin, และ Oxacillin ทางคลินิกจึงนำมาใช้รักษารักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกายมนุษย์ เช่น การติดเชื้อที่ผิวหนัง การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ(เยื่อบุหัวใจอักเสบ) การติดเชื้อที่กระดูก(กระดูกอักเสบ) การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง(เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) การติดเชื้อที่ลำไส้เล็ก(ลำไส้อักเสบ) รวมถึงการนำมาใช้เป็นยาเคมีบำบัดในการ รักษาโรคมะเร็งได้หลายชนิด

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก ส่วนมากจะเป็นแบบยาฉีด และมีส่วนน้อยที่เป็นยารับประทาน ผู้ป่วยที่ได้รับการสั่งจ่ายยากลุ่มนี้จะต้อง

จากโครงสร้างโมเลกุลทำให้ตัวยาในกลุ่มไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก เป็นยาที่ถูกทำลายได้ค่อนข้างยาก ส่วนมากจะถูกกำจัดทิ้งโดยผ่านการกรองทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ ดังนั้นการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต แพทย์มีความจำเป็นต้องปรับขนาดยาที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงที่สุดแต่ก่อให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)น้อยที่สุดเช่นเดียวกัน

ไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกประกอบไปด้วยตัวยาอะไรบ้าง?

ไกลโคเปปไทด์แอนติไบโอติก

ยากลุ่มยาไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกที่นำมาใช้ทางคลินิกสามารถจำแนกได้ดังนี้

ก. ไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก รุ่นที่ 1(Glycopeptide antibiotic first generation): ประกอบด้วยตัวยา

1. Vancomycin: ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1953 (พ.ศ.2496) ผลิตจากแบคทีเรียที่อาศัยในดินที่มีชื่อว่า Amycolatopsis orientalis ใช้รักษาการติดเชื้อตามอวัยวะของร่างกายได้หลากหลาย การจำหน่ายมีทั้งลักษณะของยาฉีดและยารับประทาน ตัวยา Vancomycin ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยซึ่งจะพบเห็นการใช้ในสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ

2. Teicoplanin: ผลิตจากกระบวนการหมักด้วยเชื้อแบคทีเรีย Actinoplanes teichomyceticus เป็นยาที่มีฤทธิ์และข้อบ่งใช้คล้ายกับยา Vancomycin รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดเท่านั้น ยานี้สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่พบเห็นได้บ่อย เช่น เกิดผื่นคัน มีไข้ และปวดตามร่างกาย จัดเป็นยาอันตรายที่ใช้เฉพาะในสถานพยาบาล และมีจำหน่ายในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า Targocid

3. Ramoplanin: เป็นยาที่มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและไม่มีความคงตัวเท่าใดนักเมื่อเข้าสู่กระแสเลือด รูปแบบยาเตรียมจึงเป็นยาประเภทรับประทานที่ใช้ต่อต้านการติดเชื้อในทางเดินอาหาร(โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร)ที่มีสาเหตุจากแบคทีเรีย Clostridium difficile เท่านั้น แต่ปัจจุบันยังไม่พบเห็นการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าใด

4. Bleomycin: สกัดแยกได้จากแบคทีเรียที่ชื่อว่า Streptomyces verticillus ทางคลินิก นำมาใช้เป็นยาเคมีบำบัด ใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน มะเร็งอัณฑะ มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งชนิดอื่นๆ รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด และอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยโดยอยู่ในกลุ่มยาอันตราย สามารถพบเห็นการใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น

ข. ไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก รุ่นที่ 2 (Glycopeptide antibiotic second generation): หรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Lipoglycopeptide antibiotic ด้วยโครงสร้างโมเลกุลมีหมู่ไขมันเข้ามาเป็นส่วนประกอบกับสายไกลโคเปไทด์ (Glycopeptide) จึงทำให้เกิดความโดดเด่นแตกต่างจากไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก รุ่นที่ 1 ตัวยาของกลุ่มนี้ประกอบด้วย

1. Oritavancin: ถูกขึ้นทะเบียนครั้งแรกในปี ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด และมีวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Orbactiv

2. Dalbavancin: ผ่านการขึ้นทะเบียนเมื่อปี ค.ศ.2014(พ.ศ.2557) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาการติดเชื้อทางผิวหนังในระดับความรุนแรงที่ซับซ้อน และสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Dalvance และ Xydalba

3. Telavancin: ผ่านการขึ้นทะเบียนเมื่อปี ค.ศ.2009(พ.ศ.2552) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาการติดเชื้อทางผิวหนังในระดับความรุนแรงที่ซับซ้อน อีก 4 ปีต่อมาทางการแพทย์ได้ค้นพบว่า ยานี้สามารถบำบัดอาการปอดอักเสบจากการติดเชื้อในสถาน พยาบาลหรือติดเชื้อผ่านจากเครื่องช่วยหายใจ ยาTelavancin มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็น ยาฉีดและวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Vibativ

ไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกสามารถสร้างผลข้างเคียงต่อร่างกายได้อย่างไร?

