ใบกระท่อม กระท่อม (Kratom or Mitragynine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กระท่อม(Kratom) เป็นพืชยืนต้นชนิดหนึ่ง มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 10-15 เมตร ใบคล้ายใบกระดังงาโดยแผ่นใบกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร ก้านใบมีทั้งชนิดที่เป็นสีแดง หรือสีเขียว ในประเทศไทยพบมากในป่าธรรมชาติในจังหวัดทางภาคใต้ทุกจังหวัด ที่รวมไปถึงในประเทศมาเลเซียเขตพื้นที่ที่ติดต่อกับประเทศไทย ในภาคกลางพบมากที่จังหวัด ปทุมธานี ตามกฎหมายไทยจัดให้กระท่อมอยู่ในกลุ่มยาเสพติดประเภทที่ 5 ใบของต้นกระท่อมจะมีสารออกฤทธิ์ประเภทอัลคาลอยด์(Alkaloid)ที่เป็นสาร/ยาเสพติดมีชื่อว่า “ไมทราไจนีน (Mitragynine หรือ 7-Hydroxymitragynine)” อยู่ประมาณ 1–6%

นักวิทยาศาสตร์พบว่า สารไมทราไจนีน มีฤทธิ์กระตุ้นสมอง ทำให้อารมณ์ดี ผ่อนคลาย และช่วยบรรเทาอาการปวด เท่าที่ผู้เขียนเคยทราบผู้ที่เคี้ยวใบกระท่อมจะสามารถทำงานอยู่ได้นาน ทนแดดได้ดี แต่ไม่ทนฝน ทางเภสัชวิทยาพบว่าไมทราไจนีนเป็นอัลคาลอยด์ที่ออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ในสมองที่มีชื่อว่า Opioid receptor หรือจะกล่าวได้ว่า ไมทราไจนีนเป็นสารประเภทโอปิออยด์อะโกนิสต์(Opioid agonist, สารออกฤทธิ์เหมือนฝิ่น/สาร Opioid)ตัวหนึ่ง ประเทศแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้จะบริโภคใบกระท่อมเพื่อทำให้รู้สึกมีความสุข ขณะที่ทางประเทศ แถบซีกโลกตะวันตกจะสกัดใบกระท่อมเพื่อให้ได้สารบริสุทธิ์แล้วนำมาใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวด/ยาแก้ปวด, บำบัดอาการถอนยาเสพติด, การบริโภคกระท่อมมีหลายช่องทาง อาทิเช่น เคี้ยวใบสด ตากใบให้แห้งแล้วนำมาสูบแทนบุหรี่ บดใบเป็นผงแล้วนำมาบรรจุแคปซูล หรืออัดเป็นยาเม็ดสำหรับรับประทาน นำใบกระท่อมมาชงเป็นชารับประทาน หรือสกัดเอาสารสำคัญออกมา

การรับประทานกระท่อมในขนาดต่ำพบว่า ทำให้เพิ่มกำลัง มีความตื่นตัว แต่หากรับประทานในขนาดสูงกลับมีผลทำให้สงบประสาท/กดการทำงานของประสาทส่วนกลาง การบริโภคกระท่อมบ่อยๆสามารถทำให้เกิดอาการเสพติดได้ และเกิดฤทธิ์หลอนประสาท/ประสาทหลอน รวมถึงมีความรู้สึกสับสน เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด นอนไม่หลับ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย และท้องผูก

ประเทศไทยห้ามประชาชนทั่วไปปลูกต้นกระท่อม และเสพใบกระท่อม ด้วยกฎหมายไทยระบุให้กระท่อมเป็นพืชที่มีฤทธิ์เสพติด ปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกของการใช้ยาแผนปัจจุบันได้อย่างมากมาย และไม่จำเป็นต้องพึ่งการใช้ใบกระท่อมในการบรรเทาปวดซึ่งมีความยุ่งยากต่อการสรรหาทั้งมีฤทธิ์เป็นยาเสพติด ที่ผิดกฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อผู้ที่มีไว้ครอบครอง

กระท่อมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ใบกระท่อม

ใบกระท่อมมีสารอัลคาลอยด์(Alkaloid)มากกว่า 20 ชนิดขึ้นไป ตัวอัลคาลอยด์ที่โดดเด่นอย่างสารไมทราไจนีน (Mitragynine) สามารถบำบัดอาการปวดของร่างกาย อาการท้องเสีย และใช้บำบัดอาการถอนยาของผู้ที่ติดยาเสพติด

กระท่อมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของสารอัลคาลอยด์ในใบกระท่อมคือ สารนี้จะออกฤทธิ์ในบริเวณตัวรับที่เรียกว่า Opioid receptor ในสมอง ก่อให้เกิดฤทธิ์ในลักษณะของ Opioid agonist(ฤทธิ์เหมือนฝิ่น/ยา/สาร Opioid) ส่งผลลดอาการเจ็บปวด ทำให้รู้สึกสบาย และมีกำลัง