อาจสรุปภาพรวมของผลข้างเคียง(อาการข้างเคียง/ผลไม่พึงประสงค์จากยา/อาการไม่พึงประสงค์จากยา)ที่เกิดต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายจากการใช้ยากลุ่ม ไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น/ ตับอักเสบ
  • ผลต่อไต: เช่น อาจเกิดภาวะไตวาย ค่าCreatinine ในเลือดเพิ่มขึ้น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดโลหิตจาง เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำหรือภาวะเกล็ดเลือดสูง มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซีโนฟิล(Eosinophil)เพิ่มสูง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง Q wave ถึง T wave ยาวนานขึ้น มีภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็เร็ว หัวใจล้มเหลว ชีพจรเต้นผิดปกติ ใบหน้าแดง ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก เกิดการติดเชื้อในลำไส้ใหญ่/ลำไส้ใหญ่อักเสบ(Clostridium colitis) ปวดท้อง ปากแห้ง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เกิดภาวะหย่อน/ลดการรับรู้ร้อน-เย็นในปาก สะอึก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป ปวดศีรษะ วิงเวียน ไมเกรน เกิดความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ง่วงนอน ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะเป็นฟอง โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะกระปริดกระปรอย กลิ่นปัสสาวะผิดปกติ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ใบหน้าบวม มีลมพิษ มีภาวะเหงื่อออกมาก
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำตาลในเลือดสูงหรือไม่ก็ต่ำ เกลือโปแตสเซียมในเลือดสูงหรือไม่ก็ต่ำ ระดับเกลือแมกนีเซียมในเลือดลดลง
  • ผลต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ ปวดหลัง กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
  • ผลต่อตา: เช่น ตาระคายเคือง ตาพร่า
  • ผลต่อจิตประสาท: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน มีอาการซึม
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก คัดจมูก ปวดบริเวณคอหอยหรือกล่องเสียง

การจะเลือกใช้ไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีหลักเกณฑ์อย่างไร?

อาจสรุปเกณฑ์การเลือกใช้ยาในกลุ่มไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกเพื่อรักษาโรคโดยยึดจากเหตุผลต่างๆ ดังนี้

  • อาการโรคที่ไม่สามารถใช้ยาอื่นรักษาได้ ประกอบกับเป็นเชื้อที่ก่อโรคมีการตอบสนองต่อยาในกลุ่มไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก
  • โรคหลายประเภทที่ไม่สามารถใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งรักษาได้ จะต้องใช้ยาอื่นมา ประกอบการรักษา และไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกเป็นหนึ่งในกลุ่มยาดังกล่าว
  • ด้วยกลไกการกระจายตัวยาในร่างกาย เช่น สามารถแทรกซึมผ่านชั้นไขมันหรือเป็นยาละลายน้ำได้ดี ส่งผ่านไปตามกระแสเลือดได้ง่าย และเข้าทำลายเชื้อโรคได้ ตามวัตถุประสงค์ จึงถือเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่แพทย์นำมาใช้รักษากับผู้ป่วย
  • ประวัติการเจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ยากลุ่มนี้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เอื้อต่อการใช้ยาไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกได้เช่นกัน
  • ความสามารถในการเข้าถึงของประชาชน เช่น ตัวยามีราคาไม่แพงจนเกินไป และองค์การอนามัยโลกรับรองให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐาน เป็นเหตุผลสนับสนุน ให้แพทย์หันมาเลือกใช้ตัวยานั้นๆ

ทั้งนี้ ความปลอดภัยในการใช้ยาใดๆก็ตามรวมถึงยาไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะคัดเลือกตัวยาที่มีความเหมาะสม และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย และหากผู้ป่วยมีข้อซักถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาหรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Glycopeptide_antibiotic#Use [2018,April7]
  2. https://www.cancer.gov/publications/dictionaries/cancer-drug/def/glycopeptide-antibiotic [2018,April7]
  3. https://www.sciencedirect.com/topics/neuroscience/glycopeptide-antibiotic [2018,April7]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Vancomycin#History [2018,April7]
  5. https://www.drugs.com/uk/teicoplanin-100-mg-powder-and-solvent-for-solution-for-injection-infusion-or-oral-solution-leaflet.html [2018,April7]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/targocid/?type=brief [2018,April7]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Ramoplanin [2018,April7]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Oritavancin [2018,April7]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Dalbavancin [2018,April7]
  10. https://www.drugs.com/sfx/telavancin-side-effects.html [2018,April7]
  11. https://www.medicalnewstoday.com/articles/10634.php [2018,April7]
  12. http://www.mims.com/thailand/drug/info/vancomycin/?type=brief&mtype=generic [2018,April7]