กระท่อมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในประเทศไทยมีกฏหมายห้าม ซื้อ/ขาย/จำหน่ายกะท่อม แต่พบเห็นการจัดจำหน่าย”ภายใต้การควบคุมของกฎหมายในแถบอเมริกาและยุโรป” โดยมีการจำหน่ายทั้ง ใบสด ใบที่บดเป็นผง ผสมในหมากฝรั่ง บดเป็นผงละเอียดบรรจุแคปซูลหรือตอกอัดเป็นยาเม็ด

กระท่อมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ในประเทศไทย การจำหน่าย มีไว้ในครอบครอง และการบริโภคกระท่อมจัดว่า “ผิดกฏหมาย” แต่ในต่างประเทศที่มีกฏหมายรองรับการใช้กระท่อมเป็นยาบรรเทาปวด หรือ ใช้บำบัดอาการของผู้ที่ติดยาเสพติดโดยการใช้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาอย่างใกล้ชิด กระท่อมจะมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานใบกระท่อมคิดเป็นน้ำหนัก 1–5 กรัม จะกระตุ้นให้ร่างกายสดชื่น มีแรง หากรับประทาน 5–15 กรัม จะทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม กรณีรับประทานมากกว่า 15 กรัมขึ้นไป จะก่อให้เกิดฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง
  • เด็ก: ห้ามใช้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดรับประทานที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น การออกฤทธิ์มาก-น้อยขึ้นอยู่กับปริมาณสาระสำคัญในใบกระท่อมที่มีความแตกต่างจากพื้นที่เพาะปลูก

กระท่อมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การรับประทานใบกระท่อมน้ำหนัก 5–15 กรัม ผู้บริโภค/ผู้ป่วยอาจได้รับผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่างๆดังนี้ เช่น เกิดฤทธิ์สงบประสาท/กดประสาทส่วนกลาง คลื่นไส้ เหงื่อออกมาก ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร เกิดผื่นคันตามผิวหนัง มีอาการท้องผูก วิงเวียน และรู้สึกสับสน

มีข้อควรระวังการใช้กระท่อมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้กระท่อม เช่น

  • ในประเทศไทย การบริโภคกระท่อม ถือว่าผิดกฏหมาย แต่ในต่างประเทศที่มีกฏหมายควบคุมการใช้กระทอม จะห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะป่วยทางจิตประสาท ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง ผู้ที่มีภาวะท้องผูก ผู้ที่มีอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะอุดตัน
  • ห้ามใช้ใบกระท่อมไม่ว่าจะเป็นการทดลองรับประทาน การมีไว้ครอบครอง การแจกจ่ายแบ่งปันให้ผู้อื่นรับประทานซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของแพทย์
  • การรับประทานกระท่อมผิดวิธี ผิดขนาด อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อร่างกายตามมา เคยมีรายงานว่า มีผู้ป่วยเสียชีวิตเนื่องจากบริโภคใบกระท่อม เกินขนาด
  • ปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องยาเสพติดอย่างเคร่งครัด ไม่เสพ ไม่ค้า ไม่สนับสนุน หรือยุ่งเกี่ยวพัวพันและไม่ทดลองใช้สาร/ยาเสพติด

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาจากกระท่อมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑฺเสริมอาหารและสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ควรเก็บรักษากระท่อมอย่างไร?

ประเทศไทย การบริโภค การมีไว้ในครอบครอง และการจำหน่ายกระท่อม “เป็นการผิดกฏหมาย” ในต่างประเทศที่มีกฏหมายควบคุมการใช้สารนี้ จะมีการจัดเก็บผลิตภัณฑ์กระท่อมที่นำมาใช้ทางคลินิก เช่น เก็บภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ

กระท่อมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ประเทศไทย การบริโภค การมีไว้ในครอบครอง และการจำหน่าย กระท่อม “เป็นการผิดกฏหมาย” แต่ในต่างประเทศที่มีกฏหมายควบคุมการใช้กระท่อมเป็นยา ยาชื่อการค้าที่พบเห็นในต่างประเทศนั้นๆ เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
KRATOM (กระท่อม)EDEN’s ETHNOS

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Mitragynine [2017,Jan28]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Opioid_receptor [2017,Jan28]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25262913 [2017,Jan28]
  4. https://www.drugs.com/illicit/kratom.html [2017,Jan28]
  5. https://www.dea.gov/pr/multimedia-library/publications/drug_of_abuse.pdf#page=84 [2017,Jan28]
  6. http://swflherbals.com/kratom-brands-fort-myers/ [2017,Jan28]
  7. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-1513-kratom.aspx?activeingredientid=1513&activeingredientname=kratom [2017,Jan28]
  8. http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/?p=2539 [2017,Jan28]